จากข่าวที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของไทยวงเงิน 1,514 ล้านบาท เชื่อมโยงระบบการดูแลสุขภาพแบบดิจิทัลเพื่ออนาคต พร้อมคุ้มครองข้อมูลตามกฎหมาย และข่าวที่กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ พิจารณาจัดสรรเงินมูลค่า 3,508 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการบริการสุขภาพดิจิทัลและโทรเวชกรรมถ้วนหน้า (Universal Telehealth Coverage : UTHC) (ยังมีข้อขัดแย้งอยู่) จะเห็นว่าเทคโนโลยี Telehealth ถูกพูดถึงมากขึ้น และเริ่มที่จะเป็นรูปธรรมมากขึ้น
จากรายงานข่าว โครงการจาก กสทช. เป็นโครงการประยุกต์ใช้งานบริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชนบท (Telehealth Project) โดยมีความร่วมมือ MOU ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการ กระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง กสทช. จะนำร่องติดตั้ง 1,000 แห่งทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องงบสนับสนุนอยู่ แต่สิ่งที่คนไทยควรรู้เพื่อที่จะได้ใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพในอนาคตอันใกล้ ก็คือ Telehealth คืออะไร และจะมีประโยชน์อย่างไรหากโครงการนี้เสร็จสิ้น
Telehealth คืออะไร
Telehealth หรือการแพทย์ทางไกล คือการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบโทรคมนาคมมาใช้ในการให้บริการด้านสุขภาพในระยะทางไกล ประโยชน์ก็คือช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับบริการด้านสุขภาพจากแพทย์เฉพาะทางที่อยู่ในสถานพยาบาลได้โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สถานพยาบาลด้วยตนเอง ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังด้วย และเนื่องจากเป็นการให้บริการด้านสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานพยาบาล Telehealth จึงลดความจำเป็นในการสร้างสถานพยาบาลเพิ่มเติมในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ได้
ดังนั้น Telehealth จึงเป็นการให้บริการทางการแพทย์ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ในการดูแลสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากสถานรักษาพยาบาลต่าง ๆ โดย Telehealth จะช่วยให้เกิดการดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของทุกคนในสังคมได้ สำหรับ Telehealth ในประเทศไทย จะเป็นการนำร่องบริการทางการแพทย์สำหรับ 4 โรคได้แก่ โรคที่เกี่ยวกับจอประสาทตา โรคเบาหวาน โรคผิวหนัง และโรคความดันโลหิตสูง
Telehealth ดีอย่างไร
เนื่องจากปัญหาที่มีประชาชนบางกลุ่มในพื้นที่ห่างไกล ไม่สามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้อย่างสะดวกนัก เวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วย การเดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์เป็นเรื่องที่ยากลำบาก มีผลต่อสุขภาพร่างกายของประชาชนกลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ ประชาชนกลุ่มนี้ยังข้ามขั้นตอนการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลระดับต้นซึ่งอยู่ใกล้บ้านมากกว่าไปยังสถานพยาบาลระดับสูงกว่า เพราะมีความเชื่อว่าจะได้รับการบริการที่ดีกว่า มีคุณภาพมากกว่าด้วย ทำให้สถานพยาบาลระดับสูง ทั้งในระดับโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ เกิดความแออัดของผู้เข้ามาใช้บริการ ยิ่งคนเยอะก็ยิ่งรอนาน ยิ่งรอนานก็ยิ่งไม่สบอารมณ์
ที่สำคัญ มันทำให้เห็นไปถึงปัญหาการขาดแคลนและการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ ที่มักกระจุกอยู่ตามชุมชนใหญ่ ๆ อันเป็นเหตุให้ประชาชนเชื่อว่าสถานพยาบาลไกลบ้านมีแพทย์ที่พร้อมให้บริการได้ดีกว่า การบริการที่มีคุณภาพกว่า ประชาชนจึงเชื่อว่าคุณภาพในการให้บริการสาธารณสุขในสถานพยาบาลใหญ่ ๆ มีคุณภาพที่ดีกว่าสถานพยาบาลเล็ก ๆ ที่อยู๋ใกล้บ้าน ดังนั้น แม้ว่าจะจะมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ประชาชนก็ยังตั้งใจที่จะเดินทางอย่างยากลำบากเข้ามาขอรับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลระดับสูง
นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวแล้ว อัตราการเกิดต่ำ ผู้คนมีอายุยืนขึ้นจากการพัฒนาการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความก้าวหน้าและทันสมัยมากยิ่งขึ้น ทำให้เรื่องของการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพเป็นเรื่องที่จำเป็น การที่คนมีอายุยืนไม่ได้แปลว่าจะต้องมีสุขภาพที่ดีเสมอไป ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากกว่าช่วงวัยอื่น และมีความยากลำบากในการเดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์ตามสถานพยาบาลด้วย นอกจากนี้ การเดินทางมายังสถานพยาบาลที่มีผู้ป่วยเต็มไปหมด ยังเพิ่มโอกาสในการรับเชื้อโรคด้วย ทำให้ Telehealth มีประโยชน์ในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพของกลุ่มผู้สูงอายุมากทีเดียว
ดังนั้น ประโยชน์ของการใช้ Telehealth จะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ลดปัญหาประชาชนข้ามขั้นตอนการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลเบื้องต้นใกล้ที่อยู่อาศัยไปยังบริการระดับสูงกว่า ลดปัญหาความแออัดของผู้ป่วยตามโรงพยาบาลชุมชนไปจนถึงโรงพยาบาลศูนย์ รวมถึงช่วยเพิ่มศักยภาพและประหยัดเวลาในการให้บริการของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานีอนามัย สถานบริการสาธารณสุขชุมชน หรือโรงพยาบาลชุมชน เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในการเข้ารับบริการทางการแพทย์แบบทางไกล
การมีบริการอย่าง Telehealth นอกจากจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแพทย์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะโรคที่มีกำหนดการรักษาชัดเจน 4 โรคดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยสามารถรับบริการทางแพทย์ที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ไม่ต่างจากการเดินทางเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาล ในอนาคต Telehealth ก็จะมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอื่น ๆ โดยเฉพาะ AI เข้ามามีส่วนช่วยในการเชื่อมต่อระหว่างประชาชนกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จากสถาบันต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนในต่างจังหวัดสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพได้สะดวกมากยิ่งขึ้นด้วยนั่นเอง
แนวคิดดี แต่อีกมุมก็ยังมีปัญหา
เนื่องจาก Telehealth จะพึ่งพาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารเป็นหลักในการเชื่อมต่อประชาชนผู้มีปัญหาสุขภาพและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้สามารถสื่อสารกันได้ในการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ การให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ หรือแม้แต่การติดตามดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังแบบทางไกล ผู้ป่วยสามารถขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือจากบุคลากรทางการแพทย์ได้แทบจะทันที โดยสามารถพูดคุยกันแบบเห็นหน้ากันทางออนไลน์ เพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชน อย่างไรก็ตาม หลายพื้นที่ยังมีความไม่พร้อมด้านระบบและอุปกรณ์สื่อสารออนไลน์ โดยเฉพาะในท้องถิ่นที่ระบบสื่อสารออนไลน์ไปไม่ถึงนั่นเอง
นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวคน เนื่องจาก Telehealth เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ อาจเกิดปัญหาในผู้ป่วยที่ใช้ระบบสื่อสารออนไลน์ไม่เป็นหรือไม่คล่อง รวมถึงไม่มีอุปกรณ์สื่อสารออนไลน์ด้วย เพราะอุปกรณ์ที่จะใช้สื่อสารออนไลน์ได้ จะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อหาและจัดตั้งระบบและอุปกรณ์ดังกล่าว หรือแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ ผ่านทางออนไลน์กันทุกคน ไม่ชินกับการให้คำปรึกษาออนไลน์ อีกทั้งยังมีปัญหาในเรื่องของการจัดหาแพทย์และพยาบาลที่จะมาอยู่เวรรอให้คำปรึกษาและช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ซึ่งจะเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นจากภาระงานเดิมที่หนักมากอยู่แล้ว
นอกจากนี้ การรักษาพยาบาลออนไลน์อาจผิดพลาดได้ง่ายกว่า กรณีที่ผู้ป่วยกับแพทย์หรือพยาบาลไม่เคยรักษาพยาบาลกันมาก่อน การซักประวัติการเจ็บป่วยทั้งในปัจจุบันและอดีต ประวัติส่วนตัวและครอบครัว ฯลฯ อาจไม่ดีเท่ากับการซักถามกันโดยตรง รวมทั้งการสังเกตปฏิกิริยาของผู้ป่วยในการตอบคำถามว่าคำตอบนั้นจริงหรือเท็จ การที่ไม่สามารถตรวจร่างกายของผู้ป่วยได้โดยตรง เพราะในการให้คำวินิจฉัยหรือคำแนะนำทางการแพทย์นั้น บ่อยครั้งที่แพทย์ต้องการข้อมูลจากการฟังเสียงปอด เสียงหัวใจ และอื่น ๆ ประกอบ จึงอาจทำให้การวินิจฉัยโรคผิดพลาดได้ เนื่องจากแพทย์และพยาบาลจำนวนมาก ไม่ได้ชำนาญในทุกโรคและทุกระบบของร่างกาย เมื่อต้องให้คำแนะนำหรือให้ความช่วยเหลือ ก็อาจทำให้ไม่สบายใจที่จะรับงาน
อีกเรื่องที่สำคัญมาก คือความรู้สึกห่างเหินระหว่างผู้ป่วยกับผู้ให้การรักษาพยาบาล ยิ่งถ้าผู้ป่วยและผู้ให้การรักษาพยาบาลไม่เคยพบหน้ากันมาก่อน จะทำให้เกิดความรู้สึกห่างเหิน ไม่คุ้นเคย ไม่ไว้ใจ ได้มากเท่ากับการเจอหน้ากันตัวเป็น ๆ ซึ่งมันอาจจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การรักษาพยาบาลไม่ต่อเนื่อง ผู้ป่วยหลายคนที่คุ้นเคยกับการเจอหน้าแพทย์ จะมีผลทางจิตใจที่เหมือนกับว่าเจอหน้าหมอก็รู้สึกดีขึ้น ความรู้สึกเช่นนี้เกิดได้ยากในการสื่อสารออนไลน์
ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่าการใช้เทคโนโลยีสื่อสารกันทางออนไลน์ และการให้บริการทางการแพทย์แบบทางไกล ข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วยทั้งหมด เช่น ประวัติการเจ็บป่วย ยา การผ่าตัด การดูแลรักษาอื่น ๆ ประวัติส่วนตัวและครอบครัว จะถูกเก็บไว้บนออนไลน์ด้วยทั้งหมด ซึ่งมันก็มีความเสี่ยงที่จะมีการลักลอบล้วงข้อมูลของผู้ป่วยและ/หรือบุคลากรทางการแพทย์ มันสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายเช่นเดียวกับการสื่อสารออนไลน์อื่น ๆ ข้อมูลสุขภาพเป็นที่ต้องการของเหล่าแฮกเกอร์ จึงต้องระมัดระวังให้มากเช่นกัน