การที่หลายคนมองข้ามความสำคัญในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นั่นเป็นเพราะว่าคนคนนั้นไม่ได้มองเห็นถึงประโยชน์ของสิ่งนั้นที่จะมีต่อตน เสมือนที่หลายคนไม่ได้ให้ความสนใจกับ “จิตวิทยา” มากนัก
ดร.อาดัม นีละไพจิตร เล่าให้คนต้นคิดฟังว่า “จิตวิทยา” เป็นเสมือนเป็นตัวช่วยให้มนุษย์ได้เข้าใจตนเอง การที่เรารู้จักตัวเองมากขึ้นจะส่งผลให้เรานั้นสามารถที่จะพัฒนาตัวเองในทางที่ดีขึ้นได้ บทสัมภาษณ์นี้จะพูดถึงความสำคัญของจิตวิทยาที่มีประโยชน์ต่อตัวเราและสังคมของเราอย่างไรบ้าง
รู้จักอาชีพ “นักจิตวิทยา”
ถ้าพูดถึง “จิตวิทยา” มีด้วยกันหลายสาขา มีทั้งจิตวิทยาการให้คำปรึกษา จิตวิทยาคลินิก จิตวิทยาอุตสาหกรรม จิตวิทยาการศึกษา เป็นต้น ซึ่งในแต่ละสาขาก็จะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น “จิตวิทยาการให้คำปรึกษา” เน้นในเรื่องของการช่วยเหลือคนที่เกิดภาวะเครียด ความกังวลในการใช้ชีวิต หรือคนที่ไม่มั่นใจในการใช้ชีวิต มีความกังวลในเรื่องต่าง ๆ ก็จะช่วยให้เขาเกิดความเข้าใจตัวเองมากขึ้น สามารถอยู่ได้กับสิ่งที่เขากำลังเผชิญได้
ทำไม “คนพิการ” ต้องใช้จิตวิทยาในการฟื้นฟู
เล่าให้ฟังง่าย ๆ หากวันนี้เรามีสุขภาพและร่างกายที่แข็งแรงดี แล้วในวันหนึ่งดันเกิดอุบัติเหตุทำให้ต้องสูญเสียอวัยวะในร่างกายของเราไป เช่น ขาขาด แขนขาด ตามองไม่เห็น หูไม่ได้ยินเสียง ฯลฯ จากคนที่เคยมีอวัยวะครบถ้วน เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วต้องพบกับความสูญเสีย อวัยวะไม่ครบถ้วนเหมือนเดิม ความรู้สึกแรกที่ต้องเจอคือ อาการช็อก รับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดความคิดว่าไม่อยากอยู่บนโลกใบนี้อีกแล้ว เพราะไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้เหมือนเดิม มีชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม เกิดความเครียด
นักจิตวิทยาจะเข้าไปช่วยในเรื่องของกระบวนการการปรับตัวของคนพิการ เพื่อให้เขาสามารถยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเขาได้ หรือสามารถทำให้บุคคลนั้นเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ทำให้คนพิการปรับตัวต่อความพิการนั้นได้ ทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ หากคนพิการที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการนี้ ก็จะมีกระบวนการทางธรรมชาติที่ช่วยในการปรับตัวได้ แต่อาจใช้เวลานานเมื่อเทียบกับคนที่สู่ระบบการฟื้นฟู
เมื่อ “คนพิการ” ออกไปใช้ชีวิตแล้วโดนบูลลี่จากสังคม ไม่ว่าจะเกิดจากการตั้งคำถามหรือการมองด้วยสายตาก็ตาม ก็จะเกิดความกังวล ความเครียด และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าตามมา ถ้าผู้พิการได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูที่สามารถช่วยให้จิตใจเข้มแข็งตั้งแต่แรก จะทำให้เขามีภูมิต้านทานที่จะเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ รอบข้างที่เข้ามาปะทะได้ เช่น สายตาที่คนอื่นมองมาก็สามารถสู้กับสายตาคนอื่นได้ แม้แต่ในเรื่องคำพูดต่าง ๆ ที่คนอื่นอาจคาดไม่ถึงว่าสิ่งนี้อาจกระทบจิตใจ เขาก็สามารถเผชิญกับคำพูดได้อย่างเข้มแข็ง และมั่นใจมากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้พิการแต่กำเนิด เช่น มีพัฒนาการช้า พูดไม่ได้ตั้งแต่เด็ก ตามองไม่เห็น เป็นต้น ผู้พิการแต่กำเนิดจะโอกาสเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตั้งแต่วัยเด็ก ยิ่งฟื้นฟูเร็วเท่าไรก็จะสามารถใช้ชีวิตได้เร็วมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับความพิการที่พิการในภายหลัง เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูที่มากพอสมควร เมื่อมีการปรับตัวต่อความพิการได้แล้ว ถึงจะเริ่มต้นในการรักษาในขั้นต่อ ๆ ไป
ปัญหาสังคมทำให้ป่วยทางจิต เกิดสภาวะซึมเศร้า
เริ่มต้นจากคนที่มี “ความพิการ” ปัจจัยหลัก ๆ มาจากความพิการของตัวเอง เกิดความเครียดความกังวล จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ซึ่ง “โรคซึมเศร้า” มักเกิดจากปัจจัยที่เป็นความวิตกกังวลเป็นหลัก สำหรับบุคคลทั่วไปที่จะเกิดเป็นโรคซึมเศร้า ก็มีอยู่หลายปัจจัย
- ซึมเศร้าที่เกิดจากพันธุกรรม
- ซึมเศร้าจากการใช้ชีวิต การอบรมเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเด็ก
- ซึมเศร้าจากการสูญเสีย อาจเกิดจากการสูญเสียสิ่งที่รักมาก ๆ
- ซึมเศร้าจากตัวบุคคลเอง ที่อาจมาจากบุคลิกภาพบางแบบ เช่น คนที่มีพฤติกรรมจู้จี้ จุกจิก มีความเข้มงวด เจ้าระเบียบกับการใช้ชีวิตมาก ๆ ก็มีโอกาสที่จะนำไปสู่สภาวะซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน
สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยที่มีโอกาสทำให้เกิดสภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งบางคนอาจไม่รู้ตัวว่าตัวเองว่าเกิดภาวะซึมเศร้า ยกตัวอย่าง ผู้บริหารที่เข้ามาปรึกษา ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ มันเป็นเสี้ยวส่วนหนึ่งของอาการซึมเศร้า ซึ่งอาการซึมเศร้ามีทั้งหมด 9 อาการ หากเรามี 5 ใน 9 อาการก็จะเข้าเกณฑ์ของสภาวะซึมเศร้า คนที่วินิจฉัยว่าบุคลลนี้ป่วยเป็นซึมเศร้าหรือไม่ คือคุณหมอ จะเป็นผู้วินิจฉัยโดยประเมินจาก 9 อาการ หากเป็นผู้ป่วยก็จะได้รับยาในการรักษา
ส่วนอาการที่พบเจอบ่อย ๆ คือ อาการนอนไม่หลับ ควบคุมความรู้สึกตัวเองยาก โดยแสดงอารมณ์บางอย่างที่ตัวเองไม่เคยเป็นกับคนรอบข้าง รู้สึกหงุดหงิด รู้สึกกังวลไม่สบายใจ ผมมักสำรวจอาการเหล่านี้ และเมื่อพบกว่ามีแนวโน้มที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า เราก็จะพูดคุยเพื่อแนะนำให้ไปพบคุณหมอ ถ้าตรวจแล้วยังไม่เป็นภาวะซึมเศร้า ก็จะกลับมาพูดคุยกันว่าเราจะดูแลกันอย่างไรได้บ้าง ถ้าตรวจจากคุณหมอแล้วมีอาการก็จะแนะนำให้ทานยาตามที่คุณหมอให้ ควบคู่กับการทำจิตบำบัดรักษาต่อไป
อาการแบบไหนที่เราควรพบ “จิตแพทย์”
คนเราส่วนมากมักเข้าข้างตัวเอง และคุ้นชินกับกับสิ่งที่เราเป็นว่าเป็นเรื่องปกติและบอกกับตัวเองว่า “ฉันไม่เป็นอะไรหรอก” วิธีสังเกตตัวเองให้เริ่มต้นจากการนอนในแต่ละวันของสัปดาห์ เรานอนเป็นอย่างไร มีการนอนที่ผิดปกติไหม เช่นนอนหลับยาก นอนตื่นกลางดึกและนอนต่อไม่ได้ ตื่นเร็วกว่าปกติ อีกประเภทหนึ่งคือการนอนเยอะ เริ่มพบมากขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีอาการหนึ่งของภาวะนี้
ปัญหาสังคมเป็นต้นเหตุของโรคซึมเศร้า
ปัญหาสังคมเป็นปัจจัยหนึ่งสำหรับบางคน แต่ไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดของทุกคน ปัญหาสังคมที่สามารถทำให้เกิดสภาวะซึมเศร้าได้ ต้องเป็นปัญหาที่มารบกวนชีวิตของเขา ขั้นตอนในการรักษาไม่ใช่การช่วยแก้ปัญหา แต่เราทำให้เข้าใจในปัญหาเหล่านั้นที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง แล้วย้อนไปสู่เรื่องความเชื่ออะไรบางอย่าง เขาเชื่อในเรื่องนี้อย่างไร เราก็ย้อนกลับไปมองความเชื่อของเขา เช่น เขาเป็นแฟนเราเขาต้องดูแลเรา นี่คือความเชื่อรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เราไม่ได้รับการดูแล ก็จะโกรธ โมโห เพราะเรามีความเชื่อว่าเป็นผู้ชายต้องมาดูแลผู้หญิง ในขณะเดียวกันผู้ชายก็อาจจะมองได้ว่าเธอเป็นภรรยาเรา เป็นแฟนเราเธอก็ต้องดูแลเรา
ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างมีมุมมองเป็นของตัวเอง แล้วต้องการให้คนอื่นปรับเปลี่ยนไปตามมุมมองของตัวเอง ถ้าคนอื่นไม่ปรับเปลี่ยนเราก็จะโกรธเกิดความไม่พอใจ ก็ทำให้มีภาวะต่าง ๆ ตามมา ดังนั้นเราต้องทำให้เขาเข้าใจตัวเองว่ามันจริงหรือเปล่าที่เป็นผู้ชายต้องดูแลผู้หญิง และจริงหรือเปล่าว่าเป็นผู้หญิงก็ต้องดูแลผู้ชาย วันนี้เราเป็นของของเขาหรือเปล่า หรือเราเป็นเพียงคนหนึ่งที่เข้ามาเติมเต็มซึ่งกันและกัน ถ้าเราสามารถเติมเต็มให้กันได้ เราจะเติมเต็มให้กันแบบไหนได้บ้าง
การกลับมาทำความเข้าใจความเชื่อของตัวแอง เป็นสิ่งที่สามารถช่วยเข้าใจความหมายของสิ่งที่เกิดขึ้น ช่วยสร้างมุมมองใหม่ให้เขามากขึ้น เมื่อเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ มากขึ้นแล้ว เขาก็สามารถไปอยู่กับสถานการณ์ที่เป็นเหมือนเดิมได้โดยที่เขาไม่หงุดหงิด ไม่โกรธ ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์นั้นเป็นเหมือนเดิม สถานการณ์จะเกิดการการเปลี่ยนแปลงทางที่ดีขึ้นได้ เพราะมีเราเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงก่อน
เราจะใช้ชีวิตท่ ามกลางปัญหาสังคม และโรคระบาดอย่างไร
เราสามารถไปพบ “จิตแพทย์” ได้เมื่อใดก็ตามที่เรารู้สึกไม่สบายใจ เราสามารถไปพูดคุยกับคุณหมอได้ ก็จะทำให้เราเข้าใจมุมมองอะไรต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ส่วนการดูแลตัวเอง เริ่มต้นจากการใช้ชีวิตให้ช้าลง อย่าเร่งรีบไปกับทุกเรื่องที่เข้ามา เลยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างรวดเร็ว ความรวดเร็วที่เกิดขึ้นกับตัวเราไม่ใช่ร่างกายแต่เป็นอารมณ์ของเราที่เร็ว พอเจอเรื่องอะไรก็ตาม เราจะมีการโต้ตอบด้วยอารมณ์อย่างรวดเร็ว ปัญหาก็จะเกิดขึ้นตามมา
ปัจจุบัน สถานการณ์ต่าง ๆ เข้ามาทำให้เราขาดสติ ทำให้เราใช้อารมณ์ในการเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ลักษณะนี้คือ “อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล” ซึ่งปัจจุบันเป็นกันเยอะมาก การใช้ชีวิตให้ช้าลงหรือการใช้อารมณ์ที่ช้าลง เป็นอีกแนวทางที่ช่วยเราได้เมื่อเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ อย่าเพิ่งรีบโต้ตอบใด ๆ กับเหตุการณ์อะไรบางอย่าง ให้มีสติให้มากยิ่งขึ้น แล้วเราค่อย ๆ เผชิญกับเรื่องราวเหล่านั้น
ตอนนี้เราคาดเดาไม่ได้เลยว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เรารับรู้ได้คืออาจมีโรคอื่น ๆ ตามมาอยู่เรื่อย ๆ อาจเป็นโรคที่อันตรายมากหรือน้อยก็ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือหลาย ๆ คนมีความกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับสิ่งที่มันจะเกิดขึ้น ซึ่งความกังวลมักนำมาซึ่งความกลัว หรือกังวลมากไปจนเกินเหตุ สิ่งที่สามารถทำได้และควรทำคือกลับมาอยู่กับสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ยอมรับมัน และจัดการกับสิ่งที่เรามี เราเป็น ให้ได้ตามศักยภาพของเรา