ถือเป็นหน้าที่ที่วนมาหาคนทำงานมีรายได้เป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว สำหรับ “การยื่นภาษี” ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไรก็ตาม แต่เมื่อคุณมีรายได้ คุณก็ต้องทำเรื่อง “ยื่นแบบภาษี” กันอย่างถูกต้อง เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตกันอย่างสบายใจหายห่วง ไม่ต้องกลัวถูกตรวจสอบและต้องจ่ายภาษีย้อนหลังแบบอ่วม ๆ อนาคตจะยื่นเรื่องทำธุรกรรมอะไรก็จะง่ายหน่อย เพราะคุณเป็นคนที่มีรายได้เป็นหลักแหล่ง ซึ่งถ้าหากคุณมีรายได้สุทธิถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี อย่าลืมว่าภาษีเหล่านั้นจะถูกนำไปพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม อาจข้อมูลบางส่วนที่คุณอาจเข้าใจผิดหรือทำผิดพลาดเมื่อต้องยื่นภาษี มาดูกันว่ามีอะไรที่คุณต้องระมัดระวังเป็นพิเศษบ้าง
คำนวณภาษีเงินได้ผิด
เมื่อตัวเลขทั้งหมดทั้งมวลผิด ย่อมทำให้จำนวนเงินจ่ายภาษีผิดไปด้วย บางคนสามารถนู่นนี่ได้อีกหลายค่า ซึ่งอาจทำให้เหลือเงินได้สุทธิไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แต่พอหักไม่ครบก็เท่ากับไม่รักษาสิทธิ์ตัวเอง จุดนี้ทำให้หลายคนสับสนกับวิธีคำนวณภาษี สามารถใช้สูตร เงินได้สุทธิ=[(เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) – เงินบริจาคทั่วไป] * อัตราภาษี ซึ่งเงินบริจาคทั่วไป คือ เงินที่ได้รับสิทธินำมาลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 จากเงินได้สุทธิก้อนแรกที่หักค่าใช้จ่ายกับค่าลดหย่อนอย่างอื่นไปแล้ว เมื่อได้เงินได้สุทธิออกมาแล้ว ก็ต้องนำไปเทียบกับฐานภาษีของสรรพากรว่าเงินได้ของคุณต้องเสียภาษีอัตราเท่าไร จึงจะได้เป็นตัวเลขภาษีที่คุณต้องจ่าย
ยื่นภาษี ≠ เสียภาษี
มีหลายคนที่ต้องทำความเข้าใจเรื่อง “การยื่นภาษี” กับ “การเสียภาษี” เสียใหม่ก่อน ว่าผู้มีรายได้ทุกคนมีหน้าที่ “ยื่นภาษี” แต่ไม่ได้หมายความว่าต้อง “เสียภาษี” กันทุกคน เพราะคนที่จะต้องเสียภาษี คือคนที่ยื่นภาษีแล้วพบว่ามีเงินได้สุทธิถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีเท่านั้น โดยอัตราการเสียภาษีจะคำนวณจากเงินได้สุทธิที่มีการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ ตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น หลังจากคำนวณตามสูตรแล้ว แม้ว่าคุณจะมีรายได้สุทธิไม่ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษี แต่คุณก็ยังมีหน้าที่ “ยื่นแบบภาษี” เหมือนกับผู้ที่มีรายได้เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษีตามปกติทุกอย่างอยู่ดี เพื่อเป็นการแสดงตนถึงการเป็นผู้ที่มีรายได้นั่นเอง หากไม่ยื่น คุณจะมีความผิดต้องรับโทษตามกฎหมาย
ค่าใช้จ่ายกับส่วนลดหย่อน
ในสูตรการคำนวณรายได้สุทธิอย่างง่าย คือ เงินได้ทั้งปี-ค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อน=เงินได้สุทธิ มีคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “ค่าใช้จ่าย“ และ “ค่าลดหย่อน“ ซึ่งทั้ง 2 ไม่เหมือนกัน ค่าใช้จ่าย คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายมอบให้ โดยขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ที่คุณได้รับ เพื่อให้ได้เงินได้หรือรายได้สุทธินั้นมาคิดภาษีตามบัญชีอัตราภาษี โดยมีอัตราการหักค่าใช้จ่ายมากหรือน้อยตามแต่รายได้แต่ละประเภท ทว่าค่าลดหย่อน เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฏหมายมอบให้โดยขึ้นอยู่กับสถานภาพและภาระของผู้เสียภาษีแต่ละคน ดังนั้น ค่าลดหย่อนจึงเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในการคำนวณภาษีที่กฎหมายกำหนดให้นำไปหักออกจากเงินได้อีกหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ใครหลายคนเคยไม่เข้าใจว่าภาษีหัก ณ ที่จ่ายนั้นหักไปเพื่ออะไร หลังจากนั้นก็ได้รับกระดาษมา 2 แผ่น จงรู้ไว้ว่าให้เก็บกระดาษ 2 แผ่นนี้ยิ่งชีพ มันคือ “ใบทวิ 50” ที่นายจ้างจะออกให้เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าคุณได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะถูกหักออกจากจำนวนภาษีสิ้นปีที่คุณต้องจ่าย และถ้าคุณถูกหักภาษีส่วนนี้มากเกินกว่าจำนวนภาษีสิ้นปีที่คำนวณออกมาได้ คุณจะได้รับเงินคืน เนื่องจากเป็นส่วนที่ทางรัฐกำหนดไว้เพื่อลดจำนวนเงินก้อนที่คุณต้องจ่ายจำนวนมากในครั้งเดียวของการเสียภาษี เพราะฉะนั้น ทั้งมนุษย์เงินเดือนและฟรีแลนซ์ จงเก็บรวบรวมใบทวิ 50 ไว้ใช้ตอนยื่นภาษีด้วย ไม่อย่างนั้นอาจทำให้เจอกับภาษีย้อนหลังและอดได้เงินคืนภาษีด้วยนะ
ไม่มีพร้อมเพย์
ยุคนี้สมัยนี้มันเป็นยุคดิจิทัล ทำให้กรมสรรพากรยกเลิกการคืนเงินภาษีด้วยเช็คทางไปรษณีย์แล้ว ดังนั้น หากต้องการได้เงินคืนภาษีเร็ว คุณควรสมัครบริการพร้อมเพย์ไว้ จะทำให้คุณได้เงินคืนเร็วขึ้นมาก ๆ และขั้นตอนไม่ยุ่งยาก โดยเงินคืนภาษีของเราจะถูกโอนเข้าบัญชีที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ (ด้วยเลขบัตรประชาชน) ไว้ แต่หากไม่มีพร้อมเพย์ ให้นำหนังสือแจ้งคืนภาษีไปติดต่อที่ธนาคารกรุงไทย เพื่อนำเงินภาษีเข้าบัญชี และถ้าไม่มีบัญชีธนาคารอีก สามารถติดต่อขอเงินคืนภาษีที่ธนาคารกรุงไทย โดยไปติดต่อกับทางธนาคาร พร้อมทั้งเตรียมหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีที่สรรพากรจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ และบัตรประจำตัวประชาชน (หรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง) ไปด้วย
ยื่นภาษีผิด
ถ้าคุณมองว่ามันหมดยุคที่จะมีรายได้ทางเดียวแล้ว แต่เราควรจะมี 3 อาชีพ อาชีพหลัก อาชีพรอง อาชีพเสริม การที่คุณรับรายได้หลายทาง รายได้จากทุกทางที่คุณรับจะต้องถูกนำมาคำนวณภาษีรวมทั้งหมด ฉะนั้น รายการเสียภาษีของคุณและเอกสารที่ต้องนำมาใช้ประกอบการยื่นภาษีมันเลยค่อนข้างเยอะ และทำให้คุณสับสนกรอกรายละเอียดการยื่นภาษีผิดไป แต่ไม่ต้องกังวล เพราะคุณสามารถทำเรื่องยื่นใหม่ทั้งหมดได้ (สำหรับผู้ที่ยื่นเป็นเอกสาร) กรณีที่ยื่นผ่านออนไลน์ สามารถกด “ยื่นเพิ่มเติม” ได้เลย และหลังจากยื่นภาษีภาษีแล้ว เงินส่วนที่ได้รับคืนมา หากตรวจสอบแล้วพบข้อผิดพลาด ให้ติดต่อกรมสรรพากรเพื่อพิจารณาข้อมูลการยื่นภาษีของคุณอีกครั้ง
ยื่นภาษีล่าช้าเกินเวลาที่กำหนด
ข้อควรระวังอีกอย่างหนึ่งในการยื่นภาษีก็คือ ตรวจเช็กวันที่ตามปฏิทินให้ดี ๆ เพราะการยื่นภาษีมีช่วงเวลาที่เฉพาะเจาะจง และทางกรมสรรพากรก็เปิดให้ระยะเวลาในการยื่นแบบเอกสารนานถึง 3 เดือน (1 มกราคมจนถึง 31 มีนาคมของทุกปี) ซึ่งถ้าใครประสงค์จะยื่นแบบเอกสารแต่ไม่ทัน ก็ยังพอเหลือเวลาให้ได้ยื่นผ่านออนไลน์อีกประมาณ 1 สัปดาห์ เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่ทันอีก ทีนี้จะมีความผิดและต้องได้รับโทษแล้วนะ ทำให้คุณต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือร้อยละ 18 ต่อปี ของจำนวนเงินภาษีที่คุณต้องชำระ (ถ้ามีเศษของเดือนให้นับเป็นเท่ากับ 1 เดือน) โดยจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่หมดเขตยื่นภาษีถึงวันที่เพิ่งมายื่นภาษี และยังมีค่าปรับอีกไม่เกิน 2,000 บาทด้วย