หรือราชมังฯ จะต้องมี Air Titan

ภาพจาก NASCAR

“ฉันเหมือนคนโชคร้าย ที่โดนสาปไว้ให้พบแต่ผิดหวัง” น่าจะเป็นบทเพลงที่สื่อถึงแฟนบอล “ไก่เดือยทอง” ทอตนัมฮอตสเปอร์ ได้เป็นอย่างดี มีอย่างที่ไหน ร้อยวันพันปีสเปอร์สไม่เคยมาเตะบ้านเรา แต่พอมีโปรแกรมมาเตะทั้งที และอีกไม่กี่นาทีจะคิกออฟ ปรากฏว่ายกเลิก! สมกับคำนิยามแฟนบอลทีมนี้ที่ว่า “ผู้ถูกเลือกให้ผิดหวัง” จริง ๆ

ไม่มีใครห้ามฟ้าฝนได้ แต่เมื่อรู้ว่าจะมีฝนกระหน่ำ แนวทางแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นแพลนเอ แพลนบี หรือแผนไหนก็ตาม ควรจะต้องมีครับ บอกเลยว่าที่ร่ายยาวเปิดหัวมาขนาดนี้ เป็นความรู้สึกล้วน ๆ ครับที่ไม่ได้ดูทีมรักเตะต่อหน้าต่อตา ทั้ง ๆ ที่ทีมชุดใหญ่เดินทางมาถึงที่แล้ว ซึ่งเป็นความรู้สึกที่แฟนกีฬาส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันครับว่า สนามไม่พร้อม

ถ้านึกถึงสนามฟุตบอลระดับมาตรฐานที่รองรับการแข่งขันระดับนานาชาติได้ ในบ้านเราก็ต้องยอมรับว่ามีอยู่ที่เดียวครับ นั่นก็คือราชมังคลากีฬาสถาน แม้ว่าถ้าลงรายละเอียดในส่วนของพื้นสนาม ทั้งหญ้าและระบบระบายน้ำ สนามฟุตบอลของทีมในไทยลีกหลายทีม อาทิ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด หรือบีจี ปทุมฯ จะมีคุณภาพดีกว่าก็ตาม แต่การต้องรองรับแฟนบอลหลายหมื่น มันมีที่เดียวจริง ๆ

นั่นหมายความว่าหากมีฟุตบอลระดับโลกมาเตะบ้านเรา ผู้จัดก็ไม่มีทางเลือกที่ต้องใช้บริการสนามนี้ ไม่ต่างอะไรกับกีฬาแข่งรถ หากจะมาแข่งในเมืองไทยที่เป็นสนามแบบถาวรไม่ใช่สตรีตเซอร์กิต ก็ต้องไปแข่งกันที่บุรีรัมย์ เพราะเป็นเซอร์กิตที่ได้มาตรฐานระดับสูงสุดทั้งรถยนต์ และจักรยานยนต์ ซึ่งราชมังฯ ดูภายนอกอาจจะดูคลาสสิก ยิ่งใหญ่ แต่จากเหตุการณ์ สเปอร์ส-เลสเตอร์ บอกเลยว่าระบบต่าง ๆ มันไม่ได้แล้วครับ

ความไม่พร้อมของระบบระบายน้ำของพื้นสนามฟุตบอล เป็นประเด็นที่แทบทุกสื่อพูดถึงกันไปหมดแล้วครับ ว่าหากมีระบบที่ดีจริง ๆ ต่อให้ตกหนักขนาดไหน สนามไม่ควรจะมีน้ำขัง หรือหากมันขังจริง ๆ ก็ควรจัดการให้พร้อมได้ภายใน 30 นาที แต่เหตุผลที่ทำให้แมตช์นี้ต้องยกเลิก คือการที่สโมสรไม่มั่นใจในภาพสนาม และไม่รู้ว่าอีกกี่นาทีมันถึงจะพร้อมเตะได้

เรื่องของระบบที่ต้องรื้อใหม่หมด หรือบางคนเชียร์ให้สร้างสนามใหม่เลย ก็เป็นสิ่งที่เจ้าของสนามอย่าง กกท. จะต้องทำอยู่แล้ว แต่อีกมุมหนึ่งคือวิธีการแก้ปัญหา นั่นก็เป็นสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมควบคู่ไปด้วย หลายคนบอกว่า “เดอะ แมตช์” ปีที่แล้วฝนก็ตก ทำไมเตะได้ ในมุมของผมที่ไปอยู่ในทั้ง 2 เหตุการณ์ บอกเลยว่ารอบนี้ฝนตกหนักกว่าเยอะครับ

แต่ผมก็เชื่อว่าหากปีที่แล้วฝนตกหนักแบบปีนี้ สนามเอาอยู่แน่นอน เพราะเท่าที่รู้มาคือผู้จัด เดอะ แมตช์ เขาลงทุนทำระบและลงหญ้าใหม่ทั้งหมด แต่พอ 1 ปีผ่านไป สภาพก็เป็นอย่างที่เห็น ผมขอยกตัวอย่างจากสนามแข่งรถ NASCAR ในสหรัฐฯ ก็แล้วกัน จำได้เลยว่าปี 2012 ผมเคยบรรยายการแข่งขันที่ เดย์โทน่า ซึ่งเป็นสนามแรกของปี

ในเรซนั้นฝนตกหนักจนต้องเลื่อนเวลาแข่ง เท่านั้นไม่พอ ยังเลื่อนการแข่งขันออกไปเป็นวันรุ่งขึ้น ด้วยความที่สนามแนสคาร์เป็นสนามรูปวงรีที่มีองศาเอียงอยู่แล้ว การระบายน้ำออกจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะทำให้พื้นผิวแทร็กแห้งนั่นคือปัญหา เพราะสมัยก่อนรถแนสคาร์ยังไม่มีการวิ่งด้วยยางฝน และการใช้ยางสลิกวิ่งบนทางเปียกเป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะอันตรายมาก

ในยุคนั้นแนสคาร์มีรถรถเป่าแทร็กที่เรียกว่า Jet Dryer ที่ทำหน้าที่ไม่เลวกับการทำให้แทร็กแห้งได้ แต่หลังจากเหตุการณ์ที่เดย์โทน่า 2012 ทำให้ปีต่อมา แนสคาร์มีการเปิดตัว Air Titan นวัตกรรมใหม่ในการเป่าและทำสนามให้แห้งได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว จุดเด่นคืออัตราความแรงของลมเป่า อยู่ที่ 568 mph หรือราว 900 กิโลเมตรต่อชั่วโมง!

สามารถเป่าลมร้อนได้ในระดับ 70 องศาเซลเซียส ซึ่งมันสามารถทำให้พื้นผิวแทร็กระดับซูเปอร์สปีดเวย์ 2.5 ไมล์ หรือราว 4 กิโลเมตร แห้งได้ภายใน 30 นาที และแนสคาร์ยังโม้อีกด้วยว่า สามารถทำให้พื้นสนามฟุตบอลแห้งได้ภายใน 20.5 วินาที โอ้โห อะไรมันจะเร็วขนาดนั้น นั่นคือนวัตกรรมที่ตามมาหลังจากปีที่มีปัญหาเกิดขึ้น

ผมไม่ได้บอกว่าราชมังฯ จะต้องถึงขั้นนำ Air Titan เข้ามาประยุกต์ใช้นะครับ แต่ทุกอย่างมันต้องมีจุดเปลี่ยน การเจอปัญหาทำให้เกิดการแก้ไข เหมือนกับที่แนสคาร์ทำให้เห็น ก็หวังว่า The Match that was Never Play เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2023 จะทำให้เมืองไทยมีสนามกีฬาที่จัดงานแล้วไม่ขายหน้าชาวโลกอีกต่อไปครับ