ปัญหาขยะที่เพิ่มพูนสูงขึ้นของทั่วโลกเป็นเรื่องน่าวิตกกังวลอยู่ไม่น้อย และหากมองในความจริงที่กำลังเป็นไปทุกคนล้วนรู้ว่าปัญหาเหล่านี้กำลังส่งผลหนักข้อขึ้นทุกวัน แต่ดูเหมือนพฤติกรรมก็ยังไม่ปรับเปลี่ยนเพราะยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวอยู่
รู้หรือไม่ว่าปัจจุบัน ไทยติดอันดับประเทศที่นำเข้าขยะมากที่สุดในโลก ในขณะที่ก่อนหน้านี้ประเทศที่ออกตัวเป็นผู้นำเข้ามากที่สุดในโลกคือ จีน เนื่องจากการเร่งเติบโตและต้องการทรัพยากรสูง แต่ต่อมาการนำเข้าขยะอย่างมหาศาลของจีนทำให้เกิดมลพิษอย่างมากในประเทศ ทั้งทางอากาศ แหล่งน้ำ และสารพิษที่ปนเปื้อน ทำให้จีนประกาศยกเลิกการเป็นถังขยะโลก ทำให้การขนทิ้งขยะของหลายประเทศต้องหาทางออกใหม่
การทิ้งขยะของประเทศอย่าง ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย จึงถูกเบนเข็มมาที่ประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หวยจึงมาออกที่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เนื่องจากข้อดีที่เกิดกับผู้ส่งออกหลายประการ ทั้งค่าแรงที่ถูกกว่า กฎหมายที่เข้มงวดน้อยกว่า ทำให้ในเวลาไม่นานประเทศไทยมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นมาก ทั้งขยะที่ยากในการกำจัดและขยะอิเลคทรอนิคส์
ขยะอิเลคทรอนิคส์อาจพอหาประโยชน์ได้บ้างจากการคัดแยกส่วนประกอบต่าง ๆ เช่น ทองแดง นิกเกิล ทองคำ แต่ขยะมูลฝอยและพลาสติกอื่น ๆ ที่ท่วมท้นนั้นจัดการได้ยากมาก จากสถิติที่ขยะเหล่านี้มีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ จึงมีทางออกในการกำจัดขยะเหล่านี้ด้วยการฝังดินและการเผาเท่านั้น ส่งผลให้เกิดมลพิษเป็นผลเสียอีกหนึ่งต่อ
ถึงอย่างไรการกำจัดขยะก็ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องที่หาทางออกได้ยาก ทำให้เกิดการกองถม และปนเปื้อนเข้าสู่สิ่งแวดล้อม ด้วยมาตรการที่เข้มงวดน้อยและค่าใช้จ่ายในการกำจัดที่ค่อนข้างสูง บางหน่วยงานมักง่ายเพียงเพราะความรวดเร็วและง่ายทำให้กำจัดขยะอย่างไร้ประสิทธิภาพ
ปัจจุบันการขนส่งขยะเข้าสู่กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอนลงระหว่างผู้นำเข้าและผู้ส่งออก โดยเฉพาะแคนาดากับฟิลิปปินส์
สถานการณ์ล่าสุดหลายประเทศที่ตกเป็นถังขยะโลก มีมาตรการส่งกลับขยะที่นำเข้ามาอย่างไม่ถูกต้องสู่ประเทศต้นทาง เนื่องด้วยการเล็งเห็นว่าเป็นวิธีการที่จะทำให้ประเทศผู้ส่งออกขยะได้เผชิญหน้ากับปัญหาแทนการผลักภาระให้กับประเทศแถบเอเชีย
จนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถหาวิธีกำจัดขยะจำนวนมากที่มีประสิทธิภาพพอและไม่สามารถกำจัดได้หมดในเร็ววัน จึงเป็นที่มาของมาตรการลดการเกิดขยะในชีวิตประจำวันของหลายประเทศ เพราะอย่างน้อยแม้การกำจัดขยะจะเป็นไปได้ยากแต่การลดการใช้ขยะของคนก็มีส่วนช่วยลดการเกิดขยะได้บางส่วน
ในประเทศไทยการตระหนักถึงปริมาณขยะที่เกิดขึ้น ทำให้ห้างร้านออกมาตรการงดและลดการแจกถุงพลาสติก ประเทศอินโดนิเซียมีการจัดตั้งแคมเปญรีไซเคิลขวดพลาสติกด้วยการในผู้ใช้รถเมล์โดยสารสามารถนำขวดมาแลกเปลี่ยนในการเดินทางแทนเงิน ประเทศไต้หวันกับการเป็นผู้นำด้านการจัดการพลาสติกของเอเชีย ด้วยการออกมาตรการเข้มห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่นถุงชอปปิ้ง ที่รองแก้ว หลอด โดยจะเริ่มในปี 2025 เช่นเดียวกับมาเลเซียที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2030 ส่วนในสิงคโปร์ไม่มีมาตรการและอัตราการรีไซเคิลต่ำอาจเนื่องจากวินัยของผู้คนและความจำเป็นในการใช้ถุงพลาสติกอยู่
ถึงอย่างไรปัญหาขยะที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันถือเป็นประเด็นที่ทุกคนหันมาใส่ใจ จากพฤติกรรมการทิ้งขยะของคนไทยในปัจจุบันที่มองเห็นเป็นเรื่องไกลตัว ผลักภาระให้ผู้มีความรับผิดชอบอื่น ๆ ทั้งที่ทุกคนล้วนมีส่วนช่วยในเรื่องนี้ได้ การคัดแยกขยะตามถังก็ไม่เป็นผล ถึงแม้จะมีหลายภาคส่วนรณรงค์ออกมาแต่ประชากรส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญก็ดูคล้ายว่าเป้าหมายในการลดขยะคงจะอยู่ห่างออกไปอีกนาน นอกจากจะใช้เป็นแล้วทุกคนควรตระหนักถึงการทิ้งที่ถูกที่ควรด้วย