“บีแหลมสิงห์” สยามพงษ์ ผลมาก กับทิศทางสื่อในอนาคตและผลพวงจาก COVID-19

เมื่อ “บี แหลมสิงห์” สยามพงษ์ ผลมาก รองบรรณาธิการข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์แนวหน้า ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างสำหรับแวดวงฟุตบอล ในฐานะนักจัดรายการวิทยุวิเคราะห์ฟุตบอล และเจ้าของเพจ “บีแหลมสิงห์FanPage” แวะมาเยือน Tonkit360 จึงมีบสัมภาษณ์พิเศษ “คนต้นคิด” มาฝากแฟน ๆ พร้อมทั้งสอบถามเกี่ยวกับผลพวงจาก COVID-19 และทิศทางสื่อในอนาคต

คนรู้จัก “บี แหลมสิงห์” จากช่องทางไหน

คิดว่าน่าจะมาจากวิทยุครับ คือเริ่มต้นจากการเป็นผู้สื่อข่าวก่อน เริ่มต้นทำงานนี้แบบเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ 25 สิงหาคม 2541 ที่หนังสือพิมพ์แนวหน้าครับ จากนั้นก็เริ่มทำทั้งวิทยุ แล้วก็โทรทัศน์พร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย เมื่อ World Cup ปี 2002 ฟุตบอลโลก ซึ่งเป็นฉบับเอเชีย ตอนนั้นจะมีงานที่อยู่กลางวันเยอะมาก พิธีกรคู่ก็ไม่ใช่ใคร คุณธีรพัฒน์ อัครเศรณี นี่แหละครับ เมื่อปี 2002 

แต่ผมคิดว่าคนรู้จักจากการเป็นนักจัดรายการวิเคราะห์ฟุตบอล คือไม่ได้บอกว่า พูดใครจะแพ้ใครชนะอย่างเดียว เขาให้ไปพูดเกี่ยวกับว่าทีมนั้นเป็นอย่างไร เจาะลึกประวัติที่ สวพ. FM 91 ก็ตรงนั้นแหละครับที่ทำให้คิดว่าคนจะรู้จักจากตรงนี้ 

หลังจากนั้นก็ได้วิเคราะห์ฟุตบอลในโอลิมปิกเกมส์ ตามมาด้วยยูโร ปี 2004 และหลังจากนั้น 2 ปี ก็ได้เข้ามาทำที่สถานีวิทยุ FM 90.5 ตั้งแต่วันนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นเลยครับ จนถึงวันนี้ก็ยังทำที่ FM 90.5 

ส่วนปีที่คนรู้จักแบบจริง ๆ คือ ปี 2006 ตอนบรรยายฟุตบอลที่ FM 99.0 เป็นรุ่นแรกที่บรรยายแบบให้มันขำเข้าไว้ เพราะว่าจากการรับคำสั่งมาจากนายสถานี คุณยุทธพงศ์ วิชัยดิษฐ บอกว่าพากย์ยังไงก็ได้ ไม่ให้ไปตามเกม แต่อยู่ในเกม ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ว่าเราก็ทำได้ คนก็เลยรู้จักตั้งแต่ตอนนั้นครับ

ที่มาของชื่อ  “บี แหลมสิงห์”

คือจริง ๆ ชื่อเล่นผมชื่อน้องบี แม่นี่เรียกน้องมาตลอด คือตัวเนี่ยอาจจะไม่ใช่น้องบีแล้วนะฮะในตอนนี้ จนกระทั่งเข้ามาฝึกงานที่สยามรัฐก็ยังใช้ชื่อนามปากกา “น้องบี” กับอีกชื่อคือ “สยามพงษ์” ชื่อจริงน่ะครับ ก็ยังไม่ได้เปลี่ยน จนกระทั่งมาได้งานที่แนวหน้า แล้วก็กำลังจะเข้าสู่เอเชียนเกมส์ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เดือนธันวาคม ปี 1998 ทางออฟฟิศบอกว่าให้ตั้งฉายาหน่อย แล้วจังหวะเดียวกัน ผมต้องทำสนุกเกอร์ ซึ่งนักสนุกเกอร์เป็นกีฬาที่จะต้องมีฉายานะครับ

จังหวะนั้น แม่เลยตัดสินใจตั้งชื่อให้ว่า “บี แหลมสิงห์” เนื่องจากว่าเป็นบ้านเกิดคุณพ่อ ที่จันทบุรีครับ ก็เลยเอาชื่อตรงนี้มาใช้ แล้วปรากฏว่าหลังใช้ชื่อนี้ก็มีงานเข้ามาแบบไม่น่าเชื่อเลยครับ คือนอกจากงานประจำ ซึ่งกำลังจะผ่านโปรเนี่ย ก็มีงานนู้นงานนี้มาให้เขียน เหมือนชื่อนี้ที่แม่ตั้งให้เนี่ย มันเป็นพรอันประเสริฐกับชีวิตนี้ แล้วก็ทำให้คนรู้จัก

ทุกวันนี้ ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ ในมุมมองคนทำสื่อ คิดเห็นอย่างไร

ไม่ได้ครับ ใคร ๆ ก็จะมาเป็นสื่อกันง่าย ๆ ไม่ได้นะครับ คืออันนี้ขอเถียงเลย แน่นอนว่าทุกวันนี้การสื่อสารมันอยู่ที่ปลายนิ้ว บางทีคนเราไม่รู้จักกัน ทะเลาะกันได้จากปลายนิ้ว จากสื่อนี่แหละ เพราะฉะนั้นแล้ว คุณเป็นสื่อไม่ได้ 

สื่อกับเพจนี่ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันแน่นอน ขนาดตัวเราเป็นคนทำเนี่ย เรายังรู้เลยว่าวันนี้เราเขียนเพจนะ เราไม่ได้เขียนจากความเป็นสื่อ แต่ถ้าวันนี้ เราจะเอาความเป็นสื่อลงเพจเนี่ย เรารู้ได้ด้วยตัวของเราเอง แต่ส่วนใหญ่คนที่ทำเพจเนี่ย ก็คือใช้ความถูกใจครับ ไม่ได้ใช้ความถูกต้อง แล้วสิ่งที่จะแสดงออกมาให้เห็นเนี่ย บางทีมันไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองจากความคิดที่มันมันควรจะมีกระบวนการมากกว่านี้ ในการที่จะเป็นสื่อที่มันชัดเจนน่ะครับ

ผมมองว่าทุกคนเป็นสื่อไม่ได้ การที่กว่าคุณจะเข้ามาในระบบการเป็นสื่อสารมวลชนได้อย่างเต็มรูปแบบ และมีความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน มันต้องเรียนเยอะมากนะครับ

ในฐานะที่อยู่ในวงการสื่อมานานกว่า 20 ปี COVID-19 ส่งผลต่อสื่ออย่างไร

ต้องบอกว่าอย่างแรกเลย โควิด 19 เนี่ยเกิดมาเพื่อฆ่าหนังสือพิมพ์ให้มันเร็วขึ้น คือหนังสือพิมพ์เนี่ย ก็ใกล้แล้วล่ะ ตอนนี้ คือพูดง่าย ๆ ว่าสื่อสิ่งพิมพ์ ก็รอญาติมาให้ครบ แล้วก็ดึงสาย หรือไม่ก็เซ็นให้ครบ จนกระทั่งเกิดพี่ไวรัสคนนี้ ซึ่งพี่เขาเป็นใครก็ไม่รู้ 

สำหรับฟุตบอลเนี่ย ผมเรียกว่า วลาดิเมียร์ โควิด หมายเลข 19 มาจากไหนไม่รู้แหละ แต่คุณนี่เก่งมากเลย ที่คุณบล็อกลิเวอร์พูลไม่ให้เป็นแชมป์ได้ คุณบล็อกนู่นนี่นั่นได้หมดเลย คุณบล็อกแม้กระทั่งเครื่องบิน คุณบล็อกคนให้อยู่บ้านได้ 

เขาก็แซวกันว่าเหมือนกับภรรยาที่อยากให้สามีอยู่บ้าน ให้อยู่ได้หมด ก็ทำให้ทุกคนหยุดหมด และที่สำคัญผมว่าเขาทำให้ทุกคนหยุดคิด ตัวผมก็มีความรู้สึกว่า อย่างเราเคยทำงานสัปดาห์ละ 6 วันครึ่งเนี่ยครับ มีความรู้สึกว่าได้เบรก อยู่กับบางสิ่งที่เราเดินผ่าน แต่เรามองข้ามไป กลับมาใช้ชีวิตแบบเหมือนช้า ๆ Slow Life ที่เขาเรียกกัน ช้า ๆ แต่ว่ามันมีความรู้สึกว่า มันมีความสุข และทุกวันเนี่ย มันกลับผ่านไปอย่างรวดเร็วไม่ใช่ผ่านไปอย่างช้า ๆ

หลังหมด COVID-19 คิดว่าทิศทางของสื่อในอนาคตจะเป็นเช่นไร

ผมมองว่ามันอยู่ที่ผู้บริโภค เพราะตอนนี้ผู้ผลิตเยอะมาก ผู้ผลิตตรงนี้เยอะ แล้วก็มันสะท้อนออกมา 2 มุม เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว ผู้บริโภคต้องบริโภคให้ถูกต้อง ผมก็พอมีเวลาที่จะไปเห็นคนที่ทำ YouTube บางทีคำพูด อะไรต่าง ๆ เนี่ยมันรุนแรง ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนมันยังมี กบว. คอยเซฟ หรือคอย ๆ มาบล็อกไว้ดูก่อน แต่ YouTube อะไรพวกนี้ ไม่มีนะครับ อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ

ถ้าคนไหนพูดรุนแรง ทำไมคนจะชอบตามผมไม่เข้าใจ คนไหนพูดดี ๆ เรียบร้อย นำเสนอข้อมูล…คนไม่ชอบ คนชอบ passion อันนี้ชักน่ากลัวแล้วครับ มันชักจะน่ากลัวเข้าไปทุกที โลกเสรี… บางทีมันเสรีเกินไป ก็อันตราย