สืบเนื่องจากข่าวการเข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกายของเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืดเยื้อมานานข้ามปี เนื่องจากทางวัดไม่ให้ความร่วมมือ ในการเข้าจับกุมพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีดัง อีกทั้งพระลูกวัด และศิษยานุศิษย์ ต่างก็ปักหลักไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการได้โดยง่าย และยังเชิญชวนให้ศิษยานุศิษย์ระดมกำลังเข้ามาภายในวัดกว่า 5 แสนคน เพื่อร่วมกันปกป้องวัดนั้น
กรณีดังกล่าวทำให้มีคำถามตามมาว่า เหตุใดวัดแห่งนี้จึงมีผู้ที่ศรัทธาและยอมอุทิศตนจำนวนมาก เพื่อปกป้องพระที่ตกเป็นผู้ต้องหาฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร ขณะที่วัดพระธรรมกายเองก็ถูกตั้งข้อหาเพิ่มรวมเป็น 313 คดีแล้ว
บ้างก็ว่ามองว่าลักษณะของการดำเนินการต่างๆ ของวัด ขัดกับหลักคำสอนของศาสนาพุทธ และเข้าข่ายเป็นลัทธิ ที่อาศัยความศรัทธาของคนเป็นเครื่องมือ ซึ่งเรื่องนี้หากจะฟันธงไปในทางใดทางหนึ่งก็คงไม่เหมาะ จึงขอนำข้อมูลเกี่ยวกับ “ความศรัทธา ศาสนา และ ลัทธิ” มาฝากกัน เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ที่สงสัยในเรื่องนี้
คำว่า “ศรัทธา” ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง “ความเชื่อถือ ความเลื่อมใสโดยทั่ว ๆ ไป” ซึ่งบัญญัติมาจากคำ faith ในภาษาอังกฤษ โดยจดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ฉบับที่ 28 กันยายน 2536 ระบุไว้ว่า ศรัทธา แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ 1.ศรัทธาโดยไม่ต้องใช้ปัญญาแสวงหาความจริง 2. ศรัทธาโดยใช้ปัญญาแสวงหาความจริงไปพร้อม ๆ กัน และ3. ศรัทธาต่อเมื่อมีประสบการณ์ด้วยตนเองจริง ๆ แล้ว
ขณะที่ “ศรัทธา” ในศาสนาต่างๆ หมายถึง ความเชื่อในหลักธรรมสำคัญของแต่ละศาสนา อาทิ ศาสนาพุทธ มี “หลักศรัทธา 4” หรือความเชื่อ 4 ประการ ประกอบด้วย
1.กัมมสัทธา เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่ากรรมดีกรรมชั่วเป็นเหตุปัจจัยที่จะก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป
2.วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วจะต้องมีผลติดตามมา
3.กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์โลกมีกรรมเป็นของของตน คือ เชื่อว่าไม่ว่าคนหรือสัตว์ที่ถือกำเนิดขึ้นบนโลกย่อมมีความแตกต่างกัน เพราะอำนาจของกรรมที่กระทำไว้
4.ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในองค์พระตถาคตว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ คือทรงเป็นผู้ตรัสรู้สัจธรรมด้วยพระองค์เองโดยชอบ
ภาพจาก FB : เรารักวัดพระธรรมกาย
ส่วนคำว่า “ลัทธิ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติมาจากคำว่า doctrine ในภาษาอังกฤษ หมายถึง “คติความเชื่อถือ ความคิดเห็น และหลักการ ที่มีผู้นิยมนับถือและปฏิบัติตามสืบเนื่องกันมา” และ ไม่จำกัดว่าต้องเกี่ยวกับศาสนาเท่านั้น อาทิ ลัทธิไซเอนโทโลจี (Scientology) ที่มีคนดังเป็นสาวกกันมากมาย นับตั้งแต่ก่อตั้งในปีค.ศ.1954 หรือลัทธิบูชาซาตาน (Satanism) ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1966
โดยบทความเรื่อง “ลัทธิ” โดย นายแพทย์ศุภชัย ศรีศิริรุ่ง ซึ่งพ่วงดีกรีศาสนศาสตร์ มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กล่าวไว้น่าสนใจว่า “แม้ความหมายของ “ลัทธิ” ทางวิชาการนั้นจะมีความหมายเป็นกลาง ๆ ที่มิได้บ่งชี้ไปในทางดีหรือชั่ว แต่ปรากฏว่าถูกตีความโดยผู้รับสารให้มีความหมายไปในทางที่น่ารังเกียจอยู่บ่อย ๆ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะได้อิทธิพลจากความหมายในภาษาบาลี ที่ตีความหมาย “ลทฺธิ”ว่าเป็น “ความเชื่อที่แตกต่าง ขัดแย้งกับศาสนาของตน” จึงพึงสนใจรู้และใช้วิจารณญาณศึกษาแยกประเด็น ว่ามีอะไรที่ดีถูกใจให้เก็บเอาไว้ใช้ประโยชน์ ส่วนใดไม่ถูกใจก็ปล่อยไว้ให้ผู้อื่นศึกษา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามอัธยาศัย ความแตกต่างกันทางความเชื่อและความคิดนั้นไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกันเสมอไป แต่สามารถร่วมมือกัน เติมเต็มซึ่งกันและกันได้ เพื่อให้เข้าถึงความเป็นจริงที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป”
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ลัทธิ หรือ ศาสนา ต่างก็ล้วนต้องอาศัยความศรัทธาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทั้งนั้น นั่นจึงทำให้หลายๆ ลัทธิที่ก่อตั้งขึ้นทั้งในต่างประเทศ และในไทย ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่หลักปฏิบัติที่ยึดถือกัน อาจเป็นที่ยอมรับกันภายในกลุ่มผู้ที่ศรัทธาลัทธินั้นๆ แต่ไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้างของสังคม
ภาพจาก FB : สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย