“ปัญหาสิ่งแวดล้อม” หน้าที่ใครต้องดูแล?

ปัจจุบันดูเหมือนปัญหาภัยธรรมชาติดูจะทวีความรุนแรงและมีความถี่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝนฟ้าคะนอง ด้วยเหตุนี้การดูแลสิ่งแวดล้อมบนโลกจึงกลายเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างมาก

ดร.เตตฤณ อดุลย์กองแก้ว ตำแหน่ง Social Science บริษัท ไทยเอ็นไวรอนเม้นท์ จำกัด หรือนักวิชาการสิ่งแวดล้อมเล่าให้คนต้นคิดฟังว่า “เราต้องตระหนักถึงการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงการฟื้นฟูและบำบัดให้สภาพแวดล้อมกลับมาอยู่ในสภาวะที่น่าอยู่” นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอาชีพนี้มีความสำคัญอย่างไรและมีบทบาทในการดูแลและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างไร ไปดูบทสัมภาษณ์คนต้นคิดกันค่ะ

มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

ต้องบอกว่าปัจจุบันนี้ สภาพแวดล้อมเสมือนการอยู่ร่วมกันกับทรัพยากรธรรมชาติที่ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ บนพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เราต้องตระหนักถึงการจัดการ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาควบคุมให้เกิดการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการฟื้นฟูและบำบัดเพื่อให้สภาพแวดล้อมกลับมาอยู่ในสภาวะที่น่าอยู่

อาชีพนักวิชาการสิ่งแวดล้อมมีบทบาทและหน้าที่ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างไร

หน้าที่ของเราคือการทำให้สรรพสิ่งที่ถูกมนุษย์สร้างขึ้นสามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้ โดยไม่ให้ก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคม วิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิม ซึ่งหลักการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุบทบาทและหน้าที่จะต้องมีแบบแผนที่ชัดเจน วิธีการจัดการที่ถูกต้อง และมีการควบคุมไม่ให้เกิดมลพิษที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการดูแลรักษาที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนและยาวนาน

ซึ่งในทางปฏิบัติไม่ใช่เป็นการทาสีเขียวลงไปเพื่อให้คนเข้าใจว่ามีสีเดียวกับต้นไม้หรือธรรมชาติ หากแต่ว่าเป็นการตระหนักถึงการประกอบวิชาชีพอย่างสุจริต ซื่อสัตย์ต่อทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ปฏิบัติงานจริงและหมั่นเรียนรู้โดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐานของความคิดและการพัฒนาองค์ความรู้ทางสิ่งแวดล้อมครับ

ประเด็น #saveจะนะ เกิดอะไรขึ้น ทำไมชาวบ้านถึงออกมาชุมนุม? ทำไมชาวบ้านถึงไม่อยากได้ ทั้งที่อีกมุมหนึ่งก็เกิดการจ้างงานขึ้น

ประเด็นแรก เพราะชาวบ้านยังไม่เกิดความรู้สึกว่าเป็นตนเป็นเจ้าของโครงการอย่างแท้จริง กล่าวคือการพัฒนาโครงการนั้น ยังมองเห็นแค่การเข้ามาใช้ทรัพยากรของคนในชุมชน แต่ยังมองไม่เห็นถึงการเอื้อประโยชน์ให้กับคนในชุมชนอย่างแท้จริง เมื่อเทียบกันแล้วผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาโครงการอาจเป็นผลกระทบที่กลุ่มคนเหล่านั้นมีโอกาสได้รับในระยะยาว เหมือนในกรณีของห้วยแม่ตาว จังหวัดตาก ซึ่งปัจจุบันกฎหมายสิ่งแวดล้อมก็ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจหรือวางใจว่าจะคุ้มครองกลุ่มคนเหล่านี้ได้ หากต้องเสี่ยงต่อผลกระทบด้านสุขภาพในระยะยาว

ในส่วนประเด็นที่สอง การพัฒนาโครงการนั้นก่อให้เกิดการจ้างงานกับคนในท้องถิ่นจริงหรือไม่ ลองมองย้อนกลับไปที่ชุมชนเหล่านั้นว่ามีประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานเพียงพอหรือไม่ และหากต้องมีการนำเข้าแรงงานจากคนนอกพื้นที่ อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการตั้งถิ่นฐานใหม่ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในชุมชนดั่งเดิมก็เป็นไปได้ครับ จึงยังไม่เกิดการยอมรับกับโครงการที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ตามที่เป็นข่าว

เวลาเกิดข้อพิพาทระหว่างโครงการกับประชาชน มีหลักการทำงานอย่างไร

ต้องบอกว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญมาก ๆ โครงการต้องให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการพัฒนาโครงการอย่างเท่าเทียม ยิ่งไปกว่านั้นต้องรับฟังข้อห่วงกังวลและข้อเสนอแนะจากคนในพื้นที่เป็นสำคัญ และนำสิ่งเหล่านั้นมาสร้างเป็นมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความรู้สึกวางใจ มั่นใจในมาตรการลดผลกระทบดังกล่าว

สำคัญกว่านั้นคือโครงการต้องจริงใจ ไม่ปกปิดข้อมูล และติดตามอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความรู้สึกว่าประชาชนกับโครงการเป็นเจ้าของร่วมกัน อย่างไรก็ตามการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทต้องมีหน่วยงานกลางหรือ Third party เข้ามามีส่วนร่วมในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบเกิดความวางใจว่าจะได้รับการแก้ไขปัญหา รวมถึงการเยียวยาผลกระทบอย่างเป็นธรรมด้วยครับ

นักวิชาการสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องโลกสวยไหม

นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่นักจินตนาการนะครับ เราอยู่บนพื้นฐานของหลักการและเหตุผลทางวิชาการ เราใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการอธิบายเหตุการณ์ที่นำไปสู่ผลนั้น ๆ ซึ่งไม่ได้นำอารมณ์และความรู้สึกมาใช้ในการพรรณนาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

พูดอีกมุมหนึ่งคือเราไม่ได้โลกสวย แต่เราแค่อยากเห็นภาพสวย ณ ตรงนั้นต่างหากครับ ให้คงอยู่อย่างถาวรและยาวนานที่สุด หากแม้ว่าบริบทของพื้นที่ตรงนั้นจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนมาก แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นต้องไม่ละเลยคนส่วนน้อย คนเห็นต่างหรือคนดั่งเดิมที่อยู่มาก่อนครับ

อาชีพ “นักวิชาการสิ่งแวดล้อม” ให้อะไรกับเราบ้าง

เราได้สร้างสรรค์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รู้ รักษา ป้องกัน และฟื้นฟู และทำให้เราได้เรียนรู้คำว่า “หมดแล้วหมดเลย พังแล้วก็กู้คืนยาก” สิ่งแวดล้อมก็เป็นเช่นนั้น ถ้าคิดอะไรต้องการอะไร ต้องตระหนัก ถึงผลดีผลเสียให้รอบด้านครับ

เมื่ออนาคตของโลกอยู่ในมือเราทุกคน ดังนั้นอย่าถามว่าเป็นหน้าที่ของใคร ใครต้องดูแล เพราะมันไม่ใช่หน้าที่ของใครคนหนึ่งคนใดเท่านั้น หากแต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคนต้องร่วมมือกัน ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ไม่ทำลายแต่ช่วยฟื้นฟูเพื่อให้โลกน่าอยู่ยิ่งขึ้น