รถแข่งใน ARRC มีกี่ยี่ห้อ

สัปดาห์ที่ผ่านมา คอความเร็ว 2 ล้อทางเรียบน่าจะเต็มอิ่มกับการประเดิมฤดูกาลใหม่ของการแข่งขันทั้งในระดับโมโตจีพี ที่มีดราม่าและนักบิดบาดเจ็บกันระนาวตั้งแต่สนามแรก รวมถึงการเปิดซีซันของศึกชิงแชมป์เอเชีย 2023 รายการ เอเชียโรดเรซซิ่งแชมเปียนชิป หรือ ARRC ที่เปิดฉากสนามแรกกันไปแล้วท่ามกลางสภาพอากาศอันร้อนระอุที่บุรีรัมย์

ผมเองมีโอกาสได้เดินทางไปชมการแข่งขันที่สนามช้างฯ จังหวัดบุรีรัมย์ ด้วยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สัมผัสได้เลยถึงความร้อนที่พื้นผิวแทร็ก โดยอากาศในช่วงบ่ายอยู่ราว 39 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิที่พื้นผิวแทร็กทะลุ 60 องศาเซลเซียส เวลาเดินทางไปถ่ายงานที่บริเวณกริดสตาร์ต โอ้โห! มันจะร้อนอะไรขนาดนั้น!

เรื่องของความร้อน อาจะเป็นอุปสรรคกับนักแข่งหลาย ๆ ทีม ทั้งตัวนักแข่งเอง และเครื่องยนต์ที่ต้องไปให้จบการแข่งขันภายใต้อุณหภูมิที่สูงกระฉูดเช่นนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือ อาการของยาง ที่ผมสังเกตดูคือในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาของ ARRC รถหลุดออกนอกแทร็ก หรือล้มเพราะยางน้อยมาก ทางวิศวกรของดันล็อปบอกว่ามันคือธรรมชาติของยาง ที่กริป (อาการเกาะถนนของยาง) จะทำงานได้ดีในสภาพอากาศร้อนมากว่า

ฉะนั้น อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในการแข่งขันที่บุรีรัมย์รอบนี้ จะเกิดขึ้นจากการขับเคี่ยวกันในแต่ละอันดับมากกว่า โดยเฉพาะการช่วงชิงกันในรอบสุดท้ายของโค้งสุดท้ายที่บีบใจคนดูทุกครั้งครับ ส่วนผลการแข่งขันหลายท่านคงทราบกันแล้ว ในเรซนี้ มีเพลงชาติไทยบนโพเดียม 2 ครั้ง จาก ชิพ-นครินทร์ อธิรัฐภูวภัทร์ ในรุ่น SS600 และ เอ้-วรพงศ์ มาลาหวล ในรุ่น TVS Asia One Make Race

รถแข่งใน ARRC มีทั้งหมดกี่ยี่ห้อ และในเมื่อการแข่งขันรายการนี้ มีต้นแบบมาจากการแข่งขันระดับเวิลด์ซูเปอร์ไบค์ ซึ่งใช้รถแข่งโปรดักชันไบค์ (รถที่ค่ายรถผลิตออกขายทั่วไป) นำมาปรับแต่งให้เป็นรถแข่งภายใต้กติกาเดียวกัน รถที่ทำมาแข่งทุกรุ่นจำเป็นต้องมีขายในโชว์รูมบ้านเราหรือไม่ จริงอยู่ครับที่แนวทางของการแข่งขันเป็นแบบนั้น แต่ด้วยกติกาที่กำหนดเอาไว้ กับสเปกรถที่ทำตลาดในบ้านเราอาจไม่ตรงกัน

ทำให้รถที่เราเห็นบนแทร็ก ARRC โดยเฉพาะในรุ่นเล็กหลาย ๆ รุ่นเป็นรถที่ไม่มีขายในบ้านเรา (แต่อาจมีขายในประเทศเพื่อนบ้าน) อย่างไรก็ดี หากไล่ดูทีมแข่งไทยในฤดูกาลนี้ ที่นำโดยทีมโรงงานยามาฮ่า ทีมโรงงานฮอนด้า และทีมอิสระ EEST NJT ที่กำลังมาแรง ล้วนใช้รถแข่งที่เป็นโปรดักชันไบค์ที่มีขายในบ้านเราแทบทั้งสิ้นครับ และเชตอัปโดยทีมช่างคนไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก

หากไล่เรียงรุ่นการแข่งขันตั้งแต่รุ่นเล็กไปจนถึงรุ่นย่อย ARRC ปีนี้มีรถแข่งเข้าร่วมทั้งหมด 5 ยี่ห้อด้วยกันครับ นำโดย ยามาฮ่า ฮอนด้า ซึ่งเป็น 2 ทีมแข่งโรงงานในเมืองไทย รวมถึงยังมีทีมแข่งอิสระที่เลือกใช้รถ คาวาซากิ กับบีเอ็มดับเบิลยู และ TVS ยี่ห้อรถจากอินเดียที่มาเข้าร่วมในรายการ One Make Race

โดยเฉพาะทีมงาน ยามาฮ่า ไทยแลนด์ เรซซิ่ง ทีม ที่ปีนี้ยกทีมไปแข่งในเวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ รุ่น 600 ซีซีด้วย มีการนำหัวหน้าทีมช่างที่ดูแลรถ YZF-R6 ของแสตมป์ อภิวัฒน์ วงศ์ธนานนท์ ใน World SuperSport (WSSP) มาเป็นทีมที่ปรึกษาให้คำแนะนำและถ่ายทอดประสบการณ์จากระดับโลกสู่การแข่งขันรถดับเอเชียด้วย

อย่างที่ผมเคยบอกไปครับว่า มอเตอร์สปอร์ต คือ แนวทางที่จะนำไปสู่การพัฒนารถบ้าน การเซตรถให้ทำเวลาต่อรอบเร็วขึ้นสัก 0.1 วินาที บางทีมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องของนักแข่งคนเดียว ไปบุรีรัมย์รอบนี้ ผมได้ยินเสียงทีมแข่งมากกว่า 1 ทีม เปิดไฟเซตอัปรถที่พิตกันเกือบเที่ยงคืน ซึ่งก็เพื่อหาสาเหตุให้ได้ว่าเหตุใดถึงกดเวลาไม่ลง

ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ค่ายรถแต่ละยี่ห้อพยายามพิสูจน์ให้ผู้ซื้อรถของเขาได้เห็น ว่าสิ่งที่อยู่ในรถซึ่งใช้กันในชีวิตประจำวัน ล้วนถูกพัฒนาและมีการทดสอบมาจากสนามแข่งขันจริงทั้งสิ้นครับ หรือแม้กระทั่งทีมแข่งอิสระที่ไม่ใช่ทีมโรงงาน เขาก็จำเป็นต้องมีฟีดแบ็กส่งกลับไปยังค่ายรถที่นำมาใช้แข่งด้วยเช่นเดียวกัน

เอาเป็นว่า ARRC 2023 เริ่มต้นด้วยรถแข่ง 5 ยี่ห้อ ส่วนจะมียี่ห้อที่ 6 มาร่วมแจมในช่วงกลางซีซันหรือไม่ คงต้องติดตามกันครับ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีครับ