แม้ผู้เขียนบทโทรทัศน์เรื่อง “เพลิงพระนาง” จะระบุว่าเป็นการแต่งเรื่องขึ้นตามจินตนาการ และ เมืองทิพย์ เป็นเมืองสมมติ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือ “พม่าเสียเมือง” ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมทย์แต่ละครเรื่องนี้ก็ได้ทำให้คนดูหลายคนกลับไปค้นประวัติศาสตร์พม่าด้วยความสนใจยิ่งและ หนึ่งในนั้นคือเรื่องของพระนางศุภยาลัต ราชินีองค์สุดท้ายของราชวงศ์คองบองราชวงศ์สุดท้ายของพม่าก่อนจะตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม
2.
พระนางศุภยาลัต เป็นพระธิดาของ กษัตริย์มินดง และ พระนางอเลนันดอ หลังจากที่ กษัตริย์มินดง สวรรคต พระนาง อเลนันดอ ได้ผลักดันให้องค์ชายที่แทบไม่ได้อยู่ในลำดับรัชทายาทอย่างเจ้าชาย “ธีบอ” หรือ “สีปอ” (เรียกตามแบบไทย) ขึ้นครองราชย์ และให้พระธิดาของพระนางคือ พระนาง ศุภยาลัต และ พระนางศุภยาจี เป็นพระมเหสี ของพระเจ้าธีบอโดยมีพระนาง อเลนันดอ คอยชักใย อยู่เบื้องหลัง พร้อมกับเหล่าขุนนางที่ปรึกษาของพระนาง
3.
เรื่องราวราชวงศ์สุดท้ายของพม่า ยังมีหนังสืออีกเล่มที่น่าสนใจคือเรื่อง “สิ้นแสงฉาน” ซึ่งเป็นรายงานหลังจากได้สัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาที่ กษัตริย์ธีบอ ถูกเนรเทศมาอยู่ที่อินเดีย รวมไปถึงผู้ที่เคยรับใช้ใกล้ชิดกับพระนางศุภยาลัต ในหนังสือ “สิ้นแสงฉาน” นั้นเล่าว่า “กษัตริย์ธีบอ นั้น รักกับ พระนางศุภยาลัต มาตั้งแต่ยังเป็นเพียงเจ้าชายที่ยังไม่มีใครให้ความสำคัญ เมื่อพระนางอเลนันดอ ตัดสินใจที่จะผลักดันให้เจ้าชายธีบอได้ครองราชย์ พระนาง ศุภยาลัต จึงได้กลายพระราชินี หากในห้วงเวลาดังกล่าวพระนางอเลนันดอ ได้ยกให้พระนางศุภยาจี น้องสาวของพระนางศุภยาลัต เป็นพระมเหสีด้วย แม้ว่าจะทำให้พระนางศุภยาลัต เสียใจแค่ไหนแต่ก็ไม่สามารถขัดขวางได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว พระนางศุภยาลัต ก็สามารถกันให้น้องสาวของตนเอง หมดความสำคัญไปได้ในที่สุด
4.
นอกเหนือจากเรื่องที่พระนางศุภยาลัต จะมีความรักต่อพระเจ้าธีบอ จนหมดพระทัยแล้วอีกหนึ่งเรื่องที่เรียกได้ว่าเป็นตราบาปของพระนางมาตลอดพระชนม์ชีพคือ การสังหารหมู่ราชวงศ์ จำนวน 80-100 ราย โดยมีเหตุผลเพื่อปกป้องบัลลังก์ของพระเจ้าธีบอ ซึ่งเรื่องดังกล่าวพระนางปฎิเสธมาโดยตลอดว่าไม่ได้มีส่วนรู้เห็นด้วย ขณะที่นักประวัติศาสตร์บางราย วิเคราะห์ว่าในเวลานั้นพระนางอายุเพียง 19 ย่าง 20 ปี มิสามารถคิดการแบบนี้ได้เพียงลำพัง และมีความเป็นไปได้ว่า เป็นการจัดการร่วมกันระหว่าง พระนางอเลนันดอ (พระมารดา) และขุนนางที่กำลังมีอำนาจมากในเวลานั้น
5.
หลังการเข้ายึดพระราชวังที่มัณฑเลย์ พระนางศุภยาลัต และ กษัตริย์ธีบอ ถูกเนรเทศมาอยู่ยัง แคว้น รัตนคีรี ในอินเดีย พร้อมกับพระมารดาพระนางอเลนันดอ พระนางศุภยาจี และ พระธิดาของพระนาง ในระหว่างการเนรเทศออกจากพระราชวังเมืองมัณฑเลย์ นั้น ทหารอังกฤษเรียกได้กระทำการหลู่พระเกียรติราชวงศ์ เป็นลำดับ ตั้งแต่ ให้ขึ้นเกวียนเทียมวัว ออกมาจากพระราชวัง ขึ้นเรือกลไฟที่ไม่สมพระเกียรติ มายังเมืองรัตนคีรี ไม่รวมถึงเรื่องที่ถูกเล่าขานต่อกันมาว่า ทับทิมหงามุก (Nga Mauk) ซึ่งเป็นหนึ่งในทรัพย์ของราชวงศ์คองบอง ได้หายไปในระหว่างที่มีการเนรเทศ
6.
คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นำไปคือผู้พันสเลนดอน ที่เป็นผู้กุมตัวพระเจ้าธีบอ และ พระนางศุภยาลัต มายังเมืองรัตนคีรีซึ่งมีรายงานว่า พระเจ้าธีบอ ได้ทวงถามถึงทับทิมเม็ดดังกล่าวจากรัฐบาลอังกฤษอยู่หลายครั้ง เนื่องจากเป็นสมบัติของราชวงศ์ รวมไปถึงเมื่อครั้งที่พระเจ้าจอร์จที่ 4 เสด็จเยือนอินเดีย พระเจ้าธีบอ ได้ส่งพระราชสาสน์ไปทวงถาม ก็ได้รับคำตอบกลับมาเพียงว่า ผู้พันสเลนดอนนั้น เสียชีวิตไปนานแล้ว จนเวลาผ่านไปหลายสิบปี ก็มีเสียงพูดถึง ทับทิมหงามุกขึ้นมาอีกครั้งและผู้ที่จำได้คือพระญาติของพระนางศุภยาลัต ที่เคยดูแลทัมทิมหงามุกเมื่อเห็นทับทิม เม็ดนี้อีกครั้งบนมงกุฎขององค์ราชินีอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันเรื่องนี้ยังคงถกเถียงกันต่อว่ามีความจริงอยู่มากน้อยเพียงใด
7.
เมื่อถูกเนรเทศไปอยู่ยังเมืองรัตนคีรี พระเจ้าธีบอ และ พระนางศุภยาลัต ยังคงใช้ชีวิตเหมือนอยู่ในพม่า มีการหมอบกราบเมื่อเข้าเฝ้าและจัดงานพระราชพิธีเมื่อถึงช่วงเวลาสำคัญโดยตลอด แต่การใช้ชีวิตอยู่ในรัตนคีรีไม่ได้สุขสบายนัก เงินที่รัฐบาลอังกฤษให้กับ ครอบครัวของราชวงศ์สุดท้ายของพม่า ถูกจำกัดลงทุกปี พระเจ้าธีบอ ก็ทำเรื่องถึงรัฐบาลอังกฤษเพื่อขอกลับไปยังพม่า หลายต่อหลายครั้งแต่ก็ได้รับการปฏิเสธมาโดยตลอด จนกระทั่งสวรรคตในปี 1916 เวลานั้นพระนางศุภยาลัต ต่อสู้และทำเรื่องต่อรัฐบาลอังกฤษมาโดยตลอดในการขอให้นำพระศพของพระเจ้าธีบอ ไปทำพิธียังสุสานหลวงที่เมืองมัณฑเลย์ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ
8.
พระนางศุภยาลัต ได้รับอนุญาตให้กลับมายัง พม่าได้ในปี 1919 หลังการเนรเทศรวม 34 ปี แต่พระนางไม่ได้รับอนุญาตกลับไปยัง มัณฑเลย์ และถูกจำกัดให้อยู่ในกรุงย่างกุ้ง แม้กระทั่งมื่อสิ้นพระชนม์ชีพ ก็พระศพก็ถูกฝังอยู่ที่เมืองย่างกุ้งใกล้กับเจดีย์ชเวดากอง
9.
เรื่องราวของพระนางศุภยาลัต ในฐานะราชินีองค์สุดท้ายของพม่า นับเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในยุคล่าอาณานิคมที่น่าสนใจเพราะช่วงเวลากว่าร้อยปีที่ตกเป็นเมืองขึ้นของ อังกฤษ (2367-2491)ทรัพยากรอันมีค่าในประเทศถูกเหล่านักล่าอาณานิคมขนกลับประเทศจนแทบจะไม่เหลืออะไร แม้เมื่อได้รับเอกราชในปี 2491 การเมืองภายในประเทศเกิดความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วก็ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำเผด็จการนายพลเนวินอีก 26 ปี จนกระทั่งประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านเพื่อปลดแอก จากนั้นเหตุการณ์ทางการเมืองก็ได้นำพาให้พม่า นั้นเดินทางมายังจุดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน