“มันเป็นเรื่องน่าอึดอัดนะ ที่เราต้องมานั่งฟังคนที่ไม่เคยมีความรู้หรือประสบการณ์ในงานที่เราทำ แล้วมาแสดงความคิดเห็นประหนึ่งผู้เชี่ยวชาญ ทั้งที่ความคิดเห็นเหล่านั้นถอดใจความมาจากข้อความหรือ Comment ในโซเชียลมีเดีย ชนิด Copy & Paste กันมาเลยทีเดียว”
ผู้เขียนเอ่ยประโยคแกมบ่นแบบเซ็งอารมณ์นี้กับรุ่นพี่ที่เคารพ หลังจากเห็นสถานการณ์บางอย่างแล้ว บนหน้าฟีดตนเองเต็มไปด้วยทัศนะจาก “ผู้พยายามจะเชี่ยวชาญ” เต็มไปหมด ประกอบกับได้ยินคนรอบข้างที่พยายามจะแสดงความคิดเห็น ทั้งที่ยังไม่เคยแม้แต่จะอ่านรายละเอียดที่มาที่ไปของเรื่องนั้นให้ชัดเจนเสียด้วยซ้ำ
เรากำลังอยู่ในสังคมที่ทั้งสื่อ (บางเจ้า) และคนเสพสื่อ (ที่ไม่ใช่ทั้งหมดหากแต่เป็นหลายคน) อยู่ในสภาวะที่เรียกว่า Dunning Kruger Effect หรือทฤษฎีหลุมแห่งความกลวง ใครสนใจอ่านเนื้อหาเต็ม ๆ ของทฤษฎีนี้คลิกได้ตามลิงก์เลยค่ะ
ทฤษฎีหลุมแห่งความกลวง ถ้าเรียกแบบชาวบ้านเข้าใจก็ต้องบอกว่าเป็น พฤติกรรมประเภทมั่นหน้ามั่นโหนกจนเกินเหตุ เพราะที่รู้ก็รู้ไม่จริงแต่พยายามบอกว่าตัวเองรู้ และแสดงให้โลกรู้ด้วยว่าตนเองนั้นรู้ (แบบผิด) จนเกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด และความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องอันเกิดจากความไม่รู้จริง แต่คิดว่าตนเองนั้นรู้
Dunning Kruger Effect นั้นมีผู้เป็นเจ้าของทฤษฏีคือ David Dunning และ Justin Kruger นั้น บอกว่าพื้นฐานของผู้ที่จะมีพฤติกรรมนี้ จะเกิดขึ้นจากการให้ค่าเกินจริงของบุคคลต่อความรู้ที่ตนเองมีอยู่ และมักจะคิดว่าตนเองรู้ ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่เคยมีทักษะหรือลงมือทำ แต่เพราะให้ค่าความสามารถตนเองชนิด Overestimate มากเกินไปทำให้บุคคลดังกล่าวคิดว่าเป็นเรื่องไม่ยาก
ในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าอาชีพอะไร ทำงานประเภทไหน ล้วนแล้วต้องมีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะทั้งสิ้น คนที่ไม่เคยทำ หากแต่อยู่ในจำพวก Dunning Kruger Effect นั้น มักจะคิดว่าสิ่งคนอื่นทำไม่ใช่เรื่องยาก เหมือนการทำอาชีพสื่อ ที่หลายคนคิดว่าไม่เห็นจะมีอะไรยาก “ฉัน” ก็ทำได้ หรือเป็นผู้บรรยายกีฬา ไม่เห็นจะมีอะไรยาก “ฉัน” ก็ทำได้ หรือเป็น “พิธีกรรายการ” ที่ไม่เห็นจะมีอะไรยาก ยูทูบเบอร์เต็มบ้านเต็มเมือง “ฉัน” ก็ทำได้
ถ้าคุณเป็นพวก “ฉัน” ก็ทำได้…ลองกลับไปซื่อสัตย์กับตนเอง เพื่อให้คุณจะได้ไม่เป็นพวก Dunning Kruger Effect ดูนะคะ อย่างอาชีพสื่อ (หมายถึงสื่อจริง ๆ มีต้นสังกัดรับรอง) อาชีพนี้มาพร้อมกับความรับผิดชอบ มีแหล่งข่าวที่เป็นตัวตน สามารถยกหูโทรศัพท์หาได้ ไม่ใช่อ้างแหล่งข่าวจากโพสต์บนอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์
หรือถ้าคุณบอกว่าฉันดูกีฬามาเยอะ เล่นกีฬามามาก เป็นผู้บรรยายกีฬางานง่าย ๆ สบาย ๆ เดี๋ยวก็ได้เงินแล้ว พี่ก็ขอเบรกน้องที่กำลังมีความมั่นใจแบบ Dunning Kruger Effect เอาไว้ด้วยคำถามที่ว่า น้องสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ในระดับไหน ฟังเสียงจากในหูแล้วแปลพร้อมกับพากย์ในเวลาเดียวกันได้ไหม ออกเสียงภาษาไทยชัดหรือยัง หรือ รู้จักจังหวะไหมว่าตรงไหนต้องพากย์ตรงไหนต้องเงียบ หรือถ้าไม่มีเสียง Soundtrack มาให้เลยคุณบรรยายได้ไหม
ผู้เขียนเคยทดสอบคนที่มีสไตล์ Dunning Kruger Effect กับงานพากย์ หลังจากที่เขาพยายามจะขายความสามารถว่ามีมากอย่างล้นเหลือ ผลที่ได้คือตายหน้าไมค์ (ไม่สามารถบรรยายได้ เพราะตื่นเต้นจนไม่รู้ว่าจะพากย์อะไร) หรืออีกประเภท ใส่ไม่ยั้งแต่ก็ไม่ผ่านอยู่ดี เพราะตื่นเต้นจนพูดวกไปวนมา…ถึงจุดนี้คงมีเสียงร้องขึ้นมาว่า “อ้าว! ก็ไม่เคยทำมาก่อนพี่ก็สอนสิ” พี่ก็จะตอบว่า “อ้าว! น้องบอกน้องทำได้ น้องต้องมืออาชีพสิคะ นี่โลกจริง ไม่ใช่โลกเสมือน”
เช่นเดียวกับงานพิธีกร ที่หลายคนคิดว่าตนเองมีความสามารถพอ เป็น Youtuber ทำ Vlog ของตนเอง เป็นพิธีกรไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก…และใช่ค่ะ ในฐานะ Producer ทางเราเคยเอามาทดสอบแล้ว ให้จัดรายการจริงเลย ผลที่ได้ น้องไม่รู้ว่าสคริปต์คืออะไร เจอกับ Running Order ก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ต้องมองกล้องไหน จังหวะไหนควรแทรก สุดท้ายแล้วมันก็ไม่สนุกอย่างที่หลายคนคิดไว้ (แต่เราเตือนไว้แล้วว่าพิธีกรกับ Youtuber มันคนละเรื่องกัน)
เล่าให้ฟังกันพอหอมปากหอมคอล่ะค่ะ เพราะทุกวันนี้เราอยู่ในสังคมที่ผู้คนมีพฤติกรรมแบบ Dunning Kruger Effect กันเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะความรู้ที่เข้าถึงง่ายด้วยการ Search Google แต่เอาเข้าจริงแล้ว ข้อมูลจาก Google Search หรือแม้กระทั่งบทความรีวิวนั้นมีต้นทางมาจากที่ไหนเชื่อถือได้เพียงใดก็ไม่มีใครการันตีได้
สังคมแบบ Dunning Kruger Effect นั้นมักจะเริ่มด้วยการสนับสนุนความคิดเห็นของคนที่เหมือนจะมีความรู้แต่รู้ไม่จริง เมื่อมีคนสนับสนุนกันมากขึ้น ก็ทำให้ความรู้ผิด ๆ นั้นได้รับการยอมรับว่าจริง สุดท้ายก็พากันมีความเชื่อแบบตรรกะพังพินาศกันไปทั้งสังคม
แต่เอาเข้าจริงก็คงไปไม่ถึงขั้นนั้นกันหรอกค่ะ เพราะแม้จะมีพวก Dunning Kruger Effect อยู่เป็นจำนวนมาก หากคนที่รู้จริงแต่ไม่อวดภูมิก็มีจำนวนไม่น้อย คนเหล่านี้จะไม่โต้แย้งกับพวก Overestimate ด้วยตัวเอง เพราะพวกเขามองว่าไม่ได้เกิดประโยชน์อันใด ปล่อยให้ปลาหมอตายเพราะปากไปเองดีกว่า นั่นละค่ะจุดจบพวก Dunning Kruger Effect ที่สุดท้ายต้องพลาดเพราะความไม่รู้แต่อวดรู้ของตนเอง
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ