การเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นเป็นสิ่งที่หลายคนมักจะทำไปโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าผลลัพธ์ที่ตามมาจะเป็นการตอกย้ำว่ามีอะไรบ้างที่เรามีไม่เท่าคนอื่น และมีอะไรบ้างที่คนอื่นมีมากกว่าเรา
ความรู้สึกภายในจิตใจจึงดำดิ่งอยู่กับความอิจฉาเมื่อเห็นคนอื่นมีชีวิตที่ดีกว่า ยิ่งโซเชียลมีเดียทำให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของคนอื่นได้ง่ายขึ้น ก็ยิ่งทวีความทุกข์ใจ เพราะอดเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นไม่ได้
แม้ว่าทฤษฎีการเปรียบเทียบทางสังคม (Social Comparison Theory) ของ Leon Festinger นักจิตวิทยาสังคม จะมองว่าการเปรียบเทียบกับคนที่อยู่เหนือกว่า จะช่วยเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้นได้
แต่ ถ้าอยากทำตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม คนที่ควรนำมาเปรียบเทียบด้วยมากที่สุด ก็คือตัวเราในอดีต ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นเป็นในวันนี้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในข้อควรปฏิบัติจาก “12 กฎที่ใช้ได้ตลอดชีวิต” (12 RULES FOR LIFE) หนังสือขายดีที่ตีพิมพ์ไปทั่วโลกกว่า 3 ล้านเล่ม
โดยนักจิตวิทยาคลินิก Jordan B. Peterson ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้บอกว่า ทุกคนล้วนเกิดมาไม่เหมือนกัน ทุกคนต่างมีโจทย์ในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน และไม่ได้เกิดมาเพื่อถูกวางทาบหรือนำไปเปรียบเทียบกับใคร
ดังนั้น แทนที่จะเสียเวลาไปกับการใส่ใจชีวิตของคนอื่นว่าวัน ๆ เขาทำอะไร หรือเขามีอะไรที่เราไม่มี ให้ลองเปลี่ยนมาโฟกัสที่ตัวเราแทนว่าจะทำอย่างไรให้ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน จะทำอย่างไรเพื่อพัฒนาตนเองให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้
เมื่อรักตัวเองมากพอ ก็จะมีแรงบันดาลใจในการทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อนำพาชีวิตไปอยู่ในจุดที่ต้องการได้ โดยเริ่มจากตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ที่ใกล้ตัวก่อนแล้วเริ่มทำทันที ซึ่งการจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตั้งเป้าไว้ นอกจากจะทำให้มีสมาธิอยู่กับตัวเองแล้ว เผลอ ๆ จะลืมสนใจเรื่องคนอื่นไปโดยปริยายด้วย