“อิกี้มันเป็นสก๊อย” Nostalgia ถึงยุค Y2K 

ความแรงของ “ธาตุทองซาวด์” ไม่ได้หยุดแค่เทรนด์ในทวิตเตอร์ แต่กำลังจะกลายเพลงชาติในงานสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงในอีกสองวันข้างหน้านี้อย่างแน่นอน (ผู้เชี่ยวชาญชาวทวิตเตี้ยนท่านหนึ่งกล่าวไว้) ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยอย่างแรง เพราะนี่คือเพลงที่มาได้พอดีกับเทรนด์ Y2K (แฟชั่นและเรื่องราวในยุค 90’s ที่ถูกนำกลับมากล่าวถึงอีกครั้ง)

ขณะที่เจ้าของเพลงคือ “ยังโอม” แรปเปอร์ชื่อดังที่แต่งเนื้อร้องและ Rhyme นำเอาจังหวะ และเสียงที่คนไทยคุ้นเคยมาสร้างเป็นเพลง “ธาตุทองซาวด์”

เอาเข้าจริงแล้ว “ธาตุทองซาวด์” ของแรปเปอร์หนุ่ม “ยังโอม” น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับคนที่คิดจะทำเพลงให้ติดหูคนไทย เช่นเดียวกับมิวสิกวิดีโอเพลง “ธาตุทองซาวด์” ที่ไอเดียในการสร้างงานนั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เพลงนี้เป็นไวรัลในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะท่อนที่กล่าวถึง “อิกี้” ที่ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ได้สร้างองค์ประกอบสำคัญของเพลงนี้ให้สมบูรณ์จริง ๆ

เพราะไม่ใช่แค่เพียงนักแสดงสาวที่รับบทเป็น “อิกี้” (มชณต สุวรรณมาศ) ในมิวสิกวิดีโอจะพลิกคาแรกเตอร์ตัวเองจากที่หลายคนคุ้นเคยแล้ว แต่คาแรกเตอร์ของ “อิกี้” ยังสะท้อนภาพของยุค Y2K ระหว่าง 90’s ที่คาบเกี่ยวยุค 2000 ได้อย่างชัดเจน

สำคัญที่สุดคือ “อิกี้มันเป็นสก๊อย” ได้ทำให้เห็นว่า “ไวรัล” ในยุคนี้วิ่งไปไวขนาดไหนและแทรกซึมสู่ผู้คนได้รวดเร็วปานใด เริ่มจาก Official MV ที่ปล่อยออกไปเพียง 2 วัน ยอดคนดูก็ทะลุหลัก 4.2 ล้านไปแล้ว ในระหว่างนั้นเหล่า  Influencer สายแฟชั่น สายแต่งหน้า และสายเต้น พากันแต่งหน้า แต่งตัว และ Cover ท่าเต้นตามแบบ “อิกี้” กันเต็มหน้าฟีด จากกระแสที่แรงขนาดนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า “อิกี้” หรือน้องหลิน “มชณต สุวรรณมาศ” น่าจะมีงานติดต่อเข้ามาไม่น้อย

ส่วนตัวแล้วผู้เขียนสามารถฟังเพลงได้ทุกแนว ตอนที่เห็นเพลงนี้ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ แล้วเข้าไปดูคลิปสั้น ๆ ที่ตัดออกมาแชร์ แว่บแรกรู้สึกได้เลยว่าร้อยล้านวิวไม่น่าไกลเกินเอื้อม ยิ่งมาปล่อยในห้วงเวลาที่กระแสโลก กระแสในไทยต่างพากันหวนกลับไปสู่ยุค Y2K ผลงานชิ้นนี้น่าจะเป็นความสำเร็จอีกครั้งของ “ยังโอม” และทีมงาน

ถึงบรรทัดนี้คงต้องบอกว่า “ยังโอม” เป็นคนในเจเนอเรชัน Z (คนที่เกิดในช่วงระหว่างปี 2538-2552) ที่นำเอาสิ่งที่เขาได้พบเห็นในช่วงเวลา Y2K ให้กลับมาอีกครั้ง ซึ่งกระแสทั่วทั้งโลกเป็นเช่นนั้น เริ่มต้นมาจากวงการแฟชั่นที่ ดีไซเนอร์ซึ่งอยู่ในช่วงวัยของ เจเนอเรชัน Z นำเอาเทรนด์ในยุค Y2K ให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้

ขณะเดียวกัน “ความหวนไห้” (Nostalgia) ถึงวันเวลาในอดีต ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เทรนด์ Y2K กลับมา เพราะหลังจากที่ต้องผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายของสถานการณ์โรคระบาด ผู้คนทั้งโลกต่างคิดถึงวันเวลาที่พวกเขาเติบโตมา เอาเข้าจริง โลกในยุค 90’s ที่คาบเกี่ยวมาถึงยุค 2000 นั้นเป็นโลกที่มีการเปลี่ยนผ่านมากมาย ทั้งในเรื่องของสื่อ เทคโนโลยี รวมไปถึงความเป็นอยู่ในสังคม

เขียนมาถึงบรรทัดนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงบ่ายวันหนึ่งก่อนที่ไวรัสโควิด-19 จะระบาด ระหว่างการสนทนาบนโต๊ะกาแฟ กับเพื่อนนักข่าวต่างชาติ เขาเล่าถึงยุค 90’s ในความทรงจำว่าเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนในยุโรปสามารถออกจากบ้านไปนั่งสังสรรค์ หรือเดินตามท้องถนนกันได้ด้วยความรู้สึกปลอดภัย แต่หลังเหตุการณ์ 911 ชีวิตของผู้คนในสังคมก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

สิ่งที่เพื่อนผู้เขียนพูดนั้นไม่ผิดจากความเป็นจริงเลยแม้แต่น้อย บวกกับการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้โลกใบนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และเมื่อเราต้องมีชีวิตต่อไป สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในเวลานี้ คือมีความสุขกับปัจจุบัน ช่วงเวลานี้ก็สำราญหูกับ “ธาตุทองซาวด์” ให้เต็มที่ในเทศกาลสงกรานต์ เพราะจากประสบการณ์ของคนเจเนอเรชัน X อย่างผู้เขียนนั้น โลกใบนี้พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า