เที่ยวแบบคนยุคใหม่ เที่ยวอย่างรับผิดชอบ

ความหมายของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบกว้างๆ หมายถึง การทำให้สถานที่ท่องเที่ยวนั้นน่าอยู่ขึ้น ด้วยมือของเจ้าบ้านและผู้ที่มาเยือน การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ได้รับการนิยามเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2002 ในเวทีประชุม World Summit ว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ และนำมาประยุกต์ใช้ในงาน World Tourism Market 2007 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ทั้งนี้เมื่อปี 2017 องค์กรด้านการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ UNWTO ยังได้เผยแพร่คู่มือการท่องเที่ยวที่ชื่อว่า Travel.Enjoy.Respect เพื่อส่งเสริมการเป็นนักท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบ ต่อทั้งวัฒนธรรม ประเพณี และธรรมชาติ ในสถานที่ท่องเที่ยวทั่วโลก เพื่อลดปัญหานักท่องเที่ยวล้น และทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนักท่องเที่ยวกับประชาชนในท้องถิ่นอีกด้วย

โดยคู่มือดังกล่าวจะเป็นคำแนะนำถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ เวลาเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ เพื่อมุ่งเน้นการให้ความเคารพต่อสถานที่ ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น และรักษาสิ่งแวดล้อม Tonkit360 จึงได้ยกตัวอย่างการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบจากคู่มือนี้มาบางส่วน เพื่อให้ทุกคนได้ทราบและนำไปปฏิบัติ จะมีคำแนะนำใดบ้างไปดูกัน

สิ่งที่ควรทำเวลาเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

1. ศึกษาข้อมูลกฎหมายของประเทศที่จะไป : ก่อนเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ใดในประเทศใดก็ตาม ควรศึกษาข้อมูลของที่แห่งนั้นให้ดีเสียก่อน ว่ามีข้อบังคับกฎเกณฑ์หรือข้อห้ามอะไรบ้าง ที่สำคัญก็คือกฎหมายของแต่ละประเทศนั้นจะแตกต่างกันอยู่แล้ว ตามความเป็นอยู่และวัฒนธรรมประเพณี ดังนั้นควรให้ศึกษาในเรื่องของกฎหมายก่อนเดินทางให้รอบคอบ โดยสามารถขอทราบรายละเอียดจากสถานทูต หรือสถานกงสุลของประเทศที่จะเดินทางไปได้

2. ให้เกียรติเจ้าของประเทศและเคารพสถานที่ : การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบที่สำคัญอีกประการ ซึ่งนักท่องเที่ยวทุกคนควรรู้ไม่ว่าจะเดินทางไปยังสถานที่ใดก็ตาม นั่นคือการมีมารยาทให้เกียรติเจ้าของประเทศและเคารพต่อสถานที่ โดยแนวทางปฏิบัติ ได้แก่ เคารพสิทธิ์ผู้อื่นที่อยู่ในสถานที่นั้น ไม่ส่งเสียงดังอันจะเป็นการรบกวนผู้อื่น ไม่ขีดเขียนหรือทำลายสิ่งของ ตามสถานที่ท่องเที่ยวที่เดินทางไป เป็นต้น ฉะนั้นขอให้ตระหนักไว้เสมอว่า สถานที่ท่องเที่ยวไม่ใช่ที่ส่วนตัวของใครแต่เป็นที่ที่คนส่วนรวมใช้ร่วมกัน

3. ขออนุญาตก่อนถ่ายรูปผู้อื่นทุกครั้ง : หากต้องการถ่ายภาพของคนแปลกหน้า เมื่อเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ควรขออนุญาตบุคคลนั้นก่อน หากเป็นเด็กก็ควรขออนุญาตพ่อแม่ ผู้ปกครองของเด็กก่อนเช่นกัน แม้แต่การถ่ายรูปภาพอื่นๆ ที่มีคนติดเข้ามาอยู่ในเฟรมก็ควรเลี่ยงไม่ให้เห็นหน้า เพื่อเคารพความเป็นส่วนตัวของบุคคลนั้น และทางที่ดีไม่ควรแอบถ่ายใครเป็นอันขาด เพราะถ้าเขารู้และเกิดการไม่พอใจขึ้นมา อาจกลายเป็นคดีความใหญ่โตได้เลยทีเดียว ทั้งนี้สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งอาจไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปได้ ดังนั้นก่อนจะหยิบกล้องหรือโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายภาพ ควรสังเกตป้ายเตือนให้ดีเสียก่อน

4. ทิ้งขยะให้เป็นที่ และใช้พลังงานให้น้อยที่สุดเพื่อปกป้องธรรมชาติ : หลายครั้งที่ไปเที่ยวปัญหาที่ต้องเจอคล้ายๆ กันแทบทุกที่ก็คือขยะ ซึ่งปัญหาขยะตามแหล่งท่องเที่ยวนั้น นักท่องเที่ยวสามารถช่วยลดภาระการจัดการขยะ ตามแหล่งท่องเที่ยวได้ตามวิธีง่ายๆ ดังนี้คือ ทิ้งขยะในสถานที่ที่ทางแหล่งท่องเที่ยวจัดหาไว้ให้ ไม่ทิ้งขยะตามข้างทาง หรือแอบซุกซ่อนขยะไว้ตามซอกหลืบต่างๆ รักษาความสะอาดโดยการเก็บขยะที่เรากินใช้ ออกมาจากแหล่งท่องเที่ยวด้วย และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เป็นต้น

สิ่งที่ไม่ควรทำเวลาเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

1. อย่าเข้าไปในเขตหวงห้ามหรือสถานที่ห้ามเข้า : สถานที่บางแห่งที่เดินทางไปท่องเที่ยวนั้น จะมีข้อกำหนดต่างๆ อยู่มากมาย ซึ่งนักท่องเที่ยวควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงในเขตพื้นที่หวงห้ามหรือสถานที่ห้ามเข้าที่มีการติดป้ายเอาไว้ นักท่องเที่ยวที่ดีและมีจิตสำนึกจะต้องไม่ทำผิดกฎหรือฝ่าฝืนเข้าไปโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้วัตถุสำคัญของสถานที่ท่องเที่ยวนั้นเกิดความเสียหายได้ ตลอดจนอาจเกิดเป็นคดีความได้ในภายหลัง ฉะนั้นหากเห็นป้ายห้ามเตือนสิ่งใดก็อย่ากระทำสิ่งนั้นถือเป็นดีที่สุด

2. อย่าซื้อสินค้าลอกเลียนแบบ : การไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศ สิ่งที่ควรคำนึกไว้อยู่เสมออีกข้อ นั่นก็คืออย่าสนับสนุนของปลอมโดยเด็ดขาด เพราะจะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้ผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญานั้น ผลิตของเหล่านั้นมาจำหน่ายต่อนักท่องเที่ยวมากขึ้น และที่สำคัญก็คือขึ้นขื่อว่าของลอกเลียนแบบแล้ว คุณภาพของวัสดุหรือวัตถุดิบที่นำมาทำนั้น อาจไม่ได้คุณภาพมาตรฐานและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตเลยก็ได้ ดังนั้นให้ตระหนักเอาไว้ว่าอย่าซื้อของปลอมเลยจะดีกว่า

3. อย่าต่อราคาจนเป็นการเอาเปรียบ : การเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ แน่นอนว่าจะต้องมีการซื้อของกินของใช้ รวมถึงของฝากติดไม้ติดมือมาฝากคนที่บ้าน ซึ่งสินค้าที่ขายตามสถานที่ท่องเที่ยวนั้น จะมีราคาสูงกว่าที่ขายทั่วไปอยู่แล้ว ด้วยค่าเช่าที่ ค่าวัตถุดิบ ต้นทุนต่างๆ ของพ่อค้าแม่ค้าที่ไปรับมาขาย หรืองานแฮนด์เมดที่คนท้องถิ่นทำขึ้นมาเอง ฉะนั้นแล้วในฐานะนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนยังสถานที่นั้นๆ ไม่ควรต่อราคาจนดูเป็นการเอาเปรียบผู้ขาย หรือหากแพงเกินกำลังที่จะซื้อไหวก็ไม่รับสินค้านั้นก็ได้ (ให้ถามราคาก่อนตัดสินใจซื้อทุกครั้ง)

4. อย่าให้เงินขอทาน แม้จะเป็นเด็กหรือคนชรา : คนไทยส่วนใหญ่จะเป็นคนขี้สงสาร ฉะนั้นเวลาที่คุณเจอกับขอทาน แนะนำว่าอย่าให้เงินเด็ดขาด แม้ว่าเขาจะเป็นเด็กหรือคนชรา เพราะเงินที่นักท่องเที่ยวหยิบยื่นให้กับคนเหล่านี้ อาจนำไปสู่ขบวนการค้ามนุษย์ได้ในอนาคต ซึ่งสำหรับในประเทศไทยนั้น การขอทานถือว่าผิดกฎหมายทางอาญา ซึ่งหากพบเห็นควรแจ้งเจ้าหน้าที่เป็นอันดีที่สุด เพื่อจะได้เข้าช่วยเหลือคนเหล่านั้น เช่น ส่งไปฝึกอาชีพเพื่อให้มีรายได้ที่มั่นคง และมีมาตรการคุ้มครองพวกเขาที่ถูกต้อง