เคสขับรถจมน้ำ ใครผิด!

อุบัติเหตุรถจมน้ำ อันนำมาซึ่งผู้เสียชีวิต ถือเป็นข่าวเศร้าที่ไม่มีใครอยากให้เกิดครับ อุบัติเหตุในลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะเกิดจากเหตุสุดวิสัยที่ทำให้รถต้องเสียหลักตกลงไปในน้ำ แต่น้อยครั้งที่เราจะเห็นข่าวรถที่ขับมาแบบปกติ แลัวขับตรงลงไปจุดเกิดเหตุในน้ำเลย แล้วกรณีแบบนี้ใครล่ะที่ต้องรับผิดชอบ

ด้วยความเคารพต่อผู้สูญเสียจากเคสรถตกน้ำที่ จ.นครสวรรค์ ล่าสุด ก่อนอื่นผมขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะขออนุญาตออกความเห็นจากมุมมองส่วนตัวนะครับ พาดหัวข่าวจากเว็บไซต์ข่าวเกือบทุกสำนัก อ่านแล้วทำให้เข้าใจว่า GPS เป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุนี้

จริง ๆ แล้วถ้าเป็นอุปกรณ์ GPS หรือ Global Positioning System แบบเก่า ยุคนี้ผมว่าไม่น่ามีใครใช้กันแล้วนะครับ เพราะเป็นอุปกรณ์เสริมที่ต้องหามาเพิ่มติดรถ แต่หากย้อนกลับไปสัก 10 ปี มีรถหลายรุ่นที่ติดตั้งมาจากโรงงาน อาทิ โตโยต้า Camry รุ่นท็อป หรือ ซูบารุ XV เป็นต้น

ยุคนี้คนใช้รถส่วนใหญ่น่าจะกดจากแอปพลิเคชัน Google Map ในสมาร์ทโฟนกันหมดแล้ว เพราะมันสะดวก และที่สำคัญมีการอัปเดตข้อมูลจราจรได้แบบเรียลไทม์ แต่อย่างที่ผมเคยบอกไปในพื้นที่คอลัมน์นี้เมื่อ 2 วีคก่อน ว่าแอปฯ นี้มันแค่ตัวช่วย และมันก็ไม่ได้รู้ข้อมูลที่ถูกต้องแบบเป๊ะ ๆ

หากสังเกตให้ดี เวลาเราใช้ Google Map นำทาง แล้วเราขับรถอยู่บนทางด่วน บางจังหวะระบบยังบอกว่าเราอยู่ถนนด้านล่างอยู่เลย นั่นหมายความว่าระบบนำทางปัจจุบัน มันระบุพิกัดได้แค่ระนาบเดียวครับ ซึ่งจากเคสอุบัติเหตุรถฟอร์ด เอเวอเรสต์ รอบนี้ ผมคาดว่าเป็นกรณีเดียวกัน

ผมนั่งดูแผนที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กับเส้นทางอุบัติเหตุนี้ เข้าใจว่าระบบนำทางของผู้เสียชีวิต ซึ่งพิกัดอยู่บริเวณจุดกลับรถใต้สะพานข้ามแม่น้ำพอดี เข้าใจว่ารถอยู่บนสะพานแล้ว จึงบอกให้ขับข้ามสะพานไป ทั้งที่ความจริงรถอยู่ด้านล่าง และแน่นอนว่ามันคือการสั่งให้ขับลงแม่น้ำเจ้าพระยา!

ขณะเดียวกันเมื่อไล่ดูเส้นทางนั้นจาก Google Street View ที่เป็นภาพล่าสุดอัปเดตเดือน พ.ค. 2021 (ช่วงที่น้ำยังไม่สูงถึงตีนสะพานแบบวันเกิดเหตุ) พบว่าช่องที่รถขับลงไปนั้นเป็นทางที่แคบมากสำหรับรถ 1 คันผ่านได้เท่านั้น เป็นทางที่เจาะเอาไว้สำหรับลงทำกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงที่น้ำลด

ฉะนั้น หากเกิดกรณีในทำนองนี้ โดยเฉพาะเวลากลางคืน ในฐานะคนที่ไม่รู้จักเส้นทางนั้นเลย ควรจะลดความเร็วก่อนเป็นอันดับแรก เปิดไฟสูงให้เห็นทางได้ไกลที่สุด ไม่ควรปักใจเชื่อแอปฯ นำทางแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ และสังเกตเส้นทางรอบข้างด้วยสายตาตัวเอง เรื่องที่หนักอาจจะกลายเป็นเบาได้ครับ

ส่วนวิธีปฏิบัติหลังจากรถตกน้ำไปแล้ว ผมอ่านจากข่าว เจ้าหน้าที่กู้ภัยให้ข้อมูลว่า พบซากรถในสภาพเปิดกระจกฝั่งคนขับเอาไว้เต็มบาน ผมเชื่อว่าผู้ตายได้พยายามพาตัวเองออกจากรถได้แบบถูกวิธีแล้ว แต่จากการที่พบร่างห่างจากจุดเกิดเหตุ 20 กิโลเมตร อาจเป็นเพราะความแรงของกระแสน้ำก็เป็นได้

แต่ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดูแลเส้นทางนี้! ที่ละเลยการนำป้ายไฟหรือแบริเออร์ มาปิดทางลงแม่น้ำ (ล่าสุดแขวงทางหลวงนครสวรรค์ที่ 1 เพิ่งมาจัดการ) โดยเฉพาะในช่วงน้ำขึ้นสูงแบบนี้ อันตรายมากสำหรับคนที่ไม่รู้เส้นทาง และนำมาซึ่งความสูญเสียในที่สุด

เอาจริง ๆ เคสนี้ไม่ควรไปโทษหาคนผิดหรอกครับ แต่ถ้าถามผม คหสต. 1. ผมเชื่อว่าหากมีป้ายเตือน และปิดทางลงแม่น้ำ เหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน และ 2. หากแอปฯ นำทางมันฉลาดกว่านี้ (ระบุพิกัดระนาบบน-ล่างได้) ก็คงไม่นำทางลงแม่น้ำเช่นกันครั