เธอซึมเศร้า แต่เขา OCD สังคมที่เราไม่รู้ว่า “ใครเจ็บป่วย” บ้าง

ไม่รู้ว่ามีใครสังเกตเห็นบ้างไหม ว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้วคอลัมน์ชะนีติดซีรีส์ได้หายไปจากหน้าเว็บไซต์ของ Tonkit360 เป็นเวลา 1 สัปดาห์ คือปกติแล้วคอลัมน์ที่เก็บตกประเด็นและชวนเมาท์มอยเรื่องซีรีส์ต่าง ๆ (หรือเมื่อก่อนค่อนข้างจะกรีดร้องเรื่องผู้ชายหนักมากกว่า) จะถูกเอาขึ้นในช่วงเที่ยงของวันเสาร์ตั้งแต่ครั้งแรกที่เปิดตัว ล่าสุดคือดูซีรีส์เพื่อเขียนคอลัมน์ 121 เรื่องเข้าไปแล้ว แต่หลัง ๆ มาก็ต้องยอมรับว่าขึ้นช้าบ้างอะไรบ้าง ด้วยเหตุผลที่ว่าชอบเขียนยาวขึ้นเรื่อย ๆ มันเลยจบไม่ลงทันเวลา ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย ถึงจะมาช้าแต่ก็มาตลอดไม่เคยหายต๋อมไปเลย ทว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมันสุดวิสัยเกินจะแก้ปัญหาจริง ๆ

หลายคนอาจสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้น คืองี้ หลังจากเคลียร์งานวันศุกร์เสร็จ โน้ตบุ๊กเครื่องที่ใช้งานอยู่ก็แจ้งเตือนขออัปเดตอะไรสักอย่าง ก่อนหน้านี้มันก็เคยงอแงเรื่องการอัปเดต Windows 11 ด้วยการที่ทำให้เครื่อง Windows 10 มีปัญหามาแล้วสองรอบ เลยตัดสินใจอัปเดตเป็น Windows 11 ซะเผื่อปัญหามันจะได้จบ ทีแรกก็ดูเหมือนจบ ตอนกลางวันทำงานได้ไม่มีปัญหา แต่ยังขึ้นแจ้งเตือนขออัปเดต (คิดว่าน่าจะเป็น) ส่วนเสริมของวินโดวส์ ทำงานเสร็จกำลังจะปิดคอมก็เลยอัปเดตก่อนปิดเครื่อง ปรากฏว่าคอมขึ้นจอฟ้าเฉยเลยจ้า สอบถามจากคนที่มีความรู้ด้านคอมสองคน เขาบอกว่าน่าจะไปอัปเดตอะไรที่เกินสเปกคอมจะรับได้หรืออัปเดตมาแล้วมันไม่เข้ากัน เครื่องก็เลยเจ๊งบ๊งไปเลย

มันดูแปลก ๆ ใช่ไหมที่มาขอพื้นที่ 2 ย่อหน้าเพื่อแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้น อธิบายถึงสาเหตุที่คอลัมน์หายไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บางท่านอาจจะคิดว่าปัญหาอาจอยู่ที่ “คนเขียน” หรือเปล่านะ คือคนเขียนน่ะไม่ได้ป่วยและยังไม่คิดจะลาออกด้วย ไม่ได้อู้งานแบบว่าทำไม่ทันเลยปัดความรับผิดชอบยกเลิกงานตัวเอง ซีรีส์ก็ดูจบแล้วเตรียมพร้อมเขียน แต่ก็ด้วยเหตุนี้แหละถึงได้ใช้พื้นที่ 2 ย่อหน้าแรกสาธยายเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพราะซีรีส์ที่จะขึ้นในสัปดาห์นี้มันแอบใกล้เคียงกับปัญหาคอมพัง

การอัปเดตส่วนเสริมที่เกินสเปกเครื่องจะรับได้เครื่องยังพัง แล้วความทุกข์ ความกดดันที่มากเกินที่คนคนหนึ่งจะรับได้ คนจะไม่พังได้ยังไง! คนเราน่ะมีความรู้สึก มีหัวใจ!

เธอซึมเศร้า แต่เขา OCD (You are my missing piece) เป็นซีรีส์ไทยที่เคยเห็นตัวอย่างแว่บ ๆ ครั้งเดียวในเฟซบุ๊ก ได้ดูคลิปตัวอย่างเรื่องทั้งหมดแต่ไม่ทันได้มองว่าเรื่องมันฉายไปแล้วหรือยังหรือเตรียมฉายเมื่อไร แต่เห็นรีวิวเลยตัดสินใจหาดู ก็ยอมรับแหละว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมาสนใจซีรีส์เกาหลีมากกว่า ซีรีส์ไทยนาน ๆ ทีถึงจะยอมหันกลับมาดู คือต้องมีอะไรที่ดึงดูดใจจริง ๆ ที่ผ่านมาโดนเล่นให้ผิดหวังมาเยอะเลยไม่อยากเสียอารมณ์

ตอนที่เห็นตัวอย่างยังแอบสะดุดนิดนึงเลยว่าซีรีส์เอาเรื่อง “โรคซึมเศร้า” กับ “โรค OCD” มาเล่าเป็นประเด็นหลักแบบนี้อาจไม่วายมีดราม่าหรือเปล่า ด้วยประเด็นมันค่อนข้างอ่อนไหว แล้วนิสัยลูกช่างติ ติก่อนดูทีหลังเนี่ยชาวเน็ตไทย (จำนวนหนึ่ง) ยืนหนึ่ง คนไทยดราม่าเก่งจะตาย เอะอะดราม่า เอะอะแบน มันง่ายมากที่จะเป็นปัญหา ถ้าซีรีส์ทำออกมาได้ไม่ดี (ไม่ถูกใจ) พอ ก็นับว่าโชคดีที่ซีรีส์ออนจบไปแล้วยังไม่เห็นข่าวดราม่าอะไร ดีเลยแหละหรือเป็นไปได้ว่าคนไม่ค่อยดูกันเพราะไม่ได้ออนทางทีวี

เธอซึมเศร้า แต่เขา OCD (You are my missing piece) เป็น Original Content ของแอปฯ TrueID โดยใช้ทีมผลิตจากช่อง one31 นำแสดงโดย “นิว ฐิติภูมิ, ปุยเมฆ นภสร, ปลายฟ้า ณัชภรณ์ และเฟียต ภัชทา” รวมถึงนักแสดงคนอื่น ๆ อีกหลายท่าน ที่น่าทึ่งคือผู้ที่ร่วมด้วยนักแสดงที่เป็นมีวิชาชีพเป็นหมอจริง ๆ อีกสองท่าน คือ “หมอเจี๊ยบ ลลนา และหมอริท เรืองฤทธิ์” ที่มารับบทเป็นจิตแพทย์ประจำตัวของพระเอกและนางเอก

อย่างนั้นก็เถอะ เรื่องนี้มีนักแสดงที่เป็นหมอจริง ๆ มากถึงสามคนร่วมแสดง นอกจากหมอเจี๊ยบและหมอริท อีกคนหนึ่งก็คือนางเอกของเรื่อง “ปุยเมฆ นภสร” รายนี้ก็เรียนจบแพทยศาสตร์มาเหมือนกัน แต่เหมือนว่าจะอยู่ในช่วงใช้ทุน เลยยังไม่ได้เป็นหมอเต็มตัวในทางอาชีพ แถมตัวบทก็ยังได้ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โฆษกกรมสุขภาพจิต มาเป็นที่ปรึกษาทางการแพทย์ด้วย การที่หมอมากมายเกี่ยวข้อง ก็การันตีได้ระดับหนึ่งแล้วว่าเรื่องคงจะไม่บ้ง ไม่ดราม่า ถึงนักแสดงทั้งสามจะไม่ใช่จิตแพทย์โดยตรง แต่ล้วนเคยผ่านการฝึกงานมาบ้าง

เธอซึมเศร้า แต่เขา OCD (You are my missing piece) เป็นเรื่องราวของผู้ป่วยจิตเวช 2 คนที่โคจรมาเจอกัน เธอ (นางเอก) ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า สาเหตุมาจากการที่ต้องแบกรับความคาดหวังมหาศาลเกินตัว เพราะเป็นเด็กเรียนเก่ง พ่อจึงคาดหวังไว้สูงให้เธอสานฝันที่พ่อทำไม่ได้ สอบชิงทุนไปเรียนต่อที่เยอรมัน ส่วนโรงเรียนก็ยิ่งแล้วใหญ่ สนับสนุนการศึกษาเด็กเพื่อให้เด็กมีอนาคตที่ดีก็จริง ทว่าในทางหนึ่งก็หาประโยชน์จากนักเรียน คาดหวังว่าการสอบชิงทุนได้ของเด็กคือการสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน สร้างหน้าตาให้ตัวครูผู้สอนได้เลื่อนขั้น ได้ไปดูงานต่างประเทศ ชีวิตของเธอหลังจากคุยกับครู กับผอ. กับพ่อ มักจะลงท้ายด้วยคำว่า “สู้ ๆ เธอจะต้องทำได้ อย่าทำให้ผิดหวัง” เสมอ

ส่วนเขา (พระเอก) คือคนที่ป่วยเป็นโรค OCD หรือชื่อภาษาไทยก็คือโรคย้ำคิดย้ำทำ เอาจริง ๆ คนไทยส่วนมากไม่รู้จักหรือเข้าใจผิดไปมาก ๆ เกี่ยวกับโรคนี้ ไม่คิดว่าอาการที่เจ้าระเบียบมาก ๆ รักความสะอาดขั้นสุด กลัวเชื้อโรค หรือความกังวลว่าตัวเองอาจจะขี้ลืม ลืมปิดแก๊ส ปิดประตูบ้าน ปิดไฟ ปิดก๊อกน้ำ ทำให้ต้องกลับไปเช็กสองรอบสามรอบตลอด มันจะเป็นอาการผิดปกติที่เรียกว่าเป็นโรค เพราะคนมักคิดว่าเป็นแค่นิสัยส่วนตัวของคนที่อาจจะดูดัดจริต เรื่องเยอะ เรื่องมาก ทำตัวโอเวอร์ อะไรมันจะทนไม่ได้ขนาดนั้นกับสิ่งที่มันไม่เป็นระเบียบ จะกลัวสกปรก กลัวเชื้อโรคอะไรขนาดนั้น ทำอะไรซ้ำ ๆ น่ารำคาญ พ่อของพระเอกก็ไม่เชื่อว่าลูกป่วย ไม่รู้ว่าลูกทนทรมานกับอาการที่ว่าแค่ไหน

เมื่อคนไม่สมบูรณ์แบบได้มาเจอกัน พวกเขาต่างเติมเต็มส่วนที่ขาดหายของกันและกัน ด้วยความที่ทั้งคู่ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนกับคนอื่น ๆ พวกเขาจึงเข้าใจกันและกันเป็นอย่างดี เกี่ยวก้อยสัญญากันว่าจะพากันเอาชนะโรคที่ตัวเองเป็นอยู่ ซึ่งการที่ได้อยู่ช่วยเหลือและสนับสนุนเคียงข้างกัน เกิดเป็นความรักที่อบอุ่นหัวใจ

ซีรีส์เรื่องนี้หยิบยกเรื่องราวที่อยู่ใกล้ตัวของคนรุ่นใหม่มาถ่ายทอด เดิมทีเรื่องนี้เป็นนิยายออนไลน์ (โดยไข่เจียวหมูสับ-สรสิทธิ์ เลิศขจรสุข) ก่อนจะนำมาทำเป็นซีรีส์ ซึ่งไม่ใช่การตอกย้ำผู้ป่วย แต่เพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ “โรค” ยอดนิยมที่เกิดเพิ่มมากขึ้นของคนในยุคปัจจุบันที่ใคร ๆ ก็ป่วยได้ ให้ผู้ชมได้เข้าใจและตระหนักรู้มากขึ้น เริ่มจากหันไปมองคนใกล้ตัวก่อนเลย ว่าพวกเขากำลังต่อสู้กับโรคทางจิตใจอย่างทรมานอยู่หรือเปล่า

ในฐานะที่แม่คนหนึ่งควรจะทำเพื่อลูก

ซีรีส์เรื่องนี้มีเพียง 6 ตอนจบ (ตอนนี้จบแล้ว) แต่ละตอนไม่ถึงชั่วโมงด้วยซ้ำ คือหลังจากที่ดูจนจบเนี่ยบอกเลยว่าคนที่ป่วยซึมเศร้าไม่ได้มีแค่นางเอกคนเดียว แต่เพื่อนนางเอกก็ดูจะมีอาการอยู่ไม่น้อยไปกว่ากัน คร่าว ๆ คือสองคนนี้เป็นเด็กเรียนเก่งทั้งคู่ แต่นางเอกเก่งกว่านิดหน่อย จึงมักจะได้โอกาสอะไรต่าง ๆ มากกว่า ใคร ๆ ก็หันมาโฟกัส ทั้งที่เธอไม่ได้อยากได้ เธอแค่อยากจะเป็นเด็กผู้หญิงธรรมดา ๆ ที่ได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นเหมือนคนอื่น ๆ ไม่ต้องมานั่งติวหนังสือดึก ๆ ดื่น ๆ หลังเลิกเรียนทุกวัน อัดความรู้เข้าไปทีละเยอะ ๆ แล้วมีคนพูดกรอกหูทุกวันว่าต้องทำนั่นทำนี่ อย่าทำให้ผิดหวัง

ส่วนเพื่อนนางเอก ซึ่งเป็นอีกตัวละครหลักของเรื่อง ทีแรกเลยนางอาจจะดูร้าย ๆ เฟียส ๆ แต่ตอนหลังมาคือน่าสงสารกว่านางเอกอีก คือในใจนางอะทั้งเกลียดทั้งอิจฉาที่นางเอกแย่งที่หนึ่งไปหมดทุกอย่าง เธอเก่งจริงแต่ก็ต้องเป็นรองเพื่อนคนนี้คนเดียว พยายามเท่าไรก็เอาชนะไม่ได้ แถมป่วยโดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย และไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย ครอบครัวคือปัจจัยสำคัญที่สร้างเธอขึ้นมาเป็นแบบนี้ บ้านรวยมากแต่ถูกกดดันให้มาสอบแข่งขันกับนางเอกเพื่อให้ได้ทุน เพราะพ่อแม่เห็นว่าเรื่องของหน้าตาสำคัญกว่า

สิ่งเดียวที่ทำให้เด็กผู้หญิงสองคนแตกต่างกัน คือ ครอบครัว ทั้งคู่ถูกครอบครัวคาดหวังและกดดันให้ทำในสิ่งเดียวกันเหมือนกัน ว่าต้องทำนั่นทำนี่เพื่อให้พ่อแม่ภาคภูมิใจและยอมรับ ลูกคือความหวังของพ่อแม่ (โดยพ่อแม่ชอบอ้างว่าเพื่อตัวของลูกเอง) ทำงานจนไม่มีเวลาที่จะสนใจลูกว่าลูกเป็นอะไร แค่อยากได้ความภูมิใจอะไรก็จะสั่งให้ลูกทำให้ แต่สิ่งที่นางเอกมีแล้วเพื่อนไม่มี คือ “แม่” ที่พยายามจะเข้าใจลูก แม้ว่าแม่ของนางเอกในตอนแรกจะเป็นคนที่ไม่มีปากมีเสียงอะไรเลย ต้องยอมพ่อทุกอย่าง เห็นพ่อบังคับลูกก็ได้แต่ให้กำลังใจลูกห่าง ๆ ทำมากกว่านั้นไม่ได้

แต่หลังจากที่แม่เห็นแล้วว่าสภาพลูกสาวย่ำแย่ขนาดไหน ถึงขั้นหมอติดต่อหาเพื่อแจ้งว่าอาการซึมเศร้าของลูกแย่ลง แม่จึงลุกขึ้นมาต่อต้านพ่อเพื่อปกป้องลูก “ในฐานะที่แม่คนหนึ่งควรจะทำเพื่อลูก” ทำให้หลังจากนั้นคนเป็นพ่อก็ไม่กล้าทำอะไรมาก เพราะแม่เริ่มกางแขนปกป้องลูกเต็มที่ แม่คงไม่ยอมที่จะสูญเสียลูกให้ถูกกลืนกินโดยโรคซึมเศร้าอีกแล้ว แม่จะอยู่ข้าง ๆ ลูกอย่างเปิดเผยเอง จะพยายามเข้าใจ ให้กำลังใจ และรักษาให้ลูกหาย

ในขณะที่ที่บ้านของเพื่อนนางเอก เธอไม่ได้มีแม่ที่พยายามจะเข้าใจเธอแบบที่นางเอกมี อาการของโรคที่เธอเริ่มแสดงออกมา พ่อแม่ก็ไม่เคยคิดจะสนใจว่ามันเป็นปัญหา แต่กลับมองว่าลูกนี่แหละที่เป็นตัวปัญหา “ห้ามทำให้พ่อแม่เสียหน้าเด็ดขาด” เธอได้แต่ร้องไห้เองและต้องเงียบไปเอง แล้วเก็บทุกความเกลียดชังมาลงที่นางเอก เธอขาดทั้งความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่น จนในที่สุดมันก็นำพาเด็กคนนี้ไปสู่เรื่องร้าย ๆ จนได้ ถึงเวลานั้นถ้าครอบครัวจะยังไม่เข้าใจ ก็ต้องเตรียมใจที่สูญเสีย

หนูก็แค่อยากใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ ชีวิตที่ไม่ต้องกินยา

ขอเล่าถึงประสบการณ์หนึ่งที่เคยเจอมากับตัว สถานการณ์ต่อไปนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ตัวละครในสถานการณ์เป็นคนใกล้ตัว เข้ามาปรึกษาถึงอาการที่ตัวเองเป็นอยู่ พร้อมกับคำถามที่ว่า “ควรจะไปหาหมอดีไหม” นี่ก็นั่งฟังปัญหาของเพื่อนไป พร้อม ๆ กับวิเคราะห์ไปด้วยว่าเพื่อนมีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นซึมเศร้าแน่ ๆ เพราะลักษณะอาการมันเกินภาวะความเครียดสะสมธรรมดาไปแล้ว อ้างอิงจากประสบการณ์ตรงที่เคยปรึกษาจิตแพทย์ด้วยตัวเอง ในใจคือเชียร์ให้เพื่อนไปหาหมอ จะได้รู้ว่าป่วยจริงหรือเปล่า ถ้าป่วยจะได้รักษา หาหมอไม่ได้มีอะไรน่ากลัว และเราก็ไม่ใช่คนบ้าหรอกถ้ายังมีสติจะมาปรึกษาคนอื่น ๆ ว่าควรรับมือกับอาการแบบนั้นอย่างไร

นี่พยายามใช้วาทศิลป์สุดฤทธิ์ เพื่อเกลี้ยกล่อมและโน้มน้าวใจให้เพื่อนตัดสินใจไปหาหมอโดยมองข้ามสายตาคนอื่นไปเสีย สนใจแค่จะรักษาตัวเองให้หายก็พอ นางบอกว่าปกติแล้วนางไม่ได้แคร์สายตาคนอื่นหรอกว่าจะมองนางยังไง อ้าว! นี่ก็งงสิ ในเมื่อไม่ได้แคร์สายตาคนอื่นว่าเขาจะมองว่าเราเป็นคนไม่ปกติถึงต้องเข้าไปปรึกษาจิตแพทย์ แต่ทำไมถึงไม่กล้าไปหาหมอ ด้วยความสงสัยและปากไวก็เลยเอ่ยถามออกไป คำตอบที่ได้มาก็ทำเอาอึ้งและไปต่อไม่ถูกเหมือนกัน

“ถ้าป่วยจริง ก็ต้องกินยารักษาไปยาว ๆ นานหลายปี ฉันก็จะไม่ปกติเหมือนคนอื่น เพราะต้องกินยาไปตลอด เมื่อไรจะหายก็ไม่รู้ ฉันกลัวตรงนี้”

อืม! นางทำการบ้านมาบ้างแล้วเกี่ยวกับวิธีการเข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้า นี่ไม่โทษนางเลยที่จะมีความคิดแบบนี้ คนเคยใช้ชีวิตปกติโดยไม่ต้องกินยา จู่ ๆ ก็รู้สึกว่าตัวเองไม่อาจมีความสุขบนโลกใบนี้ได้อีกแล้ว ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับความทุกข์ที่กัดกินใจไปเรื่อย ๆ พอจะยอมรับว่าตัวเองป่วยและต้องเข้ารับการรักษาเพื่อให้ตัวองกลับมามีความสุขได้อีกครั้ง ก็ต้องตัดสินใจที่จะทิ้งชีวิตปกติที่ไม่เคยต้องกินยาไป ระหว่างการรักษา ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำเป็นต้องรักษาวินัยในการกินยาอย่างเคร่งครัด แล้วระยะเวลาก็ไม่ใช่แค่กินยานอนพักผ่อนตื่นมาหาย แต่กินเวลานานหลายปี ต้องกินยาไปเรื่อย ๆ จนกว่าหมอจะบอกว่าหายแล้ว

พูดตรง ๆ นะ คนที่ป่วยโรคซึมเศร้าจริง ๆ น่ะ เขาแทบไม่อยากบอกกับใครด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นซึมเศร้า แต่ที่ต้องบอกไว้ก็เพื่อขอความช่วยเหลือ มันจึงแตกต่างจากคนที่มีพฤติกรรมไม่ดีแล้วชอบอ้างว่าที่ตัวเองเป็นแบบนี้เพราะป่วยเป็นซึมเศร้า คนป่วยจริงไม่มีใครอยากป่วย พวกเขายังคงคิดถึงชีวิตปกติธรรมดาตอนที่ตัวเองไม่ใช่คนป่วย ไม่อยากต้องกินยาครั้งละหลาย ๆ เม็ดทุกวัน การที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการของโรคนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เลย คนที่ไม่ได้กำลังต่อสู้กับโรคนี้จริง ๆ ไม่มีทางรู้หรอกว่ามันหดหู่ไร้ความหวังแค่ไหน

การที่นางเอกกล้าที่จะยอมรับกับทุกคนว่าเธอป่วยเป็นซึมเศร้า ด้วยสถานการณ์ที่เธอจำเป็นต้องบอกเพื่อให้คนรอบข้างหยุดทำพฤติกรรมบีบบังคับที่ทำให้เธอรู้สึกแย่ และเพื่อขอความช่วยเหลือ ถือเป็นความกล้าหาญมาก ๆ ที่คนเป็นโรคนี้จะทำได้ สุดท้ายแล้วพวกเขาอยากที่จะรักษาตัวให้หายและกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติธรรมดาเท่านั้น พวกเขาไม่ได้อยากฝืนสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิตแล้วพาตัวเองไปสู่ความตาย ทางออกของคนที่เป็นโรคนี้อาจไม่ได้มีหลากหลายแบบที่คนไม่ป่วยพล่ามออกมาได้ง่าย ๆ อย่าตัดสินอะไรพวกเขาเลย

โชคดีมากที่ในที่สุดก็โน้มน้าวใจเพื่อนคนนั้นได้สำเร็จ ทุกวันนี้นางยอมรับว่าตัวเองป่วย กล้าที่จะขอความช่วยเหลือเมื่อตนเองรับมือคนเดียวไม่ไหว และแม้ว่านางจะต้องกินยาต่อเนื่องมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ทุกวันนี้โดยรวมนางยังใช้ชีวิตไปได้ด้วยดี ด้วยความหวังว่าสักวันตัวเองต้องหาย และกลับไปใช้ชีวิตแบบที่ไม่ต้องกินยาอีกต่อไปเหมือนเดิม

ถ้าเธอสอบได้นะ ครูจะทำป้ายไวนิลใหญ่ ๆ ให้

พูดถึงครอบครัวและการจัดการตัวเองของผู้ป่วยแล้ว ลองหันกลับไปมองที่สถานศึกษาดูบ้างก็ไม่เลว จากข้อสงสัยที่ว่าทำไมทุกวันนี้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจึงมีแนวโน้มว่าจะเป็นวัยที่อายุน้อยลงเรื่อย ๆ ปัจจัยจากครอบครัวคือส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญ แต่เราก็มองข้ามปัจจัยเรื่องการเรียนไปไม่ได้หรอก เพราะเด็ก ๆ น่ะใช้ชีวิตอยู่บ้านกับโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ สถานศึกษาจึงเป็นสถานที่หนึ่งที่สร้างผู้ป่วยโรคซึมเศร้าออกสู่สังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในที่นี้จะขอตัดปัญหาระหว่างนักเรียนออกไปก่อน การบูลลี่ กลั่นแกล้งกันในสถานศึกษาเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ๆ ที่ทำให้เด็ก ๆ กลายเป็นโรคซึมเศร้า แต่นั่นมันอีกประเด็น ตอนนี้อยากจะขอพูดถึงระบบการศึกษาที่ทำให้เด็กทุกคนต้องแข่งขันกันเองมากกว่า แถมยังเป็นการแข่งขันเรียนในสิ่งที่ตัวเด็กไม่ได้เป็นคนเลือกเองด้วยนะ ส่วนมากมีพ่อแม่ครอบงำอยู่ว่าต้องเรียนอะไร เด็กบางคนไม่ได้อยากเป็นหมอโดยส่วนตัว แต่เรียนเพราะพ่อแม่อยากให้เรียน ไม่ก็เพื่อสานฝันให้พ่อแม่ที่อาจจะไม่มีโอกาสได้เรียนหรือทำไม่ได้ แค่เรียนสายวิทย์ก็ว่ายากแล้ว แต่ต้องเป็น “ตัวท็อป” ด้วย

แค่เรียนเก่งมันยังไม่พอ แต่ต้องเป็น “ตัวท็อป” ด้วย คนที่เป็น “ตัวท็อป” คือคนที่ได้รับการยอมรับ คือคนที่ทุกคนต่างก็ชื่นชม เป็นความหวังที่ใคร ๆ ก็คาดหวัง ทั้ง ๆ ที่เจ้าตัวอาจจะไม่ได้อยากแบกอะไรที่หนักหน่วงขนาดนั้น นางเอกของเรื่องนี้ก็เหมือนกัน เริ่มจากเรียนเก่ง พ่อจึงคาดหวังให้สอบชิงทุนไปเรียนต่างประเทศ นั่นเป็นความฝันของพ่อที่พ่อทำไม่ได้ เลยยัดเยียดให้ลูกที่เรียนเก่งเป็นทุนเดิมทำให้ ในขณะเดียวกัน ถ้านักเรียนสักคนในโรงเรียนคือคนที่สามารถพิชิตความเป็นที่หนึ่งจากเด็กที่แข่งขันทั่วประเทศได้ โรงเรียนย่อมได้หน้า ต่อให้ที่ผ่านมาเด็กจะพยายามเองโดยที่โรงเรียนไม่ได้สนับสนุน แต่พอได้รางวัลก็จะถูกเคลมเป็นเครดิตโรงเรียน ด้วยความเป็น “นักเรียนโรงเรียน…”

โรงเรียนที่นางเอกเรียนอยู่ก็กำลังทำแบบนี้ หากนางเอกสอบชิงทุนมาได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในเรื่องนี้ได้หน้าบานเป็นกระด้งไปตาม ๆ กัน ครูประจำชั้นและผอ. จึงพยายามกดดันนางเอกอย่างหนักว่าโรงเรียนลงทุนและคาดหวังกับนางเอกไว้สูง มีหลายคนต้องผิดหวังหากนางเอกถอนตัว บีบบังคับสารพัดว่าต้องไปต่อ และเหตุผลที่น่าขันที่สุด คือการที่ผอ. บอกกับเด็กที่ตัวเองจะให้ไปสร้างชื่อเสียงและหน้าตาให้กับโรงเรียนว่า “ถ้าเธอสอบได้นะ ครูจะทำป้ายไวนิลใหญ่ ๆ ให้” โดยหารู้ไม่ว่าป้ายใหญ่ ๆ แสดงความยินดีนั่นแหละที่นางเอกเกลียดที่สุด

เมื่อผิดหวังจากการที่นางเอกถอนตัว โรงเรียนหันมาลงทุนและคาดหวังที่ตัวของเพื่อนนางเอกหลายเท่ากว่านางเอก เพราะเพื่อนคนนี้ผลการเรียนไม่ได้ดีเท่า จึงต้องอัดเข้าไปให้มากกว่า เพื่อนนางเอกที่หลงคิดมาตลอดว่าการสอบชิงทุนได้คือสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็แค่สิ่งที่ถูกพ่อแม่บีบมาเหมือนกันว่าอย่าทำให้เสียหน้า และอย่าไปแพ้ให้กับเพื่อนอย่างนางเอก และโรงเรียนที่พลาดตัวท็อปอันดับ 1 ไปแล้ว ก็ต้องพยายามปั้นที่ 2 ให้ขึ้นมา แบบไม่ลืมหูลืมตาหรือนึกถึงศักยภาพเด็ก บางทีโรงเรียนอาจเป็นเจ้ากรรมนายเวรหรือปีศาจที่น่ากลัวที่สุดของเด็ก ๆ ก็ได้

ใครยังไม่ได้ดู อยากให้ลองไปดูนะ ซีรีส์เรื่อง เธอซึมเศร้า แต่เขา OCD (You are my missing piece) ในแอปฯ TrueID แต่เหมือนจะดูฟรีทุกเครือข่าย ส่วนตัวรู้สึกว่ายังขัดใจกับการแสดงของนักแสดงนิดหน่อย บางทีก็ท่องบทเกินไป คำพูดที่ออกมาจากปากดูไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ ไม่ลื่นปาก แล้วก็พฤติกรรมตัวละครบางตัวมันไม่สมเหตุสมผลเกินไปหน่อย แต่จุดนั้นพอจะมองข้ามได้ ที่สำคัญมากกว่าคือใจความหลักที่ซีรีส์ต้องการจะสื่อสารมากกว่า คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือโรคอื่น ๆ พวกเขามีส่วนหนึ่งที่หายไป พวกเขาต้องการการเติมเต็ม 🤗