สสส. ร่วมกับรัฐสภา และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์ฯ สร้างสุขภาวะองค์กรปีที่ 5 ย้ำความสุขคนทำงานต้องควบคู่กายใจ พร้อมส่งต่อความยั่งยืนในสังคม
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า พันธกิจหลักของ สสส. ในฐานะองค์กรมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนสุขภาวะที่ดี ทั้ง 4 ด้าน คือ ร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม โดยเฉพาะภายในสถานที่ทำงาน ด้วยพบว่าคนส่วนใหญ่ต่างใช้เวลามากกว่า 50% ของแต่ละวันในสถานที่ทำงาน โดย สสส. มีแผนดำเนินงานเพื่อสร้างสุขภาวะองค์กรที่ดีในทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มบุคลากรต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งเสริมด้านสุขภาพ
ทั้งนี้ สสส. ร่วมกับสำนักบริการทางการแพทย์ประจำรัฐสภา และสำนักวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการพัฒนาองค์กรสุขภาวะต้นแบบ: การสร้างเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานบุคลากร ในวงงานรัฐสภา ด้วยตระหนักถึงความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะองค์กรที่ดี โดยเฉพาะเพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันความสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ หรือภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐาน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้พัฒนาสื่อด้านสุขภาพ เพื่อใช้เป็นคู่มือเพื่อนำไปปฏิบัติด้านสุขภาวะ และสอดล้องกับสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ปัจจุบันที่ทาง สสส. ร่วมกับกรมอนามัย และกระทรวงสาธารณสุข ให้กับกลุ่มเป้าหมายหลัก บุคลากรในวงงานรัฐสภา จำนวนกว่า 3,000 รายและกลุ่มเป้าหมายรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสื่อมวลชนอีกจำนวนหนึ่ง
ดึงผลสำรวจแก้ไขโรคเรื้อรังในบุคคลากร
นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กิจกรรมฯ ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ในระยะ (เฟส) ที่ 3 โดยจัดทำโครงการพัฒนาองค์กร สุขภาวะต้นแบบ: การสร้างเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานบุคลากร ในวงงานรัฐสภา ภายใต้สำนักบริการทางการแพทย์ประจำรัฐสภา มีเป้าหมายเพื่อให้บุคลากรมีสุขภาพที่ดี สามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยได้ผลลัพธ์คือ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรสุขภาวะ
โดยสำนักบริการทางการแพทย์ประจำรัฐสภา ร่วมกับ สสส. จัดทำโครงการพัฒนาองค์กรสุขภาวะต้นแบบฯ โดยอิงจากผลการสำรวจข้อมูลสุขภาพบุคลากรในวงงานรัฐสภาพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาสุขภาพ มีสาเหตุหลักจากพฤติกรรมสุขภาพ ขาดการใส่ใจดูแลควบคุมป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งหากได้รับความรู้เกี่ยวกับแนวทางการดูแลสุขภาพ ทั้งทางร่างกายและจิตใจที่ถูกต้องเหมาะสม จะเป็นการป้องกันกลุ่มเสี่ยงให้กลับไปสู่กลุ่มปกติได้
ส่งต่อสร้างสุขภาวะองค์กรยั่งยืน
ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีทื่ 5 หลังจากบรรลุวัตถุประสงค์ และเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ต่อการสร้างสุขภาวะองค์กรในบุคคลากรวงในวงงานรัฐสภา โดยอิงจากปัจจัยผลสำรวจทางสุขภาพของบุคคลากร ที่พบว่าส่วนใหญ่ประสบปัญหาจากความเครียดในการทำงานสะสม และสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคไม่เหมาะสม ทำให้นำไปสู่ภาวะการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs รวมถึงโรคแพร่ระบาดในปัจจุบัน อย่างโควิด -19 ด้วยเช่นกัน
สำหรับเป้าหมายกิจกรรมฯดังกล่าวจากนี้ไป นอกเหนือจากการสร้างบุคคลต้นแบบนักสร้างสุของค์กรได้เป็นไปตามแผนแล้ว ขณะเดียวกันยังจะสามารถขยายผลต่อไปในเชิงนโยบายของภาครัฐไปด้วยพร้อมกัน ผ่านกิจกรรมต้นแบบการสร้างสุขภาวะองค์กรบุคคลากรในวงงานรัฐสภา ที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้การสร้างสุขทั้งกายและใจต่อไปยังคนรอบข้างต่อไปได้อย่างยั่งยืน และเป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของ สสส. ในการรณรงค์ให้คนไทยมีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งกายและใจ
ที่มา: สสส.