สัปดาห์นี้เป็นช่วงที่กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ว่า ชาวกรุงเทพฯอย่างเราจะต้องเผชิญกับสภาวะฝุ่นตลบปกคลุมเมืองอีกครั้ง ถือเป็นปัญหาที่ผู้คนกำลังตื่นตระหนก และรอฟังมาตรการแก้ไขจากภาครัฐ
ภาวะ“ฝุ่นตลบ”ในปีนี้นั้นเกิดขึ้นหลายรอบแล้วตั้งแต่ต้นปี มีครั้งหนึ่งผมกลับจากทำรายการตอนดึกๆขับรถกลับบ้านประมาณตีสาม ก่อนจะลงทางด่วนที่ซอยสุขุมวิท 62 ซึ่งมีบางช่วงเป็นทางด่วนซ้อนทางด่วน เห็นสภาพเป็นเมืองในหมอกแล้วตกใจ นี่มันประเทศไทยเราจริงๆหรือปักกิ่งวะเนี่ย
ทำให้ต้องย้อนรำลึกความหลังกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 2008 เมื่อครั้งผมยังเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ได้รับเชิญจากคณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2008 ให้ไปดูความพร้อมของ “ปักกิ่ง” เมืองหลวงของจีนในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในช่วงนั้น นอกจากจะได้เห็นสนามกีฬา เบิร์ด เนสต์ อันใหญ่โตโอฬารและความคืบหน้าในการเตรียมงานแล้ว ยังได้เห็นฝุ่นควันที่ตลบอบอวนในเมืองหลวงของประเทศจีนอยู่ในบางวันด้วย
ซึ่งสาเหตุน่าจะเกิดจาก 1.ควันรถยนต์ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจพญามังกร (ในช่วงนั้น) 2.การก่อสร้างที่มีมาก ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยและบางส่วนเพื่อเตรียมการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาใหญ่ในครั้งนั้นนั่นเอง บางแห่งมาตรการการป้องกันฝุ่นไม่ดีพอไม่ได้มาตรฐานด้วย ฟังดูแล้วคล้ายๆบ้านเรามั้ยครับ
จะเห็นได้ว่าความเจริญไม่ได้สร้างแต่ความสะดวกสบายให้มนุษย์อย่างเดียวนะครับ บางครั้งสร้างความลำบากและอันตรายให้ด้วย
นอกเหนือจากนั้นปักกิ่ง ยังต้องเจอสาเหตุเพิ่มมากกว่าเป็นสาเหตุที่ 3 นั้นก็คือพายุทรายครับ ที่ว่ากันว่าถูกพัดมาจากประเทศจีนตอนเหนือหรือจากทะเลทรายโกบีนั่นเอง
ช่วงนั้นคนปักกิ่งก็ต้องสวมหน้ากากกันอย่างกับบ้านเรานี่แหล่ะครับ นอกเหนือจากนั้นพอขึ้นแท็กซี่ผมยังเห็นโชเฟอร์พกน้ำอุ่นเป็นกระติกเล็กๆเอาไว้ ก็เลยสอบถามกันพอได้ความว่า เอาไว้จิบเรื่อยๆทั้งวันเพราะอากาศสกปรกและค่อนข้างแห้ง
ช่วงนั้นรัฐบาลจีนพยายามแก้ปัญหาหลายทาง เช่น ลดปริมาณรถ ด้วยการใช้สลับทะเบียนขับกันคนละวันระหว่างเลขคู่กับเลขคี่ สนับสนุนให้ใช้รถพลังงานไฟฟ้า ควบคุมการก่อสร้างและโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งการขยายความเจริญสร้างเมืองใหม่ขึ้น เพื่อให้ประชาชนกระจายไปจากเมืองหลวงบ้าง
นี่คือปัญหาที่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับเมืองใหญ่ต่างๆทั่วโลก มีวิธีการแก้ไขที่ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก อยู่ที่ว่าผู้บริหารบ้านเมืองนั้นๆจะมีความจริงจังและจริงใจแค่ไหนในการทำงาน
ส่วนกรุงเทพมหานครและรัฐบาลของเราจะแก้ปัญหาอย่างไรให้ได้ผลนั้น ประชาชนกำลังจับตาดูผลงานของท่านอยู่ หวังว่าจะมีมาตรการที่ดีกว่ารออีก 3 ปีให้รถไฟฟ้าสร้างเสร็จนะครับ.