เราอยู่ในยุคที่มี Audience ทั่วโลกคุ้นเคยกับการรับชมความบันเทิงผ่านระบบที่เรียกว่าสตรีมมิ่งกันมาเกือบจะ 10 ปีแล้วนะคะ เรียกว่าเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจสตรีม จากจุดเริ่มต้นที่คนทั่วโลกรู้จักกับ Netflix ที่เริ่มต้นจากการให้เช่าแผ่น DVD แบบเหมาจ่ายต่อเดือน กลายมาเป็นแอปพลิเคชันที่สามารถรับชมภาพยนตร์ ซีรีส์ ผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของ Netflix และพัฒนาแบบก้าวกระโดดขยายตัวไปทั่วโลก จนทำเจ้าของ Content และผู้ผลิต Content เจ้าใหญ่ ๆ ต้องหันมาเล่นในตลาดสตรีมมิ่งกันหมด ทั้ง Amazon Prime, HBO, Apple TV หรือ Disney
ความเติบโตของตลาดสตรีมมิ่ง ทำให้ภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่เป็นออริจินัลของผู้ผลิตเจ้าดังนั้นกลายเป็นของมีราคาสูงขึ้นมาทันที เมื่อเจ้าของ Content หันมาทำสตรีมมิ่งเอง อันเป็นเหตุให้ Netflix ต้องเริ่มมีออริจินัลเป็นของตนเอง ทั้งภาพยนตร์และซีรีส์ เช่นเดียวกับเจ้าอื่น ๆ ที่ต้องหันมาทำออริจินัลของตนเอง เพื่อให้เนื้อหาในแอปพลิเคชันของตนเองนั้นแน่นพอที่จะดึงดูดคนดูให้ยอมจ่ายค่าสมาชิกรายเดือน
วิวัฒนาการของเนื้อหาบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจะมีอยู่สามขั้นตอน ขั้นตอนแรก คือ การสร้างแพลตฟอร์มของตนเอง แล้วเลือกคอนเทนต์ที่ถูกใจตลาดในภูมิภาค ส่วนใหญ่จะเป็นซีรีส์ที่ได้รับความนิยม หรือภาพยนตร์แนว Blockbuster แต่เมื่อมีคู่แข่งในตลาดมากขึ้น ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งจะเข้าสู่ขั้นที่สอง คือ การผลิตซีรีส์และภาพยนตร์ที่เป็นออริจินัลของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานต้นทุนต่ำหรือบทที่ถูกคัดทิ้งแล้วจากสตูดิโอในฮอลลีวูด บางเรื่องอาจประสบความสำเร็จ บางเรื่องอาจหายเงียบไปเลย
ซึ่งวิถีของการสร้างออริจินัลให้เกิดและไม่ดับคาแพลตฟอร์มตนเองนั้น ทางเจ้าของแพลตฟอร์มต้องพยายามค้นหา Flagship Content หรือเนื้อหาในแพลตฟอร์มที่เป็นเรือธง เพื่อให้คนดูจดจำว่าถ้าพวกเขาเป็นสมาชิกสตรีมมิ่งเจ้านี้ พวกเขาจะได้พบกับเนื้อหาแบบนี้ อย่างเช่น WeTV ที่คนดูจะจดจำว่านี่คือสตรีมมิ่งที่มีซีรีส์จีนให้เลือกชมอย่างจุใจ หรือ HBO ที่ต้องบอกว่าเป็นตัวแม่ในเรื่องซีรีส์ ไม่ว่าจะแนวไหน แม่ HBO เอาอยู่หมด
และขั้นตอนที่สาม เรียกว่าเป็นขั้นตอนที่ต้องทำไปพร้อม ๆ กันกับขั้นตอนที่สอง คือ การสร้าง Content ที่ไร้กาลเวลาและไม่ตกเทรนด์ ซึ่ง Content ลักษณะนี้จะอยู่ในรูปแบบสารคดี ซึ่งปัจจุบันถูกพัฒนาเป็น Docuseries ที่สามารถทำ Storytelling ให้มีหลาย Episode ได้ในหนึ่งเรื่อง สามารถใส่สปอนเซอร์เข้าไปใน Docuseries หากดังขึ้นมาแบบ Drive to Survive ก็สามารถพัฒนาต่อได้อีกหลาย Season
ซึ่ง Content ที่ไร้กาลเวลาและไม่ตกเทรนด์ ในเวลานี้ดูเหมือนเจ้าของแพลตฟอร์มอย่างน้อยสองเจ้าที่ใจตรงกันในการเซ็นอนุมัติให้ผลิต Docuseries ที่เกี่ยวกับกีฬาหรือเกี่ยวกับตัวนักกีฬา เจ้าแรกที่เพิ่งประกาศตัวกันไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาอย่าง Disney ที่ร่วมงานกับ ESPN ในการผลิต Docuseries ของเซเรน่า วิลเลียมส์ (ก่อนหน้านี้ เซเรน่าเคยมี Docuseries มาแล้วกับ HBO ในชื่อ Being Serena) ซึ่งเนื้อหาในครั้งนี้ทาง ESPN ที่เป็นผู้ผลิตหลักระบุว่าจะมีความแตกต่างออกไป ส่วนอีกเจ้าอย่าง Apple จับมือลูอิส แฮมิลตัน เซ็นสัญญาผลิต Docuseries สำหรับแชมป์ฟอร์มูล่าวัน เรียกว่าเป็นการเจาะลึกไปถึงชีวิตนักขับผิวสี บนสนามการแข่งขันที่มีมูลค่าสูงระดับท็อปโลก
ด้วยวิธีการเล่าเรื่องและเนื้อหาที่สามารถดูได้เรื่อย ๆ ไม่มีวันหมดอายุ และ Original Content ในลักษณะของซีรีส์สารคดีกีฬาทำให้ไม่ตกเทรนด์ นับเป็นเนื้อหาในฝันของเหล่าเจ้าของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง เพราะไม่เพียงจะมีความหลากหลายให้ผู้ชมได้ชมแล้ว ต้นทุนในการผลิตนั้นยังไม่สูงเท่ากับการผลิตซีรีส์หรือภาพยนตร์ เช่นนี้แล้ว เราอาจได้เห็น Docuseries เกี่ยวกับกีฬา อาหาร และการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ส่วนจะทำให้ผู้ชมติดได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือผู้ผลิต ที่เจ้าของแพลตฟอร์มจะไปจ้างมาล่ะค่ะ… “ตาดีได้ ตาร้ายเสีย” นึกถึงวลีนี้ขึ้นมาทันที!
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ