ไม่น่าเชื่อว่าสถานการณ์โควิดจะกินเวลาลากยาวนานกว่า 2 ปีแล้ว ส่งผลกระทบต่อการชำระหนี้ของคนจำนวนมาก ข้อมูลล่าสุดของจาก บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ได้แสดงบัญชีหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือ NPL ในฐานข้อมูลของเครดิตบูโรภายใต้รหัส 20 และรหัส 21 โดยกลุ่มรหัส 20 คือหนี้เสียที่มีปัญหามาก่อนเกิดโรคระบาดโควิด ขณะที่กลุ่มรหัส 21 เป็นหนี้เสียที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในจำนวนหนี้เสียทั้งหมด 4.3 ล้านบัญชี จะสามารถแบ่งออกเป็นรหัส 20 ได้จำนวน 1.7 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลค่าหนี้เสียรวม 1.6 แสนล้านบาท ขณะที่ลูกหนี้รหัส 21 มีอยู่ 2.3 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลค่าหนี้เสียราว 2 แสนล้านบาท ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
จากข้อมูลอ้างอิงเบื้องต้น แสดงให้เห็นว่า โควิดได้ทำให้คนที่เคยจ่ายหนี้ได้แบบปกติต้องกลายเป็นหนี้เสียถึง 2.3 ล้านบัญชี คิดเป็นหนี้เสีย 2 แสนล้านบาท เฉลี่ยหนี้เสียต่อบัญชีราว 8 หมื่นบาท หากคุณอยู่ในกลุ่มที่ไม่สามารถชำระหนี้ของคุณได้ เริ่มชักหน้าไม่ถึงหลัง จ่ายหนี้บัตรเครดิตแบบขั้นต่ำก็แล้ว ปรับโครงสร้างหนี้ก็แล้ว หรือแม้แต่การหมุนเงินในบัตรเครดิตเพื่อโปะบัตรโน้นจ่ายบัตรนี้ก็แล้ว แต่สถานการณ์ทางการเงินของคุณไม่ดีขึ้น กลับแย่ลงหนักกว่าเดิมเสียอีก การรวมหนี้อาจเป็นทางออกให้คุณอีกช่องทางหนึ่งก็ได้
วันนี้ Tonkit360 เลยมีข้อดี-ข้อเสียของการรวมหนี้ไว้ที่เดียวมาบอกกัน ซึ่งทาง “แบงก์ชาติ” เองก็ออกมาอัปเดตสถาบันทางการเงินที่สามารถรวมหนี้ไว้ก้อนเดียวได้ถึง 13 แห่งด้วยกัน ได้แก่ กรุงเทพ, กรุงไทย, กรุงศรีอยุธยา, กสิกรไทย, เกียรตินาคินภัทร, ซีไอเอ็มบีไทย, ทหารไทยธนชาต, ทิสโก้, ไทยพาณิชย์, ยูโอบี, ออมสิน, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ส่วนธนาคารไอซีบีซี (ไทย) สามารถรวมหนี้ในสถาบันการเงินเดียวกันเท่านั้น
การรวมหนี้ (Debt Consolidation) คือ การที่เรานำสารพัดหนี้ที่มีอยู่ ทั้งในระบบและนอกระบบ หรือบัตรเครดิตในหลากหลายธนาคาร จำนวนหลายใบที่คุณถืออยู่รวมไว้ในที่เดียว และทำการยื่นกู้เพื่อขออนุมัติวงเงินในระบบจากสถาบันการเงินที่เข้าร่วม เพื่อนำเงินมาปิดหนี้ดอกเบี้ยสูงก็สามารถลดปัญหากวนใจของคุณทันที แล้วมาทำข้อตกลงในการผ่อนชำระกับทางธนาคารผู้ปล่อยกู้เป็นรายงวดในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ที่อยากปิดหนี้ทั้งหมด แถมหนี้นอกระบบดอกเบี้ยโหดก็กลายเป็นหนี้ในระบบที่สามารถจ่ายได้ ไม่เดือดร้อนแบบที่เคยเป็นมา
ข้อดีของการรวมหนี้
- รวมหนี้จากหลากหลายธนาคาร หรือรวมบัตรเครดิตหลายใบไว้ในที่เดียว ซึ่งดอกเบี้ยจะคิดที่หนี้ก้อนที่รวมแล้วเพียงที่เดียว ทำให้เหลือภาระที่ต้องชำระหนี้ให้กับสถาบันการเงินเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
- มีโอกาสได้รับการปรับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง โดยสถาบันการเงินในช่วงแรกมักให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงกว่า อัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต แต่ในช่วงท้ายของการผ่อนชำระอาจสูงกว่าอันตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตได้ หากคุณมีหนี้ทั้งหนี้นอกระบบและหนี้บัตรเครดิต คุณจะมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง อย่างที่รู้กันว่าอัตราดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบนั้นจะแพงกว่าอัตราดอกเบี้ยในระบบมากทีเดียว
- อัตราการผ่อนชำระต่อเดือนต่ำลง ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนลดลง การเงินเกิดการคล่องตัวมากขึ้น
- การรวมหนี้ทำให้เรารู้ระยะเวลาผ่อนที่แน่นอน เช่น มีระยะเวลาในการผ่อนชำระ 3-5 ปี ทำให้เราสามารถวางแผนทางการเงินได้ง่ายขึ้น
- การรวมหนี้ทำให้หมดปัญหากวนใจจากการทวงถามจากเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือแก๊งเงินกู้นอกระบบได้
ข้อเสียของการรวมหนี้
- การกู้เงินในแต่ละครั้ง ควรคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยที่จะเสียเพื่อประกอบการตัดสินใจ เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนบุคคลมักสูงกว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตจากเดิมที่เคยเสีย 20% ต่อปี อาจต้องเสียเพิ่มขึ้นเป็น 25% ต่อปี
- การรวมหนี้ต้องรวมทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย รวมถึงค่าปรับต่าง ๆ การรวมหนี้เพื่อปิดภาระหนี้ อาจทำให้คุณต้องเสียดอกเบี้ย 2 ต่อ