
ฟู้ดสไตลิสต์ (Food Stylist) คืออะไร
หน้าที่ของฟู้ดสไตลิสต์ (Food Stylist) คือ ตกแต่งอาหารให้สวยงาม ชวนรับประทาน ส่วนใหญ่มักทำงานร่วมกับเชฟ ในการแต่งจานเพื่อถ่ายภาพประชาสัมพันธ์ แน่นอนว่าหน้าตาอาหารที่สวยงามขึ้นนี้ จะทำให้สามารถเพิ่มราคาอาหารให้สูงขึ้นตามไปด้วย
ฟู้ดสไตลิสต์ที่ดี ควรจะรักในการทำอาหาร เข้าใจธรรมชาติของวัตถุดิบ และวิธีการปรุงที่แตกต่างกัน มีความคิดสร้างสรรค์ พิถีพิถันใส่ใจในรายละเอียด และรักการเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา ส่วนในต่างประเทศนั้น นอกจากฟู้ดสไตลิสต์ จะมีหน้าที่ออกแบบตกแต่งเมนูเด็ดตามร้านอาหารแล้ว
เอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละคน ยังสามารถต่อยอดออกไปนอกร้านได้ด้วย เช่น ไปปรากฏตามสื่ออื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำสไตลิ่ง และจัดหาพร็อพในฉากภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์โฆษณา อินเตอร์เน็ต เป็นต้น ไปจนกระทั่งถึงการออกแบบแพคเกจจิ้ง การเขียนตำรา และการสอนทำอาหารอีกด้วย

หน้าตาของอาหารกับหลักจิตวิทยา
ในยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาท ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนหันมาสนใจการถ่ายภาพมากขึ้น แม้แต่กับอาหารจานที่จะรับประทาน และเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อาหารจับจอง ครองพื้นที่บนโลกโซเชียลมีเดียได้เป็นจำนวนมาก คงเป็นเพราะมันคือเรื่องง่ายแก่การเข้าถึงสำหรับทุกคน ทั้งยังเป็นวิธีที่ผู้คนใช้บอกเล่าไปยังคนอื่น ๆ ว่ากำลังทำอะไรอยู่อีกด้วย
ซึ่งภาพถ่ายอาหารถูกจูงใจ โดยความต้องการเผยแพร่เรื่องราวในชีวิตประจำวันสู่สาธารณะ และการโพสต์ภาพเมนูจานเด็ด ยังเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอตัวเองผ่านโลกโซเชียล เพราะภาพของอาหารที่ดูยั่วยวน ชวนน้ำลายไหลเหล่านั้นสามารถสร้างภาพลักษณ์ให้คนอื่น ๆ มองเราในเชิงบวกได้ รวมไปถึงการต้องการการยอมรับ ในภาพถ่ายอาหารเป็นภาพที่โชว์ว่าจานนี้เราทำเอง เพื่อส่งเสริมความภูมิใจในตัวเองด้วย
และอีกแง่ก็คือหน้าตาของอาหารค่อนข้างมีผลต่อการสั่งอาหารมาก ๆ เช่นกัน เพราะถ้าหากอาหารดูน่ารับประทาน มีสีสันที่สดใสสวยงาม ก็จะทำให้คนเลือกที่จะสั่งอาหารนั้น ๆ และที่สำคัญคือเวลาที่เราสั่งอาหารมาทาน เราไม่ได้หวังแค่ว่าจะทานให้มันเสร็จ ๆ ไป เราจะคำนึงถึงสัมผัสทั้ง 5 ด้วยนั่นก็คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

หลักการจัดอาหารให้ดูน่ารับประทาน
- สร้างโครงร่าง เริ่มต้นจากการวาดรูป และสเกตซ์ให้เห็นภาพจานอาหาร ที่ต้องการค้นหาแรงบันดาลใจจากรูปภาพหรือสิ่งของต่าง ๆ เลือกหยิบส่วนผสมที่ต้องการเน้นวางลงไปบนจาน และใช้พื้นที่ว่างให้เป็นประโชยน์ เพื่อทำให้การตกแต่งอาหารดูเรียบง่าย
- สร้างสมดุลบนจาน เล่นสี รูปทรงและเนื้อพื้นผิว เพื่อให้มั่นใจว่าคนที่รับประทาน จะไม่รู้สึกว่าเยอะเกินไป และการจัดตกแต่งอาหาร ไม่ควรกลบรสชาติและประโยชน์ของอาหารนั้นด้วย
- ใช้ขนาดสัดส่วน ส่วนผสมที่มีปริมาณถูกต้อง และใช้ตัวจานช่วยเติมเต็มให้อาหารดูสมบูรณ์ โดยมีขนาดไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป ใช้สัดส่วนโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และผักที่ถูกต้อง เพื่อสร้างสรรค์อาหารที่ได้สมดุลตามโภชนาการ
- เน้นส่วนผสมหลักให้มีความโดดเด่นออกมา และให้ความสำคัญกับวัตถุดิบรองอื่น ๆ อย่างเท่าเทียมกัน เช่น ของตกแต่งจาน ซอส และแม้กระทั่งตัวจานเองด้วย
- การจัดวางแบบคลาสสิก เทคนิคการจัดวางแบบคลาสสิกจะใช้อาหารพื้นฐาน 3 อย่าง คือ แป้ง ผัก และอาหารหลัก ในการจัดวางที่เฉพาะเจาะจง แนวทางง่าย ๆ ในการจัดจานแบบคลาสสิกคือคิดว่าจานอาหารเป็นหน้าปัดนาฬิกา
อยากเป็นฟู้ดสไตลิสต์ เรียนได้ที่ไหน
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพ www.bu.ac.th คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว สาขาศิลปะการประกอบและออกแบบอาหาร Culinary Arts and Design หรือหลักสูตรเชฟ International Program
- โรงเรียนสอนทำอาหารชั้นนำอื่น ๆ อีกมากมาย ที่สามารถเรียนเป็นคอร์สหลักสูตรการออกแบบตกแต่งอาหารได้
- เรียนกับฟู้ดสไตลิสต์ชื่อดัง เช่น Karb Studio (ขาบสตูดิโอ) คุณขาบ สุทธิพงษ์ สุริยะ ฟู้ดสไตลิสต์ที่การันตีฝีมือด้วยการคว้ารางวัลในเวทีระดับโลก Gourmand World Cookbook Awards มาแล้วถึง 8 ปีซ้อน