คุณทำงานในสายสื่อด้วยตำแหน่งอะไรคะ เคยถามตัวเองไหมว่าตำแหน่งที่ทำอยู่จะมีวันหมดอายุไหม ความสามารถที่คุณมีจากโลกในอดีตเป็นสิ่งที่โลกปัจจุบันหรือในอนาคตยังต้องการอยู่ไหม ถามไปแบบนี้คุณคงอยากถามเรากลับว่า “มันจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือ” ไม่มีคำตอบให้ค่ะ แต่ลองสังเกตหรือพูดคุยกับผู้คนดู คุณจะรู้คำตอบด้วยตัวคุณเอง
ลองถามคนที่อายุต่ำกว่า 25 ปีว่าพวกเขาอ่านหนังสือพิมพ์ไหม พวกเขาดูทีวีไหม หรือพวกเขายังฟังวิทยุเหมือนที่คุณฟังอยู่ไหม คำตอบที่ได้แทบจะเหมือนกันหมดคือ “ไม่” และเป็นไม่ ที่ไม่ได้เห็นว่า หนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ คือสิ่งสำคัญในชีวิต เด็กบางคนยังใช้รีโมทไม่ค่อยจะคล่อง แต่ถ้าให้เข้า Apple TV หรือ เปิด Netflix รับรองว่าทุกอย่างจะรวดเร็วภายในหนึ่งนาที
ถ้าคุณจะแย้งว่า “ไม่เห็นจะแปลก วัยรุ่นก็ต้องทันกับเทคโนโลยีกันอยู่แล้ว” ถ้าอย่างนั้นลองหันกลับไปดูผู้ใหญ่ในสายสื่อที่เอาความสามารถจากโลกเก่าของตัวเองมาปรับใช้กับโลกใหม่ได้อย่างแนบเนียน และยังคงรักษาความน่าเชื่อเอาไว้ได้
อย่างคุณสุทธิชัย หยุ่น ที่ยังคงเป็นนักข่าวและผู้เชี่ยวชาญที่ยังคงนำเสนอประเด็นน่าสนใจผ่านทางแพลตฟอร์มในโซเชียลมีเดีย หรือคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ยังคงเป็นคนที่เต็มไปด้วยข้อมูลเชิงลึกและทำรายการผ่านทางยูทูปและเฟซบุ๊ก
หรือหันไปดูรุ่นกลางที่ถูกกำหนดว่าเป็น เจเนอเรชัน เอ็กซ์ เป็นผู้นำทางความคิด มีอดีตที่ทำงานสายสื่อสิ่งพิมพ์ หรือวิทยุโทรทัศน์ ที่ปรับเอาประสบการณ์มานำเสนอในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้อย่างไม่เคอะเขิน แม้กระทั่งคนทำละคร ทำหนัง ยังต้องปรับการนำเสนอเนื้อหา ให้ไปอยู่บนแพลตฟอร์มที่เรียกกันว่า OTT STREAMING
มาถึงตรงนี้พอจะนึกภาพออกหรือยังคะ ว่างานที่คุณกำลังทำอยู่ใกล้ถึงวันหมดอายุหรือยัง เราเองมักพูดกับทีมที่ทำงานด้วยกันว่าความเปลี่ยนแปลงในแวดวงสื่อน่าจะเกิดขึ้นภายในห้าปี แต่เมื่อมีการระบาดของไวรัสส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้การใช้ชีวิตต้องปรับตัวกันใหม่หมด สิ่งที่เราได้อัปเดทกับทีมงานต่อการคาดการณ์ดังกล่าวคือ “ความเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อจะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนแรกของไตรมาสที่สามปี 2563”
ทำไมเราถึงคิดแบบนั้น คำตอบมาจากหลักการทางเศรษฐกิจ เมื่อผู้ประกอบการต้องรัดเข็มขัด สิ่งแรกที่พวกเขาจะทำคือตัดงบโฆษณา ในขณะที่วงการสื่ออยู่ได้ด้วยเม็ดเงินจากโฆษณา สื่อจากยุคเก่าอย่างหนังสือพิมพ์นั้น เอเยนซี่แทบจะไม่สนใจลงโฆษณามานานแล้ว
ส่วนโทรทัศน์ที่ปัจจุบันคือโลกของดิจิทัลทีวี ก็เรียกได้ว่าแย่งชิ้นเนื้อแม้กระทั่งเศษเนื้อที่กระเด็นจากการสับกันเลยทีเดียว ไม่ต้องพูดถึงทีวีแบบบอกรับสมาชิกหรือเคเบิ้ลทีวีที่มีแต่โทรศัพท์เข้าไปคอลเซ็นเตอร์ ไม่ใช่โทรเข้าไปขอติดตั้ง แต่เป็นการโทรเข้าไปเพื่อขอบอกเลิกสมาชิก
เม็ดเงินจากเอเยนซี่ในปัจจุบันเทไปที่สื่อออนไลน์ Youtuber และ Influencer แต่ก็ใช่ว่าสื่อออนไลน์ที่ยังคงรูปแบบเดิมจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วจะนอนกินได้เรื่อย ๆ เพราะสื่อออนไลน์ใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้นได้ทุกวันเช่นกัน ในขณะที่คนรับสื่อก็รู้จักเลือก และต้องการสื่อที่เป็นตัวแทนในรุ่นของตนเอง
เมื่อความต้องการของผู้บริโภคสื่อเป็นเช่นนั้น ก็ไม่ต้องแปลกใจที่เม็ดเงินโฆษณาจะไหลเข้าไปสู่สื่อออนไลน์รุ่นใหม่ เข้าไปสู่แพลตฟอร์มการดูหนังและซีรีส์ ที่ในเวลานี้เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยกันหลายเจ้า หรือแม้กระทั่งไหลเข้าไปสู่เหล่า Influencer ที่ทำเนื้อหาได้โดนใจมากกว่าผู้สื่อข่าว
ขณะเดียวกัน สิ่งที่เรามองเห็นในฐานะที่เราเองก็เป็นคนทำงานด้านสื่อคนหนึ่ง และได้ใช้วิธีการทำงานแบบ Multifunction มาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ก็ทำให้ได้เห็นศักยภาพของคนที่จะได้อยู่ต่อ และไม่ได้อยู่ต่อ เพราะในโลกใหม่ของคนที่คิดจะเป็นสื่อนั้น ตากล้อง จะไม่ใช่แค่ตากล้อง แต่หมายถึงคนที่กำกับภาพได้ ใช้อุปกรณ์ได้อย่างคล่องแคล่ว และอาจหมายถึงตัดต่อได้อีกด้วย
นักเขียน จะไม่ใช่แค่นักเขียน แต่ต้องออกไปสัมภาษณ์ได้ ถ่ายคลิปสั้นได้ ทำอินโฟกราฟิกจากโปรแกรมสำเร็จรูปได้ รายการที่อยู่ในห้องส่งมีโปรแกรมควบคุมการตัดต่อ มีโปรแกรมควบคุมเสียง หรือแม้กระทั่งกราฟิกสำเร็จรูป ซึ่งจะทำให้หนึ่งรายการจะใช้จำนวนคนลดลงครึ่งหนึ่งของปัจจุบัน
ยกตัวอย่างมาให้เห็นถึงขนาดนี้ ถ้าวันนี้ ถ้าคุณไม่เปลี่ยน ยังคงจะอยู่ในโลกเดิมของตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด เราบอกได้เลยว่าโลกที่กำลังเปลี่ยนจะเปลี่ยนคุณเอง คำกล่าวของนักเศรษฐศาสตร์ที่พูดถึงปัญหาการตกงานที่กำลังจะเกิดขึ้นนับจากนี้ว่า “อาชีพที่เคยทำจะไม่มีให้ทำอีกแล้ว อาจต้องเปลี่ยนอาชีพไปเลย” คุณอยากจะเป็นแบบนั้นไหม ลองถามตัวเองดูค่ะ
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า