“พักทรัพย์ พักหนี้” ที่พึ่ง SME ที่มีทรัพย์เป็นหลักประกันชำระหนี้

เปิดให้ลงทะเบียนกันไปแล้วสำหรับมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” (Asset Warehousing) ซึ่งเป็นมาตรการลดภาระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามที่มีพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ) ออกมาก่อนหน้านี้

โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของมาตรการดังกล่าว คือผู้ประกอบธุรกิจที่รายได้ขาดหาย จนไม่พอชำระหนี้และค่าใช้จ่ายหมุนเวียนต่าง ๆ แต่ยังมีศักยภาพและมีความตั้งใจในการรักษาธุรกิจ ให้มีภาระหนี้ลดลง เพื่อสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ด้วยการโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้

คุณสมบัติผู้เข้าร่วม “พักทรัพย์ พักหนี้”

ผู้มีสิทธิเข้าร่วมมาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” จะต้องเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย รวมถึงมีสถานประกอบการและประกอบธุรกิจในไทย

โดยเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินอยู่แล้วก่อนวันที่ 1 มี.ค.2564 และไม่เป็น NPL หรือหนี้ไม่ก่อให้เกืดรายได้ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562 และไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน

ขณะที่ทรัพย์สำหรับใช้โอนตามมาตรการ (ทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อกับทางสถาบันการเงิน) นั้น ต้องเป็นทรัพย์ก่อนวันที่ 1 มี.ค.2564

มาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ดีอย่างไร?

มาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ถือเป็นโครงการภาคสมัครใจที่เป็นการเจรจาตกลงร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับสถาบันการเงิน ไม่สามารถบังคับกันได้ ซึ่งประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะได้รับ คือ ได้ลดภาระเงินต้นและดอกเบี้ย 3–5 ปี รู้ราคาซื้อคืนที่แน่นอน สามารถเช่าไปทำธุรกิจต่อได้ และไม่ถูกยึดหรือกดราคาขายให้กับกลุ่มทุน

นอกจากนี้ ก็ยังได้ปิดภาระหนี้กับสถาบันการเงิน ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องประวัติในบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ  (NCB) หรือที่หลายคนเรียกกันว่าเครดิตบูโร หากหนี้กลายเป็นหนี้เสียในอนาคต อีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีค่าธรรมเนียมจากการตีโอนอีกด้วย

เงื่อนไขในสัญญาเพื่อรับโอนทรัพย์เป็นอย่างไร?

หลังจากทำสัญญากับสถาบันการเงินแล้ว ลูกหนี้หรือเจ้าของทรัพย์มีสิทธิ์ซื้อคืนได้ภายในระยะเวลา 3-5 ปี นับตั้งแต่วันที่รับโอน และสถาบันการเงินต้องไม่ขายทรัพย์สินที่รับโอน เว้นแต่ได้รับแจ้งว่าจะไม่ใช้สิทธิเป็นหนังสือหรือลายลักษณ์อักษร

ลูกหนี้หรือเจ้าของทรัพย์สามารถเช่ากลับเพื่อนำไปประกอบธุรกิจต่อได้ โดยต้องแจ้งความประสงค์ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่สถาบันการเงินรับโอนทรัพย์ ซึ่งสถาบันการเงินจะนำเงินค่าเช่าที่ได้รับดังกล่าวหักจากราคาขายคืน แต่หากผู้เช่าทำทรัพย์สินเสียหาย ชำรุด เสื่อมค่า อาจไม่ได้รับสิทธิในการซื้อคืน

ส่วนการคำนวณราคาซื้อคืนจะต้องไม่เกินจากราคาที่สถาบันการเงินรับโอน + ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา (Carrying Cost) ไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี + ค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดขึ้นจริง – ค่าเช่าที่ได้รับจากลูกหนี้หรือเจ้าของทรัพย์ระหว่างสัญญา ซึ่งธุรกรรมดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการโอนทรัพย์ทั้งขาที่โอนให้สถาบันการเงิน และขาซื้อคืนของลูกหนี้หรือเจ้าของทรัพย์

คุณสมบัติไม่ได้ มีทางเลือกอื่นไหม?

ผู้ประกอบธุรกิจที่ติดขัดทางการเงินแต่ไม่เข้าข่ายที่จะเข้าตามมาตรการนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยแนะแนวทางให้พิจารณาทางเลือกอื่นเพื่อเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ตามกลไกปกติกับสถาบันการเงิน ดังต่อไปนี้

  • ยืดเวลาชำระหนี้
  • ลดอัตราการผ่อนชำระ
  • พักชำระหนี้เงินต้น
  • แปลงหนี้เป็นทุน
  • ตีโอนทรัพย์เพื่อชำระหนี้ทั่วไป

กิจการไปต่อได้ ให้ขอ “สินเชื่อฟื้นฟู”

ส่วนผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม SME ที่สามารถประคับประคองกิจการได้ หากต้องการสินเชื่อหมุนเวียนหรือปรับรูปแบบธุรกิจ สามารถขอรับความช่วยเหลือในส่วนของมาตรการ “สินเชื่อฟื้นฟู” ได้  เพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจ ลดผลกระทบต่อการจ้างงาน และฟื้นฟูการประกอบธุรกิจ

โดยวงเงินสินเชื่อที่จะได้รับนั้น หากเป็นลูกหนี้เดิม จะขอกู้ได้ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินในแต่ละสถาบันการเงิน แต่ไม่เกิน 150 ล้านบาท ซึ่งหากเคยได้รับสินเชื่อ Soft Loan เดิม ให้นับรวมด้วย ส่วนลูกหนี้ใหม่ สามารถขอกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยให้นับรวมวงเงินจากทุกสถาบันการเงิน

สำหรับระยะเวลาสินเชื่อ 5 ปี จะคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่ช่วง 2 ปีแรกของสัญญา ให้สถาบันการเงินคิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่ง 6 เดือนแรก รัฐบาลจะเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ยให้ด้วย โดยสามารถติดต่อสถาบันการเงินได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย