“ChatGPT” AI Chatbot สุดล้ำที่ขนาด Google ยังกลัว ๆ

ความเป็นไปในแวดวงเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมา ต้องบอกว่า AI มาแรงแซงทางโค้งมาก สามารถแทรกซึมเข้าไปมีบทบาทได้ในทุกวงการ แถมยังเก่งกล้าสามารถขนาดที่ทำเอามนุษย์จำนวนไม่น้อยถึงกับเหวอ เพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่ามันจะทำอะไรล้ำ ๆ เจ๋ง ๆ ได้ถึงเพียงนี้ จนหวั่น ๆ กันแล้วว่าหาก AI ถูกพัฒนาและใช้งานอย่างไร้การควบคุม มนุษยชาติอาจจะเดือดร้อนกันหมดก็เป็นได้

ที่เป็นที่ฮือฮาสุดเมื่อไม่นานที่ผ่านมา หลายคนน่าจะคุ้น ๆ กับ AI ที่เรียกกันว่า ChatGPT มันคือแชตบอตที่สามารถทำได้แทบทุกอย่าง ตั้งแต่ประมวลผลคำถาม ค้นหาคำตอบ และตอบคำถามกลับได้อย่างแยบคาย กิตติศัพท์ที่คนพูดถึง ChatGPT ไม่ได้มีแค่นี้ เพราะว่ามันยังสามารถเขียนบทความ เขียนเนื้อเพลง เขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในหลากหลายภาษา ทำสคริปต์ เขียนสูตรทำอาหาร จัดตารางเที่ยว ฯลฯ จบงานทุกอย่างได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที อีกทั้งยังสามารถพูดคุยกับมนุษย์และแสดงอารมณ์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนเรากำลังคุยอยู่กับคนจริง ๆ เลยทีเดียว

ในขณะที่ใครหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าเจ้า ChatGPT นี้คืออะไร น่ากลัวขนาดไหน บอกเลยว่ามันธรรมดาแน่นอน เพราะแม้แต่ Google ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีอันดับต้น ๆ ของโลกก็ยังหวั่นไหวกับเจ้า ChatGPT ในขั้นที่เตรียมพร้อมต่อสู้กับ ChatGPT เพื่อปกป้อง search engine ตัวเอง รวมถึงการเร่งพัฒนาตัวแชตบอตของ Google เองด้วย เพื่อไม่ให้ถูกนำหน้าไปมากกว่านี้

ChatGPT นำเสนอความล้ำของ AI ที่ไปไกลจนเกินคาด

สำหรับ ChatGPT นี้ พัฒนาขึ้นโดยบริษัท OpenAI ของอีลอน มัสก์ เป็นโปรแกรมแชตบอตที่ทำงานโดย AI ทำหน้าที่ในการตอบคำถามกับผู้คน ซึ่ง AI ตัวนี้ใช้เทคโนโลยี Machine Learning ร่วมกับการเรียนรู้โดยอาศัยการตอบกลับของมนุษย์ (Reinforcement learning from human feedback: RLHF) มันสามารถคัดเลือกเอาข้อมูลจำนวนมหาศาลที่สามารถรวบรวมได้จากอินเทอร์เน็ตมาตอบคำถามหรือทำงานบางอย่างตามที่เราร้องขอจากมัน การที่ถูกฝึกฝนให้ได้เรียนรู้กับฐานข้อมูลขนาดใหญ่มากเท่าที่อินเทอร์เน็ตจะค้นเจอได้ ทำให้คำตอบหรือผลงานของ ChatGPT มีความซับซ้อนและเหนือชั้นมาก จนดูเหมือนว่าอาจจะเหนือกว่าคำตอบของมนุษย์ไปเสียแล้วด้วยซ้ำ

ความสามารถของ ChatGPT ที่ถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์เมื่อช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ โด่งดังในระดับที่คนทั่ว ๆ ไปซึ่งไม่ได้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีก็พอจะได้ยินมาบ้าง และอาจได้เห็นผลงานของมันจากการรีวิวของผู้ที่ลองใช้งาน สารพัดสิ่งที่ได้ออกมาจาก ChatGPT ทำให้มองไปไกลได้ถึงขั้นว่าจะมีอาชีพอะไรบ้างที่ได้รับผลกระทบ เพราะถ้าแค่ป้อนคำสั่งไม่กี่คำแล้ว AI สามารถทำงานให้เราได้ราวกับมันมีสมองที่เทียบเท่ามนุษย์อัจฉริยะ ก็แปลว่าในอนาคตอาจไม่ต้องพึ่งพามนุษย์ทำงานอีกต่อไปแล้วก็ได้ หลายสิ่งที่ AI ทำได้ในนาทีนี้ มนุษย์บางคนยังทำไม่ได้เลยด้วยซ้ำไป

เป้าหมายของการพัฒนา AI ขึ้นมา คือการให้มันทำงานเลียนแบบมนุษย์อยู่แล้ว แต่ ChatPT กลับเก่งกาจเหมือนกับกับเอาคนตัวเป็น ๆ มานั่งคุยกับเรา จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนในหลากหลายสายอาชีพจะตื่นตกใจ หากสิ่งที่คนเหล่านี้ทำเป็นอาชีพอยู่ทุกวัน จู่ ๆ ChatGPT ก็เข้ามา “ทำแทน” ได้ แถมยังทำได้ดีกว่า ประหยัดเวลากว่า คำถามคือแล้วจะต้องใช้มนุษย์ทำงานเพื่ออะไรล่ะ มนุษย์ยังจำเป็นอยู่ไหมในนาทีนี้

แต่ก็อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะ ChatGPT ยังมีขอบเขตที่จำกัดในการหน้าที่ของมัน พูดง่าย ๆ ก็คือ ChatGPT ก็ไม่ได้รู้ไปเสียทุกเรื่องขนาดนั้น มันอาจจะปฏิเสธที่จะตอบคำถามที่เราถามไป เพราะมันเองก็ไม่รู้จะไปค้นหาข้อมูลจากไหนมาตอบ หรือมันอาจจะให้คำตอบผิด ๆ กับเราก็ได้เช่นกัน รวมถึงสิ่งที่ทำให้ ChatGPT แตกต่างจาก AI อื่น ๆ คือ มันสามารถที่จะปฏิเสธตอบคำถามกับเรา หากข้อมูลเหล่านั้นเป็นอันตรายหรืออาจนำไปสู่กิจกรรมที่ผิดกฎหมาย ในกรณีนี้ ChatGPT รู้คำตอบอยู่แล้ว แต่เลือกที่จะไม่ตอบเราเพื่อไม่เรานำข้อมูลไปใช้ประโยชน์

และทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ ChatGPT ตอบกลับเรามาก็ไม่ได้แปลว่าจะถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์เสมอไป จงอย่าเชื่อข้อมูลทุกอย่างที่หาได้จากอินเทอร์เน็ตโดยไม่ใช้วิจารณญาณ เชื่อโดยไม่ฉุกคิด เพราะการที่เราเชื่อสนิทใจว่าข้อมูลที่ ChatGPT ตอบเรากลับมานั้นถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่ต่างอะไรกับการเสพข่าวปลอมต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตนั่นแหละ ดังนั้น จึงไม่เหมาะที่จะนำไปใช้อ้างอิงใด ๆ หรือนำไปใช้ในวงการวิชาการ เกิดเจอคนที่เขามีความรู้จริง ๆ เข้า มันจะโป๊ะเอาได้

การที่ ChatGPT จะคุยกับเราได้ มันก็จะต้องไปค้นหาคำตอบจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่บนอินเทอร์เน็ตเท่าที่มันจะสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งถ้าสิ่งที่เราถามไปยังไม่มีข้อมูลใด ๆ บนอินเทอร์เน็ต มันจะไปเอาคำตอบที่ไหนมาตอบเรากันล่ะ ในเมื่อไม่มีข้อมูลให้ดึงมาตอบ มันก็คุยหรือเสนองานอะไรให้เราไม่ได้ มันก็อาจจะเอ๋อ ๆ ไปแบบที่เราก็ไปไม่เป็น ถ้าไม่สามารถใช้ Google ค้นหาคำตอบของคำถามที่ถูกถามได้

ล้ำไม่ล้ำ แม้แต่ Google ยังกลัว ๆ

อย่างที่บอกไปก่อนหน้า ว่าความสามารถของ ChatGPT นั้นหลากหลายมาก ทั้งแต่งเพลง เขียนบทความ ทำสูตรอาหาร ไปจนถึงการเขียนโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันทางบริษัท OpenAI ได้จำกัดประสิทธิภาพของ ChatGPT เอาไว้ รวมถึงจำกัดขอบเขตของข้อมูลไว้อยู่ที่ปี 2021 นั่นหมายความว่าถ้าเราถามข้อมูลที่เกิดขึ้นในปี 2022 นี้ ChatGPT ก็จะไม่มีคำตอบที่จะตอบเรา แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้แปลว่าประสิทธิภาพของ ChatGPT จะถูกจำกัดตลอดไป ในอนาคตอันใกล้ อาจมี ChatGPT ตัวเต็ม ที่มีศักยภาพในขั้นที่เปลี่ยนโลกได้ออกมาอย่างแน่นอน

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความเก่งกาจของ ChatGPT ทำให้ Google รู้สึกว่าตนเองต้องรีบกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้เจ๋งกว่าเดิม ก่อนที่ ChatGPT จะล้ำหน้าไปมากกว่านี้ เพราะสิ่งที่ ChatGPT เป็นในเวลานี้ มีลักษณะบางอย่างที่คาบเกี่ยวการเป็น search engine นั่นเอง การที่เราถามสิ่งที่สงสัยกับ ChatGPT มันก็จะทำหน้าที่ค้นหาคำตอบจากทุกที่ที่หาได้ในฐานข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต แบบเดียวกับที่เราสงสัยอะไรก็ถาม Google นั่นเอง แต่สิ่งที่ Google ให้เราไม่ได้ คือการสรุปข้อมูลทั้งหมดที่หาได้เป็นคำตอบเดียวให้เราอ่าน หรือออกแบบงานแทนเราออกมาเลย ซึ่ง ChatGPT สามารถทำเช่นนี้ได้ เราไม่ต้องไปไล่เปิดทีละเว็บไซต์เพื่อหาคำตอบเอง!

ลองจินตนาการว่าเรากำลังทำรายงานส่งครูก็ได้ สมัยก่อนเราจะเข้า Google เพื่อหาข้อมูลต่าง ๆ ที่ต้องการจะรู้จากหลาย ๆ เว็บไซต์ที่ขึ้นมาในหน้าการค้นหา แล้วนำข้อมูลทั้งหมดทั้งมวลนั้นมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เรียบเรียง ประมวลผล สร้างองค์ความรู้ใหม่ และสรุปเอาเองถูกไหม (หรือบางคนจะคัดลอกและวางมาทั้งดุ้นเลยก็ตามที) แต่ถ้าเราใช้งาน ChatGPT เราไม่จำเป็นต้องมาดำเนินกระบวนการต่าง ๆ เหล่านั้นด้วยตนเองอีกต่อไป AI จะทำขั้นตอนพวกนั้นให้เอง แล้วนำเสนองานฉบับสรุปเรียบร้อยแล้วมาให้เรา ได้เป็นชิ้นงานที่แทบจะพร้อมส่งครู ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว

กระบวนการนี้เกิดมาจากการที่ AI ถูกอบรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกว่ามันจะสามารถเชื่อมโยงเอาข้อมูลทุกอย่างที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ตมาปะติดปะต่อเรื่องราว ร้อยเรียง และสร้างเป็นข้อมูลใหม่สำเร็จที่มันเข้าใจว่าถูกต้องแล้วให้กับเรา การอบรม AI เกิดจากการที่ผู้สร้างพยายามปรับแต่งโปรแกรมของมันให้เป็นเวอร์ชันที่น่าพอใจที่สุด ในการตอบคำถามและให้ข้อมูลแบบที่เราต้องการ ถูกฝึกโดยผู้สร้างที่เป็นมนุษย์แบบเรา เพื่อให้เชื่อมต่อข้อมูลที่มันมีได้อย่างเหมาะสม จากที่เคยตอบถูกบ้างผิดบ้าง แต่ผู้สร้างจะพัฒนาให้มันตอบถูกมากกว่า และการที่ตอบถูกแบบด้วยความมั่นในระดับผู้รู้แจ้งขนาดนี้ มันจึงเหนือกว่าสิ่งที่ Google มอบให้เราในเวลานี้

“อยากรู้อะไรให้ถาม Google” คือวลีที่เราคุ้นเคยกันดีตั้งแต่รู้จักกับอินเทอร์เน็ต ความรู้ทุกอย่างสามารถหาได้จาก Google ซึ่งในเวลานี้ก็ยังเป็น search engine อันดับหนึ่งของโลกอยู่ แม้ว่า Google จะมีอัลกอริธึมในการรวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ มากมาย และมีการค้นหาคีย์เวิร์ดที่แม่นยำกว่า search engine ของบริษัทคู่แข่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมาถึงของ ChatGPT มันทรงพลังมากกว่ามาก ด้วยความสามารถที่มันทำให้เราได้ จนเหมือนจะมองเห็นอนาคตอันใกล้ว่า “อยากรู้อะไรให้ถาม ChatGPT” เข้าเสียแล้ว เพราะถามอะไรมันก็ตอบได้!

จุดนี้เองที่ทำให้ Google ต้องเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปิดความห่างชั้นทางเทคโนโลยีของตนเองกับ ChatGPT รวมถึงผลิตภัณฑ์ AI แชตบอตที่บริษัทกำลังซุ่มพัฒนาอยู่ ซึ่งก็คือ LaMDA Chatbot เพื่อให้เป็นคู่ต่อสู้ประเภทเดียวกันกับ AI Chatbot อื่น ๆ

มีรายงานของ The New York Times ระบุว่า Sundar Puchai ซึ่งเป็น CEO ของ Google เรียกประชุมภายใน อยู่หลายครั้ง ในการจัดลำดับความอันตรายของ AI ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะ ChatGPT ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการค้นหาข้อมูลเป็นหลัก แต่หากคนถามตั้งคำถามดี ๆ จนทำให้ ChatGPT สามารถตอบกลับและให้ข้อมูลสำคัญ ๆ ครบถ้วนสมบูรณ์ แถมเรียบเรียงมาให้ในรูปแบบที่คนถามต้องการ มันเท่ากับว่าคนคนนั้นจะไม่จำเป็นต้องพึ่งการหาข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ผ่าน Google อีกต่อไป ChatGPT จึงกลายเป็น “Code Red” ที่ทำให้ Google นั่งไม่ติดโดยทันที

ข้อมูลจาก Gizmodo