คุณมีโอกาศแค่ 8.25 วินาที ในยุคดิจิทัลเอจ

สัปดาห์ที่แล้วได้เขียนถึงการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Influencer ซึ่งมีแนวโน้มว่าปี 2566 นักการตลาดจะหันไปให้ความสนใจ Nano Influencer ที่มีจำนวนต่ำกว่า 10,000 ราย สัปดาห์นี้เลยอยากยกเอาบทสำรวจดังกล่าวมาคุยกันต่ออีกนิด หลังจากที่ได้เห็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม รวมไปถึง แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอ ต่างมี Contentsในลักษณะ Short Clip, Short Video กันครบทุกแพลตฟอร์ม แม้แต่ทวิตเตอร์ ที่เคยให้ความสำคัญกับ ข้อความมากกว่าก็เปิดตัว Short Video กับเขาด้วยเหมือนกัน

ตามรายงานเทรนด์ดิจิทัลมาร์เก็ตติง ที่ได้เขียนให้คุณผู้อ่านได้รับทราบกันไปเมื่อสัปดาห์ก่อน มีข้อหนึ่งในเทรนด์ที่ระบุว่า คลิปสั้นหรือวิดีโอที่มีความยาวไม่เกิน 2 นาทีจะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะส่งผลต่อแบรนด์ในการทำให้เกิดความสนใจ ซึ่งค่าเฉลี่ยเวลาที่จะทำให้ผู้คนสนใจคลิปนั้นได้จะอยู่ในช่วงเวลา 8.25 วินาที!

ใช่ค่ะเวลาที่ไม่ถึง 10 วินาที!!! ซึ่งนั่นหมายความว่า คนตัดต่อจะต้องตัดเอาท่อนฮุก หรือช่วงที่สามารถ “ตกคนดู” ขึ้นมานำโดยไม่ต้องมี Intro ใด ๆ ทั้งสิ้น หากเป็นเพลงท่อนฮุก ต้องสามารถสร้าง Earworm หรืออาการติดหูทันที

ยกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดเวลานี้คงหนีไม่พ้น เพลง “ทรงอย่างแบด” ของวง Paper Planes ที่กำลังกลายเป็นขวัญใจวัยรุ่นฟันน้ำนม เพราะมีองค์ประกอบที่ทำให้เกิดไวรัลครบถ้วน เริ่มจากเนื้อเพลงและทำนอง ที่สามารถสร้าง earworm ได้ไม่ยาก ประกอบกับจังหวะดนตรีที่ทำให้คนฟังสามารถร้องร่วมไปได้ ประกอบกับคลิปสั้น อันเริ่มต้นมาจากเด็ก ๆ วัยประถมที่แสดงความสามารถในการตีกลอง อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะคนที่ได้ดูคลิปต่างทึ่งในความสามารถของเด็ก ๆ

จากนั้นสื่อในทุกแพลตฟอร์มจึงเปิดคลิปดังกล่าว เพลงดังกล่าววนซ้ำไปมา จากรายการเล่าข่าวที่มีอยู่ประมาณสิบกว่าช่องในดิจิทัลทีวี ไล่ไปจนถึงเพจข่าว เพจเล่าข่าว ช่องยูทูบ ยูทูบเบอร์ ติ๊กต่อกเกอร์ เอาไปเล่นเป็นมีม ปรากฏการณ์ “เพลงชาติวันเด็ก” จึงเกิดขึ้น และถึงตรงนี้ต้องให้เครดิตกับนักร้องและนักดนตรีวง Paper Planes นะคะ ที่สามารถสร้างสรรค์งานจนประสบความสำเร็จได้

แต่เมื่อเหรียญมีสองด้าน การใช้คลิปสั้นเพื่อสร้างกระแสให้กับแบรนด์ สร้างความสนใจได้เป็นวงกว้างก็จริง อีกด้านหนึ่งเราก็ต้องยอมรับว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ชมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเด็กรุ่นดิจิทัล ที่เติบโตมาพร้อมกับโซเชียลมีเดีย ดังที่เคยเกิดขึ้นกับการอ่าน ที่ยุคนี้คือยุคที่คนทั่วไปมีสมาธิการอ่านที่สั้นและอ่านหนังสือไม่แตกเยอะมาก

ผลของการชมคลิปสั้นมาก ๆ จะทำให้เกิดการเสพติด มือของคุณจะปัดขึ้นอัตโนมัติเพื่อหาคลิปที่จะตอบสนองความสนใจของตนเอง คุณจะนั่งปัดเพื่อดูคลิป เป็นระยะเวลายาวนานโดยควบคุมตัวเองไม่ได้ ยิ่งชมมากก็จะทำให้สมาธิในการจดจ่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งยิ่งสั้นลง รู้สึกพอใจในชีวิตของตนเองน้อยลง และส่งผลต่อการมองโลกในแง่บวกต่ำลงจากเดิม

และแน่นอนว่าส่งผลต่อการเสพงานในประเภทอื่นในรูปแบบของวิดีโอ ที่คุณจะไม่สามารถอดทนเพื่อรอให้เนื้อหาถึงจุดไคล์แม็กซ์ด้วยการเล่าเรื่อง หากแต่คุณจะกดรีโมทให้ fast forward เพื่อไปให้ถึงจุดที่คุณคิดว่าจะสนองความใคร่รู้ของตนเอง อันทำให้ซีรีส์ทุกวันนี้มีเนื้อหาที่สั้นลง จากที่เคยต้องดูกันถึง 20-24 episode ในอดีต ความนิยมในปัจจุบันคือ 8-12 episode ความยาวต่อ episode ก็จะสั้นลง ไม่ถึง 50 นาที

ดูเหมือนว่ายุคดิจิทัลเอจ จะเป็นยุคที่ผู้คนได้สำเร็จความใคร่ทางอารมณ์ได้เร็วขึ้นกว่าเดิม จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นข้อความการแสดงความรู้สึกอยากเหมือนคนอื่นอยู่บ่อยครั้ง ได้เห็นเหยื่อที่เกิดจากความโลภ และการหลอกลวงได้ทุกวัน และเป็นยุคที่ผู้คนฟังแต่เสียงของตนเองโดยไม่สนใจว่าถูกหรือผิดจนกลายเป็นเรื่องปกติ และนี่คืออีกด้านหนึ่งของยุคดิจิทัลเอจ หวังว่าคุณจะมีความสุขกันดีนะคะ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ