เมื่อปลาใหญ่กินปลาเล็ก ในตลาด Video Streaming

ต้นสัปดาห์ที่แล้วข่าวที่น่าจะสร้างแรงสะเทือนเล็ก ๆ ให้กับวงการ Video Streaming ในเมืองไทยคือการประกาศปิดตัวของ Line TV ที่ก่อนหน้านี้เคยมีโปรเจกต์ซีรีส์ที่สร้างประโยคให้คนทั่วบ้านทั่วเมืองพูดกันติดปากว่า “ใครฆ่านานะ” การปิดตัวของ Line TV ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายสำหรับการทำธุรกิจเพราะต่อให้บริษัทแม่อย่าง Line ที่ให้บริการ แอปฯสำหรับพูดคุยมีกำไรเป็นพันล้าน แต่ Business Unit ที่เกี่ยวกับ Video Streaming กลับไม่ทำกำไรตามเป้าที่วางไว้ ส่วนงานดังกล่าวก็ต้องปิดตัว

ความเคลื่อนไหวของวงการ Video Streaming ในช่วงห้าปีหลังสุด ที่มีเวลาคาบเกี่ยวอยู่บนสถานการณ์โรคระบาดนั้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีเจ้าเก่าที่ล้มหายตายจาก เจ้าใหม่ที่ก่อกำเนิดขึ้นด้วยเงินทุนมหาศาล และเจ้าเดิมที่ยังครองตลาดไว้อย่างเหนียวแน่น หากแต่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาในการหา Content คุณภาพ แม้จะมีการว่าจ้างสตูดิโอใหญ่ ๆ ให้ทำ Content ป้อนให้ทั้งภาพยนตร์ สารคดี และซีรีส์​ แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่ได้ตอบโจทย์คนดูสักเท่าไรนัก

Line TV ที่ปิดตัวไปนั้นส่วนหนึ่งมาจากรายได้จากโฆษณาไม่ได้ตามเป้าที่วางเอาไว้ แพลตฟอร์มของ Line TV นั้นให้รับชมฟรีและบังคับดูโฆษณาให้จบ ต่างจาก Video Streaming เจ้าอื่นที่แยก Content รับชมฟรีออกจาก Content ที่ต้องเสียค่าสมาชิกเพื่อรับชม และด้วยวิธีการของ Line TV คือไม่เก็บค่าสมาชิกแต่จะอาศัยรายได้จากโฆษณามาเจอกับสภาวะของโรคระบาด ประกอบกับผู้เล่นเจ้าใหญ่ของ Video Streaming ลงสนามในเมืองไทยมากขึ้น เค้กที่ Line TV เคยแบ่งได้จากตลาดก็เริ่มหดหายไป

นอกเหนือจาก Line TV ที่ต้องหายไปจากธุรกิจสตรีมมิ่งแล้วรายงานจาก positioningmag.com ยังได้ระบุถึง HOOQ (ฮุค) และ iFlix วิดีโอสตรีมมิ่งสองเจ้าที่ทำตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งต้องโบกมืออำลาไปเช่นกัน โดย HOOQ นั้นไม่สามารถทนต่อแรง Content ที่หลากหลายและทำตลาดลงท้องถิ่นที่มากกว่าได้ของเจ้าใหญ่ ขณะที่ iFlix นั้นเจอกับปัญหาเดียวกันและตัดสินใจขายต่อให้กับ Tencent เพื่อนำไปใช้พัฒนา WeTV ของตนเองต่อไป

เอาเข้าจริงตลาด Video Streaming ในเวลานี้แทบจะเป็น Red Ocean สำหรับผู้ที่คิดจะให้บริการไปแล้ว และทำให้ผู้ผลิตเนื้อหามีสิทธิ์ในการเลือกว่าจะขายให้ใครมากขึ้น เพียงแต่พฤติกรรมของผู้ชมในเวลานี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความนิยมของผู้ชมอย่างเดียว แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่การสร้าง Content ต้องมาพร้อมกับการสร้างกระแสเพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นต่อกลุ่มเป้าหมาย ที่แต่เดิมไม่ได้สนใจเนื้อหาในลักษณะดังกล่าว ให้กลายเป็นกลุ่มที่เข้ามารับชมด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ การทำเนื้อหาให้เข้ากับท้องถิ่น อาทิ ซับไตเติลหรือพากย์เสียงภาษาไทย เหล่านี้ช่วยให้ซีรีส์ ภาพยนตร์ และสารคดี เข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้กว้างมากขึ้น ซึ่งของแบบนี้ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดที่ยอมลงทุน หรือแม้กระทั่งการสร้างออริจินัล ซีรีส์ที่เป็นทีมงานคนไทย นักแสดงไทย ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เพราะอย่างไรแล้ว Content สำหรับคนท้องถิ่นนั้นยังคงเป็นสิ่งที่คนดูยังต้องการ

เมื่อทิศทางของตลาดมาในลักษณะนี้ อนาคตข้างหน้าของ Video Streaming น่าจะเป็นการฟาดฟันของเจ้าใหญ่ทั้งจากฝั่งตะวันตก และที่เป็นเจ้าตลาดเดิมในเอเชีย ส่วนใครจะอยู่จะไป ก็ต้องไปวัดกันที่ Content ของแต่ละเจ้าว่าสามารถสร้างอาการ “เสพติด” ได้มากแค่ไหน เพราะเอาเข้าจริงในทุกวันนี้ เวลาคุณเปิด Video Streaming ไม่ว่าจะเจ้าไหนขึ้นมา ทุกคนมักจะเกิดอาการคลิกวนไปเกือบ 30 นาที โดยที่ตัดสินใจไม่ได้สักทีว่าจะรับชม Content เรื่องใด ซึ่งนับเป็น pain point ของ Video Streaming ทุกเจ้า หากมีเจ้าไหนแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โอกาสที่จะดึงลูกค้าได้มากขึ้นก็น่าจะตามมา

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ