สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นรายงานข่าวจากสถานีโทรทัศน์เกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทย ที่ระบุว่าประเทศไทยติดอันดับที่ 97 จาก 111 ประเทศทั่วโลก จัดเป็นกลุ่มที่ใช้ภาษาอังกฤษในประสิทธิภาพต่ำ และเป็นอันดับที่ 21 จาก 24 ประเทศในเอเชีย
เป็นรายงานที่น่าตกใจนะคะ หากหันกลับไปดูต้นตอของปัญหากับการเรียนภาษาอังกฤษในเมืองไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีงบประมาณระดับสามแสนกว่าล้านบาท (มากกว่ากระทรวงกลาโหมและมหาดไทยเสียด้วยซ้ำ)
เอาเข้าจริง เรื่องภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองของคนไทยนั้นมีปัญหามานานมากแล้ว เหมือนสำนวนที่ว่า “Elephant in the room” (ปัญหาอยู่ตรงหน้าแต่ไม่มีใครสนใจกัน) เพราะเอาเข้าจริงหลักสูตรการเรียนภาษาอังกฤษในเมืองไทยที่เริ่มกันตั้งแต่ชั้นประถมนั้น เน้นไปที่การเรียนในลักษณะยัดเยียดให้เรียน มากกว่าจะให้เรียนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ทุกวันนี้เด็ก ๆ ที่เรียนภาษาอังกฤษเมื่อถึงเรื่อง Tense จะร้องยี้เป็นยาขมเลยทีเดียว
นอกเหนือจากรูปแบบการเรียนที่ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าเป็นของแสลง จำนวนนักเรียนต่อหนึ่งห้องที่มีมากกว่า 20 คนทำให้ความเข้าใจไปไม่ทั่วถึง แต่เหนืออื่นใดคือทัศนคติของเด็กไทย ที่ไม่กล้าที่จะพูดหรือใช้ภาษาอื่น เพราะจะรู้สึกอายหากพูดผิดหรือถูกมองว่าไม่ฉลาดจากครูผู้สอน
แต่ที่แย่ที่สุดคือสื่อมวลชนภาษาอังกฤษในเมืองไทยมีจำนวนน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นวิทยุภาคภาษาอังกฤษที่ปัจจุบันเหลือเพียงสถานีเดียว หรือแม้แต่ทีวีดิจิทัลภาคภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ปรากฏให้เห็นแล้วในปัจจุบัน (ในอดีต สทท.11 เคยทำข่าวภาคภาษาอังกฤษ แต่ปัจจุบันน่าจะหยุดไปแล้ว)
เมื่อปัญหาทุกอย่างหลอมรวมกันเป็นเหตุปัจจัย ที่ทำให้ภาษาอังกฤษกับคนไทยกลายเป็นของแสลง เด็กนักเรียนไทย หรือคนไทยที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษในปัจจุบันจึงต้องบ่ายหน้าไปหาโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ ที่ฐานะดีหน่อย ทางบ้านมีกำลังพอก็สามารถให้เด็ก ๆ เข้าเรียนในโรงเรียนแบบสองภาษาหรือโรงเรียนนานาชาติได้
ในยุคที่ผู้เขียนเริ่มเรียนภาษาอังกฤษ ต้องถือว่าเป็นความโชคดีของตนเอง เพราะนอกจากได้เรียนในโรงเรียนคอนแวนต์ที่เข้มข้นเรื่องภาษาอยู่แล้ว วิธีการทำให้คุ้นเคยกับภาษาจากพ่อของผู้เขียน ด้วยการเปิดวิทยุคลื่นภาษาอังกฤษให้ฟังทุกเช้า ดูภาพยนตร์ต่างประเทศที่เป็น Soundtrack (เสียงในฟิล์ม) เปิดเพลงสากลให้ฟัง เหล่านี้คือสิ่งที่ผู้เขียนมาเข้าใจภายหลังจากนักวิชาการ ว่าคือการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ
เมื่อโตขึ้นและเรียนจบจนได้ทำงานกับหัวหน้าที่เป็นชาวต่างชาติ มีครั้งหนึ่งผู้เขียนถูกถามว่า “ทำไมถึงใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารได้ดี” ผู้เขียนก็ตอบไปตามความเป็นจริงว่า “ก็เรียนจบภาษาศาสตร์มาไม่ใช่เรื่องแปลก” แต่หัวหน้าชาวต่างชาติให้เหตุผลที่ถามว่า “เรื่องนั้นฉันรู้อยู่แล้ว แต่เธอกลับใช้ได้ดีกว่าปกติเธอไปเรียนพิเศษที่ไหนหรือเปล่า” ผู้เขียนตอบไปว่า “ไม่มี” และพูดต่อด้วยความภูมิใจว่า “เรียนภาษาอังกฤษในเมืองไทยนี่แหละ เพียงแต่ได้ใช้บ่อยเลยทำให้สื่อสารได้อย่างที่เห็น”
ทำไมถึงภูมิใจที่เรียนภาษาอังกฤษในเมืองไทยแล้วใช้งานได้จริง เพราะมันคือบทพิสูจน์ให้เห็นว่า หลักสูตรการเรียนภาษาอังกฤษที่ประสบผลสำเร็จในเมืองไทยนั้นมีอยู่จริง แม้ว่าจะเป็น English as a second language ที่ต่างจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร แต่การใช้ภาษาอังกฤษจากหลักสูตรในเมืองไทยก็ทำให้เราสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานต่างภูมิภาคได้
ทั้งนี้การใช้ภาษาอังกฤษจะดีหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักสูตรการเรียนแต่เพียงอย่างเดียว แต่เขียนมาถึงบรรทัดนี้คุณผู้อ่านคงเห็นแล้ว ว่าทัศนคติของคนไทยที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองต้องหันมาปรับวิธีคิดกันสักนิด และทำความเข้าใจกันใหม่ว่าภาษาอังกฤษนั้นจะทำให้โลกของผู้เรียนกว้างขึ้นกว่าที่เห็นอยู่แค่ตรงหน้า นำไปสู่ความรู้ที่ไม่สิ้นสุด ได้เห็นว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีแค่พื้นที่หน้าบ้าน และภาษาจะเป็นเกราะกำบังชั้นดีเมื่อคุณต้องใช้เพื่อติดต่อสื่อสารกับต่างชาติไม่ให้คุณถูกเอาเปรียบได้โดยง่าย
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ