สำรวจพรรคการเมือง ใครเป็นใคร ? ก่อนเลือกตั้ง 2562

เมื่อเหล่าพรรคการเมืองเร่งปรับกลยุทธ์รอรับศึกเลือกตั้ง 2562 ที่ใกล้เข้ามา ด้วยการแยกพรรค เพื่อรักษาทุกฐานคะแนนเสียงเอาไว้ไม่ให้กระเด็นไปอยู่กับพรรคอื่น หรือเร่งหาพันธมิตร เพื่อจับมือหลังเลือกตั้ง แต่การแก้เกมครั้งนี้ ทำให้ประชาชนเกิดข้อสงสัยว่า พรรคการเมืองที่ตนเห็นในหน้าสื่อนั้น มีใครเป็นผู้นำพรรค ขั้วอำนาจสำคัญของพรรคเป็นกลุ่มใด และสุดท้ายแล้ว พรรคอยู่ฟากฝั่งใดของขั้วอำนาจทางการเมือง ณ ตอนนี้

เริ่มต้นที่ พรรคซึ่งเชื่อว่า เป็นดั่งเงา ทักษิณ ชินวัตร ผู้กลายเป็น “ของแสลง” ในสังคมไทย ….

พรรคเพื่อไทย ปัจจุบันมี พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ รองหัวหน้าพรรค นั่งเก้าอี้รักษาการแทน โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตคนเดือนตุลา หนึ่งในผู้ร่วมปลุกปั้นพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย (ที่เปลี่ยนชื่อไปตามการยุบพรรค) เป็นเลขาธิการพรรค นอกจากนี้ ยังมีฐานกำลังหลัก อย่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ทายาทตระกูลชินวัตร และ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง คอยสนับสนุนอยู่

พรรคเพื่อธรรม มีนางนลินี ทวีสิน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่งเป็นหัวหน้าพรรค แต่ภารกิจต่าง ๆ ของพรรค ถูกขับเคลื่อนภายใต้การแนะนำของนายสมชาย และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ สำหรับ ส.ส. ในพรรคนี้ส่วนใหญ่ มาจากกลุ่มพื้นที่ภาคเหนือ

พรรคเพื่อชาติ พรรคนี้ นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นหัวหน้าพรรค ทั้งยังมีนายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นกำลังหลักที่คอยช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เข้าถึงเป้าหมายหลักอย่างฐานเสียงคนเสื้อแดง และกลุ่มมวลชน

พรรคไทยรักษาชาติ แม้พรรคนี้ จะถูกตั้งขึ้นได้ไม่นาน แต่ก็เป็นที่ถูกจับตามอง ด้วยเป็นพรรคที่มีคนรุ่นใหม่ ตบเท้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคไม่น้อย ขนาดเก้าอี้หัวหน้าพรรค ยังตกเป็นของ ร.ท. ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส. ขอนแก่น ลูกชายนายเสริมศักดิ์ และนางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช

นอกจากนี้ ยังมีเลือดใหม่อย่างนายมิตติ ติยะไพรัช บุตรชายของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา ที่สังกัดอยู่พรรคเพื่อชาติ, นายฤภพ ชินวัตร บุตรชายของนายพายัพ ชินวัตร, น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ บุตรสาวนางเยาวเรศ ชินวัตร และยังเป็นพรรคที่รวมบรรดาอดีต ส.ส. ภาคอีสาน ไว้ไม่น้อย รวมถึง 2 อดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งเข้ามาร่วมทัพ ทั้งยังมีกองกำลังสนับสนุน อย่างนายจาตุรนต์ ฉายแสง และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

พรรคประชาชาติ เป็นพรรคที่เกิดจากการรวมตัวของอดีต ส.ส.-ส.ว. ในพื้นที่กลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนใต้ ภายใต้การนำของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา และแกนนำกลุ่มวาดะห์ นอกจากนี้ ยังได้คนรุ่นใหม่อย่าง น.ส.ณหทัย ทิวไผ่งาม เข้ามาร่วมงานกับพรรค พร้อมทำหน้าที่ดูแลนโยบายการศึกษาเป็นหลัก

ตามมาด้วย หนึ่งในพรรคคู่ปรับสำคัญของ 2 พี่น้องตระกูลชินวัตร อย่าง

พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคการเมืองจดทะเบียนที่เก่าแก่ที่สุดของไทยที่ยังดำเนินการอยู่ ปัจจุบันมีนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค แม้ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ จะตกอยู่ในสถานการณ์ระส่ำ เมื่อเหล่าสมาชิกตัวเก๋าของพรรคถูกกระแสดูด จนตบเท้าย้ายไปสังกัดพรรคอื่น แต่โชคดีมีคนรุ่นใหม่ตบเท้าเข้าพรรคไม่น้อย อาทิ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม หลานชายนายอภิสิทธิ์, คณวัฒน์ จันทร์ลาวัลย์ หรือหมอเอ้ก และนายสุรบถ หลีกภัย บุตรชายของนายชวน หรือจะเป็นอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างนายสมชัย ศรีสุทธิยากร

ต่อกันที่ พรรคใหญ่แห่งแดนอีสาน ที่ก่อร่างสร้างขึ้น โดยนายเนวิน ชิดชอบ

พรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ใน จ.บุรีรัมย์ ที่ถูกนายเนวิน ชิดชอบ ปั้นขึ้นมากับมือ พร้อมการันตีด้วยผลงานในการเข้าสู่สนามเลือกตั้งครั้งแรก และครั้งเดียว เมื่อปี 2554 ด้วยการหอบหิ้ว ส.ส. เข้าสภาได้ 34 คน (พรรคอันดับ 3) แม้วันนี้ ผู้กุมบังเหียนพรรค จะเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล แต่ก็ยังมีคนในตระกูลชิดชอบ เช่น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ (น้องชายของนายเนวิน) เป็นเลขาธิการพรรค และด้วยกระแสการเมืองที่ผันแปร ทำให้ครอบครัว “ปริศนานันทกุล” อดีต ส.ส. ชาติไทยพัฒนา ย้ายไปสังกัดภูมิใจไทย รวมถึงกลุ่มอดีต ส.ก. และ ส.ข. ประชาธิปัตย์ ที่ตบเท้าเข้าเป็นสมัครสมาชิกพรรคภูมิใจไทย

ขณะที่กลุ่มก้อนพรรคการเมือง ซึ่งชูธงกันตั้งแต่เริ่มศึกเลือกตั้ง 2562 ว่า ขอสนับสนุนนายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 29 เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ก็เป็นที่น่าจับตามองไม่แพ้กัน

พรรคพลังประชารัฐ ที่มีรัฐมนตรีรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา มาร่วมเป็นแกนนำหลักของพรรค ไม่ว่าจะเป็นนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าพรรค, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นเลขาธิการพรรค, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นรองหัวหน้าพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโฆษกพรรค ขณะที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ (สามีของนางทยา ทีปสุวรรณ ผู้บริหารโรงเรียนศรีวิกรม์) อดีตแกนนำ กปปส. เป็นรองหัวหน้าพรรค

นอกจากนี้ กลุ่มสามมิตร ซึ่งมี 3 คีย์แมนหลักอย่างนายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ที่เคยร่วมสร้างรัฐบาลไทยรักไทยปี 2544 ทั้งเป็นหนึ่งในกลุ่มกำลังหลักพรรคพลังประชาชน และเพื่อไทย ได้ประกาศตัวหันหัวเรือมาร่วม “พลังประชารัฐ” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หรือแม้แต่นายสุชาติ ตันเจริญ แกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำ นางตรีนุช เทียนทอง และนายฐานิสร์ เทียนทอง หลานของนายเสนาะ เทียนทอง

พรรครวมพลังประชาชาติไทย หนึ่งในพรรคการเมืองที่ถูกจับตาว่า เป็นนอมินีของสุเทพ เทือกสุบรรณ แม้ว่านายสุเทพ จะปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ยังคงเดินหน้าประชาสัมพันธ์ และขอบริจาคเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของพรรค โดยมี ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. เป็นหัวหน้าพรรค พร้อมสมาชิกที่ช่วยดึงฐานเสียง อาทิ 2 พี่น้อง เชน และธานี เทือกสุบรรณ นายสุริยะใส กตะศิลา หรือนายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ คนรุ่นใหม่ไฟแรง ทายาท ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

พรรคประชาชนปฏิรูป มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นหัวหน้าพรรค นพ. มโน เลาหวนิช เป็นเลขาธิการพรรค และนายธนพัฒน์ สุขเกษม เป็นโฆษกพรรค โดยพรรคนี้ ประกาศชัดอยู่แล้วว่า ไม่ขอเสนอบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี แต่พร้อมจับมือพรรคเล็ก เพื่อผลักดัน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

ปิดท้าย ด้วยพรรคการเมือง ที่ประกาศจุดยืนชัดเจนว่า ไม่ชื่นชอบรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อย่าง

พรรคอนาคตใหม่ ที่มีหัวหน้าพรรค คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักธุรกิจหนุ่ม หลานชายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตร และเป็นลูกพี่ลูกน้องกับนายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีสมาชิกพรรคคนสำคัญอย่าง ผศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในสมาชิก “คณะนิติราษฎร์” หรือนายรังสิมันต์ โรม และนายปิยรัฐ จงเทพ 2 นักกิจกรรมทางการเมืองผู้ต่อต้าน คสช.

พรรคเกียน ถือเป็นพรรคที่สร้างสีสันทางการเมืองไม่น้อย นับตั้งแต่ชื่อพรรค ไปจนถึงการจัดมหกรรมคอสเพลย์การเมือง ในวันประชุมใหญ่พรรคอย่างเป็นทางการ แม้การประชุมครั้งนี้ จะไม่ครบองค์ประชุม 250 เสียง แต่ก็ได้ปรับมาเป็นการประชุมเลือกกรรมการบริหารพรรคแทน โดยที่ประชุมเลือก นายสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) เป็นหัวหน้าพรรคชั่วคราว ก่อนจะนัดประชุมใหญ่อีกครั้งในช่วงเดือนธันวาคม 2561

พรรคเสรีรวมไทย เป็นอีกหนึ่งพรรคที่ไม่อาจมองข้ามได้ แม้ชื่อของหัวหน้าพรรคอย่าง พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีต ผบ.ตร. จะเป็นที่คุ้นหูของประชาชน แต่ก็ถือว่า ชื่อนี้ยังดูใหม่เอี่ยมอ่องในสนามเลือกตั้ง และเชื่อว่า ความเฉียบขาดที่ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ สั่งสมมาตั้งแต่สมัยทำงาน จะมีส่วนช่วยในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ไม่น้อย

เรื่องที่นำมาฝากในวันนี้ เป็นเรื่องราวคร่าว ๆ ของแต่ละพรรคการเมืองซึ่งป็นที่น่าจับตามองอยู่ในตอนนี้ เพื่อให้รู้ว่าใครเป็นใคร ก่อนถึงศึกเลือกตั้ง 2562 จะมาถึง

ส่วนสัปดาห์หน้า รอติดตามกันนะคะว่า Tonkit360 จะหยิบยกแง่มุมใดของการเมืองไทยที่กำลังร้อนระอุมาฝาก …..