ทุกวันนี้ ดูเหมือนว่าความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยจะลดน้อยถอยลงไปทุกที แม้กระทั่งศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้าที่มีพนักงานดูแลความปลอดภัยและมีกล้องวงจรปิดอยู่ตามมุมต่าง ๆ ก็ยังไม่สามารถรับประกันเรื่องความปลอดภัยให้กับเราได้
นับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุการณ์กราดยิงในห้าง Terminal 21 โคราช เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เรายังคงได้ยินข่าว “ยิงกันในห้าง” ตามมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในห้างเซ็นจูรี่พลาซ่า ย่านพญาไท และห้างเซ็นทรัลพลาซา รัตนาธิเบศร์ ซึ่ง 2 กรณีล่าสุด มีสาเหตุมาจาก “ความหึงหวง” ของฝ่ายชายทั้งสิ้น จึงเกิดคำถามตามมาว่า “คนไทยสามารถครอบครองปืนได้ง่ายดายขนาดนั้นเชียวหรือ?”
หากพิจารณาจากข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการพกพาอาวุธปืนโดยไม่ผิดกฎหมาย (อ้างอิงข้อมูลจาก lawyers.in.th) การจะมีปืนสักกระบอกไว้ในครอบครองนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่าย ๆ เพราะต้องผ่านขั้นตอนมากมาย
1. เป็นอาวุธปืนของตนเองและได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ได้ตามกฎหมาย ( ป.4) แต่ต้องยื่่นคำร้องป.1 เพื่อให้สามารถซื้อปืนได้ตามป.3
หมายเหตุ
ป.4 คือใบทะเบียนปืนที่ระบุผู้ซื้อเป็นเจ้าของ แต่ยังไม่มีสิทธิ์ในการพกพา
ป.1 คือใบอนุญาตที่นำไปยื่นต่อนายทะเบียน (ระบุรุ่น และร้านที่จะซื้อปืน) เพื่อให้นายทะเบียนออกใบป.3
ป.3 คือใบอนุญาตให้ซื้อปืนได้ตามร้านที่ระบุ จากนั้นนำกลับมาให้นายทะเบียนตรวจ
2. มีใบพกพาทั่วราชอาณาจักรหรือในเขตจังหวัด (ป.12) หากผู้ใดประสงค์จะพกพาปืน ต้องยื่นคำร้องแบบ ป.1 ต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต จึงจะมีสิทธิ์พกพาได้
หมายเหตุ
ป.12 คือใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ซึ่งผู้พกปืนต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด เช่น เป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ควบคุมทรัพย์สินของรัฐบาล เป็นต้น
3.พกได้โดยมีข้อยกเว้นตามกฎหมายที่กำหนด โดยมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์
อาทิ เพิ่งขายของได้เงิน 50,000 บาท และจำเป็นต้องนำเงินไปฝากไว้ธนาคาร ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านราว 10 กม. ซึ่งตามทางเคยมีการก่อคดีปล้นมาก่อน จึงพกปืนมีทะเบียน มีใบอนุญาตติดตัวไปพร้อมกับเงินที่ต้องนำไปฝากธนาคารในวันนั้น
ทั้งนี้ การขอใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืนได้ มีด้วยกัน 5 กรณี คือ 1.ใช้ป้องกันตัวเองและทรัพย์สิน 2.เพื่อการกีฬา 3.เพื่อการล่าสัตว์ 4.เก็บเป็นที่ระลึก 5.พกชั่วคราว (นักการทูตและผู้ติดตาม)
นอกจากนี้ ยังมีข้อกฎหมายที่ระบุชัดเจนในการห้ามออกใบอนุญาตให้กับบุคคลเหล่านี้ 1.ผู้ต้องโทษจำคุก ขัดต่อมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ 2.ไม่บรรลุนิติภาวะ 3.พิการหรือทุพพลภาพ 4.วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน 5.ไม่มีอาชีพและรายได้ 6.ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง 7.ประพฤติผิดร้ายแรง
แม้ว่าจะมีข้อกำหนดกฎหมายระบุไว้ละเอียดยิบขนาดนี้ แต่ข้อมูลเมื่อช่วงปลายปีที่แล้วจาก aseantoday.com กลับระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีผู้ครอบครองอาวุธปืนมากที่สุดในตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศในย่านอาเซียนที่มีอัตราการเสียชีวิตซึ่งมีมูลเหตุจากการใช้อาวุธปืนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากฟิลิปปินส์
เท่านี้ก็คงบอกเป็นนัย ๆ ได้แล้วว่าบ้านเราครอบครองอาวุธปืนได้ง่ายดายเพียงใด!