‘วิถีพุทธแบบพอเพียง’ พบความสุขที่ยั่งยืน จากการเผื่อแผ่เพื่อผู้อื่น


“เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” คติธรรมจาก หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร “พระบิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่” พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้จริงในทุกยุคสมัย คนไทยโชคดีที่ได้เกิดมาบนผืนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ เพียงหันมองไปรอบตัว อาจเปลี่ยน “ดิน” ให้เป็น “ที่ทำกิน” หล่อเลี้ยงชีวิตได้อย่างพอเพียงและยั่งยืนต่อไปได้

รองศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ แสงสุริยา หัวหน้าภาควิชามนุษยศาสตร์ และอาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ศาสนากับการพัฒนา) คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชา “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” กรณีศึกษาวิถีวนเกษตร “ปัญญาของแผ่นดิน” ปราชญ์ชุมชนแห่งบ้านห้วยหิน หมู่ 1 ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเต จังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้หันหลังให้กับระบบทุนนิยม มาพลิกฟื้นผืนถิ่นอาศัย จนสามารถเลี้ยงชีพและกลายเป็นเครือข่ายชุมชนต้นแบบที่เข้มแข็งและยั่งยืน

ผลการวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Journal of Asian and African Studies” ภายหลังจากที่ได้นำนักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ศาสนากับการพัฒนา) คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าศึกษาในพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางต่อยอดแนวคิดเพื่อการพัฒนา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของหลักสูตรฯ

ศาสตร์พระราชา “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในปัจจุบันได้มีการประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง โดยไม่จำกัดศาสนา ซึ่งกรณีศึกษาวิถีวนเกษตรผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ปราชญ์ชุมชนแห่งบ้านห้วยหิน หมู่ 1 ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเต จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ใช้ “วิถีพุทธแบบพอเพียง” กู้วิกฤติในช่วงที่ชีวิตติดลบจากปัญหาทางเศรษฐกิจของครอบครัว

โดยได้หันมาปลูกป่าเพื่อทำการเกษตร ซึ่งต่อมานอกจากได้กลายเป็น “ครัวธรรมชาติ” เลี้ยงปากท้องให้กับตนเองและครอบครัวด้วยผลิตผลจากป่าแล้ว ยังเป็น “ห้องเรียนเกษตรแบบพอเพียง” ให้ชาวชุมชนได้ศึกษาและขยายผลสู่วงกว้างในเวลาต่อมาอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ แสงสุริยา กล่าวต่อไปว่า จากคำบอกเล่าทำให้ได้เกร็ดเล็กผสมน้อยเกี่ยวกับ “วิถีพุทธแบบพอเพียง” ที่ ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ยึดถือและเป็นแบบอย่างแก่ชุมชนด้วยว่า ด้วยความรักในผืนป่าที่สร้างขึ้นมาด้วยตัวเองได้ทำให้ ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เกิด “ความเคารพในธรรมชาติ” จึงไม่ใส่แม้รองเท้าเมื่อต้องเหยียบย่ำลงบนต้นไม้ใบหญ้าซึ่งนับว่าเป็น “สิ่งมีชีวิต” เฉกเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการสร้าง “เครือข่ายชุมชนแบบพอเพียง” ที่น่าสนใจ จากที่ได้ทราบว่า แม้ ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ยึดถือวิถีพุทธไม่ฆ่าสัตว์ จึงไม่เลี้ยงสัตว์เองเพื่อนำมาเป็นอาหาร แต่ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนผลิตผลทางการเกษตรกับชาวบ้าน สะท้อนรูปแบบของ “เศรษฐกิจแบบพึ่งพาในชุมชน” ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับ “เศรษฐกิจแบบแข่งขัน” ของระบบทุนนิยม และเป็นการพิสูจน์ด้วยว่า “เงินไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกสิ่ง”

วิถีวนเกษตรของ ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม แสดงในเห็นชัดเจนว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็น “ทางสายกลาง” ระหว่างทุนนิยมและการปฏิเสธทุนนิยม แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงทำให้สามารถพึ่งตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบตลาด แต่ก็ยังสามารถหาประโยชน์จากระบบตลาดได้ เมื่อมีเหลือบริโภค

รองศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ แสงสุริยา ทิ้งท้ายว่า สำหรับผู้มีความใฝ่ฝันที่จะลองใช้ชีวิต “วิถีพุทธแบบพอเพียง” ตามแนวทางของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ไม่เพียง “ความกล้าหาญ” จะต้องมี “สติปัญญา” จาก “ทักษะชีวิต” ที่สั่งสมมา และด้วย “ความเพียร” จะนำไปสู่ “ความสำเร็จ” ที่มั่นคงและยั่งยืน จากการเผื่อแผ่ความสุขไปยังผู้อื่น

ข้อมูลจาก: มหาวิทยาลัยมหิดล www.mahidol.ac.th

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ได้ที่ [email protected]