สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้ส่งมอบหนังสือเล่มหนึ่งให้กับหลานชายวัยรุ่น เป็นหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี 1999 มีชื่อว่า “The Lugano Report” เขียนโดย ซูซาน จอร์จ เป็นการส่งต่อความรู้ที่ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยได้จากหนังสือเล่มนี้ให้กับหนุ่มน้อยในวัย 15 ปีที่เกิดไม่ทันการพิมพ์ครั้งแรก แต่ความสนใจของเจ้าตัวที่ชอบอ่านเรื่องราวในโลกทุนนิยม ทำให้ผู้เขียนตามหาหนังสือเล่มนี้มาให้ เพราะอยากให้บางช่วงบางตอนของหนังสือเล่มนี้ผ่านเข้าไปในความคิดของเด็กในวัยที่กำลังค้นหาความจริง เพื่อที่วันหนึ่งเมื่อเขาโตกว่านี้ จะมีวาร์ปความคิดที่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เคยอ่าน
และในวันที่มอบหนังสือให้กับหลานชายวัยรุ่น ก็พอดีกับที่ตนเองได้อ่านข้อความของอาจารย์มกุฏ อรฤดี เจ้าของและบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เกี่ยวกับการอ่านและการใช้ภาษาต่างประเทศของคนในประเทศที่มีภาษาเป็นของตนเองอย่างประเทศไทย ใจความสำคัญคือ
“ชาติที่มีภาษาเป็นของตนใช้เพียงชาติเดียว การพัฒนาเรื่องหนังสือและการอ่านให้ทันชาติอื่นทำได้ยาก ถ้าไม่คิดเรื่องการแปลอย่างเข้าใจ ยิ่งหากไม่มีนักเขียนผู้มีความรู้ดีหลากหลายสาขา ก็พัฒนาได้ยากลำบากจนถึงขั้นได้แต่ตามคนอื่น”
เป็นข้อความที่สะท้อนความเป็นจริงชนิดที่ยากจะปฏิเสธค่ะ เพราะสังคมไทยเพิกเฉยการอ่านมาได้พักใหญ่แล้ว แม้ว่าหนังสือหรือนิตยสารจะเป็นภาษาไทย แต่แทบทุกคนดูจะถูกใจกับโซเชียลมีเดียมากกว่า จากจำนวนคนอ่านหนังสือที่มีอยู่ไม่มากนัก ก็ยิ่งน้อยลงไปอีก ส่งผลต่อการผลิตหนังสือหรือนิตยสารออกมา ไม่ต้องพูดถึงหนังสือแปล ที่นับวันสำนักพิมพ์ที่จะแปลจากภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทยนั้นน้อยลงทุกที
ซึ่งนั่นเท่ากับว่าคนไทยที่ใช้ภาษาไทยอย่างเดียวไม่สามารถใช้ภาษาต่างประเทศได้ โลกการอ่านของพวกเขาจะแบนเท่ากับภาษาที่พวกเขาใช้ และกว่าจะรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นนอกประเทศตนเอง ก็ต้องรอให้สำนักข่าวแปลมาให้ฟังหรืออ่าน โดยที่เจ้าตัวเองก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ข่าวที่เลือกมาแปลโดยสำนักข่าวนั้น มีอคติส่วนตัวแทรกอยู่หรือไม่
หรือการแปลนั้นมีความถูกต้องเพียงใด ประกอบกับพฤติกรรมที่ไม่ได้ชอบอ่านหนังสือนัก การคิดวิเคราะห์ตามข้อมูลที่ได้รับมาจะมีน้อยลง เขาหรือเธอสามารถเชื่อข่าวลือข่าวลวงได้ในทันทีที่ได้รับสาร ไม่ว่าข่าวนั้นจะถูกส่งต่อมาจากสำนักข่าวหรือโซเชียลมีเดีย
การอ่านกับภาษาต่างประเทศเป็นเรื่องที่ต้องไปคู่กันค่ะ ยิ่งถ้าเราได้อ่านหนังสือที่ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ จะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่นักเขียนต้องการสื่อสารออกมาจากหนังสือพวกเขา ได้มากกว่าการอ่านหนังสือที่แปลมาอีกทอด แต่ในโลกที่ยังมีชาติที่ใช้ภาษาของตนเองเพียงชาติเดียว การแปลจึงจำเป็นมาก แต่หนังสือแปลนั้นต้องได้รับการแปลอย่างถูกต้องทางหลักภาษา และนักแปลเข้าใจในสิ่งที่นักเขียนผู้เป็นเจ้าของเรื่องต้องการถ่ายทอดออกมา
ทุกวันนี้ ถ้าคุณรู้ภาษาต่างประเทศและเป็นคนรักการอ่าน คุณจะมีแต้มต่อในการคิดวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันมากกว่าคนอื่น เพราะคุณมีข้อมูลที่มากกว่าคนที่รู้ภาษาเดียว และรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวบนโลกได้เร็วกว่าคนอื่น ส่วนคนที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอ่าน และไม่มีความรู้ในภาษาต่างประเทศ สุดท้ายก็จะมีบทสรุปดังเช่นที่ อาจารย์มกุฏ อรฤดี เขียนไว้ว่า “จนถึงขั้นได้แต่ตามคนอื่น” อยากเป็นแบบไหน ลองเลือกกันดูนะคะ
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า