อย่างที่เราเห็นกันว่ากรุงเทพมหานครกำลังมีงานศิลปะยิ่งใหญ่ นั่นคือ BKK Art Biennale 2018 (แบงคอก อาร์ต เบียนนาเล่) สุขสะพรั่งพลังอาร์ต อีเว้นที่รวบรวมงานศิลปะจากศิลปินดังๆ ทั่วโลกรวมถึงศิลปินไทยมาติดตั้งในสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพ ไม่ว่าจะเป็นในหอศิลป์ ตึกสำนักงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า รวมถึงวัด ทำให้เราได้เห็นกรุงเทพฯในอีกมุมหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยงานศิลปะที่เหมาะกับสถานที่ต่างๆ งานนี้ไม่ไปไม่ได้แล้ว
ในพาร์ทแรกเราจะพาไปทัวร์งานศิลปะในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครกันก่อน ต้องบอกเลยว่าคนคึกคักทั้งวันไปยันหมดเวลาเข้าชมเพราะมีผลงานและกิจกรรมที่น่าสนใจเพียบ!
Basket Tower 2018
เดินเข้าไปก็จะเห็นเลย ผลงานจาก ชเวจองฮวา (Choi JeongHwa) ศิลปินเกาหลีที่นิยมสร้างผลงานจากวัสดุทั่วไปอย่างจานชาม ตะกร้า ประตู นำมาเรียงกัน มักจะจัดแสดงผลงานในที่สาธารณะเพื่อปล่อยให้ผู้ชมตั้งคำถาม วิจารย์ผลงานของเขาอย่างเต็มที่ และจะไม่จำกัดความผลงานของตัวเองเพื่อเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้แสดงความคิดเห็นไปตามประสบการณ์ความเข้าใจของแต่ละคน
จองฮวาถือว่าเป็นศิลปินชื่อดังของเกาหลี และในวงการศิลปะทั่วโลก มีประสบการณ์กับงานเบียนนาเล่ที่อิตาลีและสิงคโปร์มาแล้ว ซึ่งในกรุงเทพอาร์ตเบียนนาเล่ครั้งนี้ งานของจองฮวาตั้งอยู่ในหอศิลป์กรุงเทพฯ และบ้านปาร์คนายเลิศ
และเดินขึ้นไปถึงชั้น 5 เราจะเจอ…
สปิริชวล สเปซซิพ (Spiritual Spaceship)
ผลงานของ ต่อลาภ ลาภเจริญสุข ที่นำวัสดุเก่าๆ อย่างพวกประตูไม้แกะสลัก แจกัน พวงมาลัยรถยนต์ โทรทัศน์มาประกอบเป็นรูปยานอวกาศ เป็นการรวมความก้าวหน้าทางวิทยาการและวัฒนธรรมเดิมๆ ที่ยังคงสำคัญไว้ด้วยกัน เพื่อให้ได้ระลึกถึงที่มาของตัวเอง
เป็นงานที่ต้องซูมดูใกล้ๆ แล้วจะเห็นรายละเอียดในหลายๆ จุด
Tape Bangkok
อีกผลงานไฮไลท์ที่ผู้ชมสามารถไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานได้! ด้วยการเดินเข้าไปในพื้นที่เทปขนาดยักษ์ เป็นงานของกลุ่มศิลปิน Numen For Use Design Collective จากประเทศออสเตรียและโครเอเชีย ที่มีความสามารถด้านการออกแบบอุตสาหกรรม และค่อยๆ พัฒนามาสร้างผลงาน Fine Art ขนาดใหญ่ให้คนสามารถมีส่วนร่วมได้ในที่สุด มักจะเน้นกับการใช้ของเล็กๆ สร้างพื้นที่ที่ยิ่งใหญ่ เช่น เทป เชือก กระจก และอีกมากมาย ผลงานศิลปะที่แตกต่างนี้ทำให้ศิลปินกลุ่มนี้มีชื่อเสียงขึ้นมาและถูกเชิญไปออกแบบฉากละครเวทีและการแสดงสดทั่วยุโรป
โดยงานคอลเลคชั่น Tape นี้ถูกนำไปจัดแสดงในเมืองต่างๆ ทั่วโลกมาแล้ว ซึ่งรูปลักษณ์จะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานที่ ในแนวความคิดที่ให้ผู้ชมเหมือนได้เข้าไปอยู่ในดักแด้ รังไหม และกลับออกมาด้วยความรู้สึกเหมือนเกิดใหม่ กลับมาเฟรชอีกครั้ง
My Forest Floor
Fiona Hall ศิลปินชาวออสเตรเลียที่นำสีมาเพ้นท์ลงบนขวดเหล้า และเรียงเป็นรูปโครงกระดูก ซึ่งงานของเขามักจะใช้วัสดุที่ร่วมสมัยเพื่อจะนำเสนอเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันและเล่าเรื่องปัญหาน้อยใหญ่ของโลก
The State of Suffering
งานลวดจาก สุนันทา ผาสมวงค์ ศิลปินที่ใช้ลวดเป็นวัสดุหลักเพื่อทำประติมากรรมสื่อผสม
สถาบัน มารีนา อบราโมวิช (Marina Abramovic Institute หรือ MAI)
งานศิลปะที่เราสามารถเข้าไปเป็นส่วนร่วมได้ ซึ่งเป็นห้องที่สนุกมาก! ก่อนเข้าไปเราต้องออกกำลังกายเล็กๆ น้อยๆ ขยับแขนขยับขา บริหารดวงตา บลาๆๆ ก่อน และเข้าไปทดสอบความอดทนของร่างกายและจิตใจตัวเองด้วยกิจกรรมในชีวิตประจำวันว่าเราสามารถอดทนต่อมันได้มากแค่ไหน ต้องบอกว่าห้ามพลาดเลยที่จะเข้าไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในห้องนี้!
การไปดูงาน BKK Art Biennale ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ให้อะไรกับเราเยอะมาก อย่างน้อยก็เป็นการตั้งคำถามต่อผลงานนั้นๆ ตามความสงสัยตามประสบการณ์ในชีวิตเรา เขาทำเรื่องอะไร? ทำไมสื่อออกมาเป็นแบบนี้? ไปจนถึงงานที่เรามีส่วนร่วมได้เอง และตกผลึกความคิดออกมาทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น ยังไม่ได้เล่าถึงการแสดง Performance Art ของศิลปินต่างชาติและชาวไทยที่เราไม่ค่อยได้เห็น ต้องบอกว่าสนุกสนานและแตกต่างกว่าการดูนิทรรศการศิลปะทั่วไปอย่างเห็นได้ชัดเลย ใครที่อยู่กลางเมืองแต่ว่างๆ ก็ลองแวะเข้าไปดูกันได้ ยังมีอีกหลายชิ้นงานที่ยังรอให้ทุกคนไปสัมผัสด้วยตาตัวเอง
การเดินทาง : BTS สนามกีฬาแห่งชาติ
เวลาเปิด–ปิด : 10.00 – 21.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์)
สิ่งที่ต้องเตรียม : กล้องถ่ายรูป เตรียมตัวเตรียมใจและไปกันเลย!
รู้ข้อมูลของที่น่าสนใจของ BKK Art Biennale 2018 เพิ่มเติมได้ที่ Bangkok Art Biennale 2018 เปลี่ยนทั้งเมืองกรุงเทพฯให้เต็มไปด้วยงานศิลปะจากทั่วโลก!
อ้างอิงข้อมูลจาก http://www.numen.eu/info/biography/ , http://www.bkkartbiennale.com/ , Facebook : BKKArtBiennale