ความสุขที่สร้างได้ ตามคำแนะนำของ CEO สถาบันวิจัยความสุข

แม้ว่า “ความสุข” จะเป็นเรื่องของนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถสัมผัสหรือบอกได้ว่าตนเองมีความสุขกันอยู่หรือไม่ ซึ่งจากผลการศึกษาโดยสถาบันวิจัยความสุข (Happiness Research Institute) ในเดนมาร์กเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่าสถานการณ์ของ COVID-19 (โควิด-19) และสภาพอากาศที่หนาวเย็นมีอิทธิต่ออารมณ์ ความรู้สึก และความสุขของเราได้

โดยผลการศึกษาดังกล่าวพบว่า ความเหงา ความรู้สึกโดดเดี่ยว มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นกับคนหนุ่มสาว, คนที่ตกงานหรือว่างงาน, คนโสด หรือคนที่ไม่ค่อยพอใจกับชีวิตของตนเอง

ยิ่งถ้าใครหมกมุ่นกับการติดตามสถานการณ์โควิด-19 มากเท่าไร ก็มีโอกาสที่จะเผชิญกับความกังวลใจ และความกลัวมากขึ้นเท่านั้นด้วย

ดังนั้น หากไม่อยากให้ตัวเองต้องกลายเป็นหนึ่งในคนเหล่านั้น ลองปฏิบัติตามคำแนะนำของ Meik Wiking ซีอีโอคนดังจาก Happiness Research Institute แล้วจะพบว่าความสุขหาได้ง่าย ๆ จาก 6 วิธีนี้

ดำดิ่งกับหนังสือดี ๆ สักเล่ม

“หนังสือทำให้เราได้ท่องไปในห้วงของเวลาและอวกาศได้” เมื่อเราไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตามปกติในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกยังไม่คลี่คลาย การได้อ่านหนังสือดี ๆ สักเล่มสามารถนำเราท่องไปยังโลกของตัวหนังสือได้เช่นกัน ซึ่งจากผลการศึกษาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Sussex ของอังกฤษ ยังพบด้วยว่าการอ่านเพียง 6 นาทีสามารถลดความเครียดได้ถึง 68 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

เรียนรู้สิ่งใหม่ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ

จากผลการศึกษาเมื่อปี 2018 ในหัวข้อ “ความทรงจำเกี่ยวกับความสุข” ที่สถาบันวิจัยความสุขเคยทำไว้ พบว่าการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ สามารถสร้างความทรงจำที่มีความสุขได้ โดยความทรงจำของคนเราเกือบ 1 ใน 4 นั้น มักจะเป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยทำมาก่อน หรือเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกกับตนเอง

บันทึกช่วงเวลาแห่งความสุข

สิ่งสำคัญของการบันทึกช่วงเวลาที่เรามีความสุข คือการได้ดื่มด่ำกับช่วงเวลานั้นอีกครั้งเมื่อได้จดบันทึกลงไปในสมุด อีกทั้งยังเป็นการย้อนเวลาให้ตนเองได้หวนกลับไปคิดถึงความทรงจำดี ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตด้วย ซึ่ง Wiking บอกว่าเพียงเท่านี้ก็ทำให้เรามีความสุขใจได้เล็ก ๆ น้อย ๆ แล้ว

ฝึกสร้างความสุขแบบ “Hygge”

“Hygge” ในภาษาเดนมาร์ก คือปรัชญาการใช้ชีวิตแบบที่สามารถหาความสุขได้ในทุก ๆ วัน ด้วยการสร้างบรรยากาศรอบตัวให้อบอวลไปด้วยความสุข เช่น การจุดเทียนในระหว่างดินเนอร์ หรือรับประทานมื้อค่ำกับครอบครัว ซึ่ง Wiking เล่าว่าจากประสบการณ์ตรงที่เขาเคยใช้ ปรากฏว่าทำให้มื้ออาหารกินเวลาที่ยาวนานขึ้นกว่าเดิมราว 20 นาทีเลยทีเดียว เพราะเทียนเล่มนั้นได้สร้างบรรยากาศให้ทุกคนอยากแลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างกัน

ใช้เวลาอยู่ใน “ครัว” ให้นานขึ้น

การที่เราได้มีส่วนร่วมในการทำอาหารตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ ไปจนถึงกระบวนการทำอาหาร และปรุงอาหารด้วยตัวเองนั้น ช่วยเพิ่มความสุขให้กับเราได้อย่างคาดไม่ถึง เพราะถือเป็นกิจกรรมที่ทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง และยังได้รังสรรค์เมนูอาหาร รวมถึงเพลิดเพลินกับการจัดแต่งอาหาร และได้ลิ้มรสอาหารอร่อย ๆ จากฝีมือตนเองด้วย

ยอมรับว่าแท้จริงแล้วไม่มีใคร “สุข” ได้ตลอดเวลา

ก่อนที่เราจะมีความสุขได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องยอมรับความจริงให้ได้เสียก่อนว่า ไม่มีใครบนโลกใบนี้ที่จะมีความสุขตลอดไป อย่าไปกดดันตัวเองว่าต้องมีความสุขให้ได้ตลอดเวลา เพราะในชีวิตคนเราย่อมต้องมีสุขทุกข์ปะปนกันเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อมีเรื่องใดทำให้ต้องทุกข์ใจ ให้ลองมองในมุมกลับกันว่าเราได้อะไรกลับมาบ้าง เช่น สถานการณ์ของโควิด-19 ทำให้มีเวลาได้อยู่บ้าน ได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น เป็นต้น

ที่มา : time.com