รู้จักและเข้าใจ “ภาวะสมองเสื่อม” พร้อมแนวทางป้องกัน


ภาวะสมองเสื่อม หรือ Dementia คือ ภาวะที่มีปัญหาด้านความจำบกพร่องร่วมกับมีอาการอื่น ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อาการอื่น ๆ เช่น นึกคำพูดไม่ออก บวกลบเลขง่าย ๆ ไม่ได้ ความสามารถในการตัดสินใจ/สื่อสารแย่ลง ไม่สามารถทำอะไรที่ง่ายที่เคยทำประจำ เช่น ติดกระดุมเสื้อเองไม่ค่อยได้ พฤติกรรมหรือบุคลิกเปลี่ยนไปจากเดิม เป็นต้น ภาวะบางอย่างอาจมีอาการความจำไม่ดี แต่ไม่จัดว่าเป็นภาวะสมองเสื่อม เช่น โรคซึมเศร้า การอดนอน ความเครียด จนขาดสมาธิในการจดจำ

โรคสมองเสื่อมแบ่งเป็น 2 แบบ คือ

  • แบบที่รักษาให้หายได้
  • แบบที่รักษาให้หายไม่ได้

คนที่สงสัยว่าจะมีอาการสมองเสื่อม ควรพบแพทย์ทางระบบประสาท เนื่องจากอาจเป็นสาเหตุที่สามารถรักษาได้ โรคในกลุ่มนี้ เช่น เนื้องอกในสมอง โรคไทรอยด์ โรคติดเชื้อ โรคขาดสารอาหารบางชนิด เป็นต้น สำหรับสมองเสื่อมจากสาเหตุที่รักษาไม่หายนั้น สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ก็คือ โรคอัลไซเมอร์ นอกนั้นก็เป็นโรคทางสมองอื่น ๆ ที่พบได้รองลงไป เช่น หลอดเลือดสมองตีบ หรือเป็นทั้งอัลไซเมอร์และหลอดเลือดสมองตีบร่วมกัน เป็นต้น

อาการที่สำคัญของโรคสมองเสื่อม

  • ความจำเสื่อม โดยเฉพาะความจำระยะสั้น
  • ไม่สามารถทำสิ่งที่เคยทำได้
  • มีปัญหาในการใช้ภาษา
  • มีปัญหาในการลำดับ ทิศทาง และเวลา
  • สติปัญญาด้อยลง
  • วางของผิดที่ผิดทาง
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย รวดเร็ว
  • บุคลิกเปลี่ยนแปลงไป
  • อาจมีอาการหลอน เช่น เห็นภาพหลอน

สาเหตุ

  1. การเสื่อมสลายของเนื้อสมอง โดยไม่ทราบตัวการที่ชักนำทำให้เซลล์สมองตาย พบว่ามีสารสะสมในเซลล์สมองที่ เรียกว่า B-Amyloid ทำให้เซลล์สมองนั้นสลายตายไป และไม่มีเซลล์สมองใหม่ขึ้นมาทดแทน ทำให้สมองที่เหลืออยู่ไม่สามารถทำงานได้ดีอย่างเดิม โรคที่มีลักษณะความผิดปกติแบบนี้ คือ อัลไซเมอร์
  2. ปัญหาหลอดเลือดสมอง เมื่อคนที่อายุมากขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดทั้งตัวมากบ้างน้อยบ้างตามแต่พันธุกรรม อาหารการกินและพฤติกรรมต่าง ๆ ของแต่ละคน การเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมีไขมันมาสะสมที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดขรุขระ ไม่เรียบ และตีบลง ซึ่งทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่สมบูรณ์ เนื้อสมองบางส่วนจะค่อย ๆ ตายไป ทำให้ความสามารถในการทำงานของสมองลดลง
  3. การติดเชื้อในสมอง ถ้ามีการติดเชื้อในสมองจะเกิดการอักเสบ จะทำให้เซลล์สมองบางส่วนตายไป เช่น โรคซิฟิลิส HIV วัณโรค และไวรัสบางชนิด โรควัวบ้า
  4. เกิดจากการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามิน B1, B12, Folic Acid เช่น ผู้ป่วยที่ดื่มสุรามาก
  5. การแปรปรวนของระบบเมตาบอลิกของร่างกาย เช่น การทำงานของต่อมไร้ท่อบางชนิดผิดปกติไป โดยเฉพาะต่อมไทรอยด์ ทำงานมากหรือน้อยไป ก็ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของสมองทั้งสิ้น
  6. การกระทบกระเทือนที่สมอง
  7. เนื้องอกในสมอง
  8. สมองเสื่อมเกิดจากโพรงน้ำในสมองขยายใหญ่ขึ้นจากน้ำเลี้ยงสมองคั่งจนเบียดเนื้อสมองทำให้ทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีการซอยเท้า ก้าวสั้น ๆ ปัสสาวะราด เข้าห้องน้ำไม่ทันร่วมด้วย

แนวทางปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงสมองเสื่อม

  • มีกิจกรรมทางกาย : ออกกำลังกาย หมั่นขยับไม่จับเจ่า
  • ทำกิจกรรมฝึกสมอง : สร้างความท้าทายให้สมองได้ออกกำลังอยู่เรื่อย ๆ
  • ดูแลเรื่องโภชนาการ : กินอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย ครบ 5 หมู่
  • มีเพื่อน มีสังคม : กระตุ้นการทำงานในสมอง ไม่เหงา เศร้า ซึม
  • ควบคุมโรคประจำตัวให้ได้ : ความดัน เบาหวาน ไขมันสูง
  • ควมคุมน้ำหนัก : เพราะความอ้วนจะนำมาซึ่งโรคต่าง ๆ
  • เลิกบุหรี่ : บุหรี่สร้างความเสียหายให้หลอดเลือดทั่วร่าง รวมทั้งสมอง
  • เลิกเหล้า : เหล้านี้ทำลายสมองแบบตรง ๆ
  • ทำจิตใจให้สดใส : หากพบว่าตนเองติดกับความเศร้านานเกิน 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาจิตแพทย์