หลังจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จัดสอบข้อเขียนหรืออัตนัย วิชาภาษาไทยเป็นครั้งแรก กับเด็กนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในการจัดทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ กลับพบว่า นักเรียน เขียนและใช้คำผิดความหมายค่อนข้างมาก
โดย รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสทศ. เผยว่า จากการตรวจข้อสอบเบื้องต้น พบว่า นักเรียนเขียนผิด ทั้งการสะกดคำ คำควบกล้ำ และการใช้เครื่องหมายทันตฆาต หรือตัวการันต์เช่น “แทรก” เขียนผิดเป็น แซก “นะคะ” เขียนผิดเป็น นะค่ะ “ซื่อสัตย์” เขียนผิดเป็น ซื่อสัตว์ “ภาพยนตร์” เขียนผิดเป็น ภาพยนตร์ นอกจากนี้ก็ยังพบว่ามีนักเรียนใช้ภาษาถิ่นตอบข้อสอบ รวมถึงใช้ภาษาวัยรุ่น คำแสลงในการตอบข้อสอบด้วย เช่น ชิวๆ แซ่บเว่อร์ เป็นต้น
เรื่องนี้ ผู้อำนวยการสทศ. กล่าวว่า ได้ให้กรรมการที่ตรวจกระดาษคำตอบรวบรวมคำที่เด็กมักเขียนผิด หรือใช้ผิดความหมายแล้ว เพื่อส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน และสร้างสำนึกให้แก่เด็กในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งเชื่อว่าจะได้ประโยชน์อย่างมาก และจะทำให้เด็กใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องมากขึ้น
ภาพจาก freepik