ในปัจจุบัน โลกของการทำงานเปลี่ยนไปจากเดิม ที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ การทำงานระยะไกล หรือ Work from Home ทำให้ทุกองค์กรต้องกลับมาทบทวนและประเมินการทำงานของพนักงานเสียใหม่ เพราะพนักงานไม่ได้เข้าออฟฟิศมาพบปะหัวหน้าหรือเจ้านาย และเพื่อนร่วมงานด้วยตนเอง
นั่นทำให้ผู้นำหลายคนพยายามจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการคุมการทำงานของพนักงาน ที่แม้ว่าพนักงานแต่ละคนจะทำงานต่างสถานที่กัน แต่พวกเขาก็ยังทำงานร่วมกันอยู่ดี จึงต้องทำให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขายังเป็นส่วนหนึ่งของทีม ขององค์กร เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน ผู้นำจึงต้องเอาใจใส่พนักงานมากขึ้น
มีรายงาน เปิดเผยว่า พนักงานกว่าครึ่งวางแผนที่จะออกจากองค์กรที่ล้มเหลวในการพัฒนาความสามารถและประสบการณ์ของพนักงาน ปรับปรุงวัฒนธรรมองค์กร และไม่สามารถรวมเอาความหลากหลายของพนักงานที่ทำงานต่างที่กันเข้าด้วยกันได้
5 ขั้นในการฝึกการเป็นผู้นำที่เอาใจใส่พนักงาน
หลังจากที่เฮเทอร์ อาร์. ยังเกอร์ (Heather R. Younger) สัมภาษณ์ผู้นำกว่า 80 คน ในพอดแคสต์ Leadership With Heart (ความเป็นผู้นำด้วยหัวใจ) และรับเชิญเป็นวิทยากรในการประชุมเชิงปฏิบัติการมากกว่า 350 ครั้ง เธอได้รับแรงบันดาลใจที่จะแบ่งปันประสบการณ์และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีการและรูปแบบความเป็นผู้นำ ในหนังสือเล่มใหม่ The Art of Caring Leadership ของเธอ โดยเธอแบ่งวิธีออกเป็น 5 ขั้น ตามข้อมูลที่เธอได้จากการสัมภาษณ์
1. ทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ
หัวหน้าหรือเจ้านายหลายคน อยู่บนหอคอยงาช้าง พนักงานเข้าไม่ถึง และห่างไกลจากที่จะรับรู้ปัญหาที่พนักงานเผชิญอยู่ ในทางกลับกัน จะมีผู้นำบางส่วนที่มักจะลงมาคลุกคลีกับพนักงาน เอาใจใส่ รับฟังเสียงของพนักงานอย่างตั้งใจ ทำให้พนักงานรู้สึกว่างานที่พวกเขาทำได้รับปฏิกิริยาตอบรับจากผู้นำ รู้ว่าอะไรคือปัญหา รู้ว่าต้องแก้ไขที่ตรงไหน พนักงานทำดีก็ชื่นชม ผิดพลาดก็ชี้แนะ ให้กำลังใจ ให้โอกาส ซึ่งผู้นำลักษณะนี้คือคนที่ขับเคลื่อนขีดความสามารถของพนักงาน เป็นที่รัก และช่วยให้การทำงานราบรื่นทั้งตัวผู้นำเองและองค์กร
2. มองหาข้อเด่นจากคนที่คุณเป็นผู้นำ
ผู้นำที่เป็นที่พึ่งที่ดีให้กับพนักงานนั้น มักจะมองหาความสามารถเด่น ๆ ของพนักงาน และงัดเอาความสามารถเหล่านั้นขึ้นมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ปล่อยให้พวกเขาทำงาน ทำหน้าที่ที่ตนเองถนัดอย่างเต็มความสามารถ แต่ถ้าพวกเขาเจอปัญหา แทนที่จะออกคำสั่งหรือกล่าวโทษ ให้พยายามเรียนรู้ว่าตัวเองพอที่จะช่วยเหลือหรือสนับสนุนอะไรพนักงานได้บ้าง อย่าปล่อยให้พนักงานต้องเผชิญและเอาชนะปัญหาเพียงลำพัง ผู้นำที่ดีจะไม่กลัวการลงไปช่วยเหลือและให้ความร่วมมือในการเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ไปพร้อมกับพนักงานของตน
3. เป็นผู้นำของทุกคน
ผู้นำหลายคนรู้สึกผิดที่ละเลยการปฏิบัติงานของพนักงาน เมื่อพวกเขาทำงานที่สำนักงาน แต่หลังจากที่ต้องทำงานระยะไกลกันแบบนี้ราว ๆ 12 เดือน ก็พบว่าเส้นแบ่งระหว่างชีวิตที่บ้านและการทำงานหายไป นั่นทำให้ผู้นำต้องกลับมาใส่ใจชีวิตของพนักงานที่ไม่ได้เข้ามาทำงานที่ออฟฟิศอย่างรอบคอบอีกครั้ง ว่าการที่พวกเขาต้องทำงานแบบห่างไกลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น การเรียนรู้ที่จะเป็นผู้นำที่เอาใจใส่พนักงานให้มากขึ้น ช่วยเหลือให้พวกเขาเติบโต จะช่วยสร้างทีมงานที่แข็งแกร่ง ทุกคนมีส่วนร่วม มีความมุ่งมั่น และต่างพึงพอใจในการทำงานของตนเอง
4. สร้างวัฒนธรรมการฟัง
ในองค์กรขนาดใหญ่ พนักงานทั่วไปจะรู้สึกว่าการที่หัวหน้าหรือเจ้านายจะได้ยินเสียงของพวกเขานั้นทำได้ยากเหลือเกิน แต่จริง ๆ แล้วมีวิธีที่ผู้นำสามารถนำมาใช้รับฟังเสียงพนักงานของตนได้ โดยการสำรวจและรับฟังความคิดเห็นของพนักงานจะทำให้รู้ว่าพนักงานต้องการอะไร เพราะต้องยอมรับว่าพนักงานคือคนที่ใกล้ชิดกับชิ้นงานมากที่สุด หลังจากนั้น พนักงานจะเฝ้าดูว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างหลังจากให้ข้อเสนอแนะไป การเป็นผู้นำที่รับฟังและพยายามปรับเปลี่ยนเท่าที่จะทำได้ตามคำแนะนำของพนักงาน ช่วยให้พวกเขาไว้ใจ และตั้งใจทำงานเพื่อองค์กรมากขึ้น
5. สร้างความไว้วางใจแก่พนักงาน
หลายองค์กรมักมีการสำรวจความคิดเห็นของพนักงาน ว่ารู้สึกอย่างไรกับงานที่ทำและผูกพันกับองค์กรมากน้อยแค่ไหน จุดนี้ทำให้พนักงานหลายคนเป็นกังวลว่าหากพวกเขาบอกประสบการณ์หรือความรู้สึกที่อยู่ในใจจริง ๆ ออกมา จะส่งผลกระทบต่อการทำงาน เช่น รู้สึกว่าโดนเพ่งเล็งเป็นพิเศษ หรือรู้สึกว่าถูกกลั่นแกล้ง ดังนั้น ผู้นำที่ดี คือ ผู้นำที่ใส่ใจความรู้สึกของพนักงาน ทำให้พนักงานไว้วางใจ และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นออกมาตรง ๆ เพื่อให้พิจารณาว่าควรปรับปรุงจริง ๆ ความเห็นเชิงลบที่สร้างสรรค์ สามารถนำมาใช้พัฒนาองค์กรได้จริง
ผู้นำที่จะเอาชนะใจพนักงาน คือผู้นำที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าสามารถพึ่งพาได้ เพราะการที่คุณจะเป็นผู้นำได้นั้น แปลว่าคุณต้องมีทักษะ มีประสบการณ์ มีความสามารถมากพอที่จะเดินนำพนักงานทั่วไป พนักงานจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างประสิทธิผล และมีความสุขในการทำงาน เมื่อพวกเขารู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กร ไม่ใช่เป็นเพียงฟันเฟืองในเครื่องจักร ดังนั้น การเอาใจใส่พวกเขา เชื่อว่าพวกเขาสามารถทำได้ เป็นได้ จะนำพาให้องค์กรให้พัฒนาไปอีกขั้นในที่สุด
ข้อมูลจาก Inc.