เรียกได้ว่าเป็นละครน้ำดีอีกเรื่อง ที่ปลุกกระแสสังคม ให้กลับมาตั้งข้อถกเถียงประเด็นการถูกข่มขืน สำหรับละครเรื่อง “ล่า” บทประพันธ์ของทมยันตี นักเขียนชื่อดังของไทย ซึ่งถึงแม้นวนิยายเรื่องนี้จะมีอายุกว่า 40 ปี แต่ก็นับได้ว่าเรื่องราวในบทประพันธ์ไม่ได้เก่าตามไปด้วยเลย อาจเพราะเหยื่อจากการถูกข่มขืน และความอยุติธรรมที่เหยื่อได้รับ ยังปรากฏขึ้นในสังคมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
การถูกข่มขืนนั้น นอกจากจะสร้างบาดแผลทางกายแล้ว ยังฝากบาดแผลทางใจที่ไม่มีวันหายไว้กับผู้ถูกกระทำจากรายงานการศึกษาเรื่อง คดีข่มขืน ความเข้าใจเรื่องการตอบสนองของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อความรุนแรงทางเพศในไทยและเวียดนาม ซึ่งเก็บข้อมูลระหว่างปี 2556-2557 ขององค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นวีเมน-UNWOMEN) พบว่ามีผู้เสียหายจากคดีข่มขืนจำนวนมากล้มคดี เนื่องจากไม่อยากบอกเล่าเหตุการณ์ที่เจอซ้ำหลายครั้ง หลายคดีถูกบังคับให้ไกล่เกลี่ย ยอมความ อีกทั้งยังต้องเผชิญกับมายาคติของผู้เกี่ยวข้อง ที่มีต่อเหยื่อ
มาดูกันสิว่านอกจาก 7 ทรชนที่ข่มขืนกระทำชำเราเหยื่ออย่างมธุสรกับมธุกรแล้ว ยังมีอะไรที่เหยื่อจะต้องเผชิญหลังผ่านฝันร้ายของชีวิต ซึ่งเปรียบเสมือนการถูกกระทำซ้ำ จนหลายครั้งอาจทำให้เหยื่อถอดใจ หรือถึงขั้นเปลี่ยนตัวเองจากเหยื่อเป็นผู้ล่า ดังที่ตัวเอกของละครเรื่องล่ากระทำ
กระบวนการยุติธรรมที่ไม่เข้าใจเหยื่อ : หลายต่อหลายครั้งที่ผู้สืบสวนเหยื่อเป็นตำรวจเพศชาย ซึ่งตั้งคำถามแบบเจาะลึกเพื่อทำคดี แต่ขาดการคำนึงถึงจิตใจที่บอบช้ำของเหยื่อ ที่พึ่งผ่านเรื่องราวที่โหดร้ายที่สุดในชีวิตมา
“ความรู้สึกของเราตอนที่อยู่ในศาล เหมือนถูกข่มขืนอีกครั้งกลางศาล คำถามแต่ละคำที่ทนายความจำเลยถาม มันทำร้ายจิตใจ ดูถูกคุณค่าความเป็นลูกผู้หญิง และความเป็นมนุษย์” เหยื่อจากการถูกลูกจ้างการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ข่มขืนบนรถไฟ เมื่อปี 2544 เล่าถึงสิ่งที่ตนต้องเจอเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
สิ่งแวดล้อมชายเป็นใหญ่ที่กดดันเหยื่อ : ผลการศึกษาของเหยื่อคดีข่มขืนในไทยพบว่าเกินกว่าครึ่งรู้จักกับผู้ต้องสงสัย อาจเป็นญาติ คนใกล้ชิด หรือเพื่อนบ้านที่เห็นหน้าค่าตากันอยู่เป็นประจำ ด้วยเหตุนี้ บ่อยครั้งเหยื่อจึงถูกเจรจาให้ยอมความ อาจหนักไปถึงขั้นการไกล่เกลี่ยให้แต่งงาน หรือถูกข่มขู่กดดันให้ย้ายออกนอกพื้นที่ เช่นกรณี ด.ญ. วัย 14 ถูกผู้ชายในหมู่บ้านรุมโทรมกว่า 40 คน โดยเมื่อเรื่องราวนี้ปรากฏสู่สังคม ก็ส่งผลให้ชาวบ้านในชุมชนดังกล่าวเครียดหนัก อ้างว่าเหยื่อทำให้ชุมชนเสื่อมเสียชื่อเสียง และไม่เชื่อในสิ่งที่เหยื่อกล่าวอ้าง รวมไปถึงปกป้องผู้กระทำความผิด มีการข่มขู่เหยื่อและพยาน จนครอบครัวของเหยื่อต้องย้ายออกจากหมู่บ้านดังกล่าว
มายาคติของสังคม “เธอแต่งตัวโป๊ และพาตัวเองไปในที่ที่ไม่เหมาะสม” : การถูกกระทำซ้ำอีกหนึ่งรูปแบบที่เหยื่อต้องเผชิญ มาจากสังคมที่มักกล่าวโทษหรือตั้งแง่กับเหยื่อ ในเชิงการโยนความผิดให้เหยื่อต้องรับผิดชอบร่วมกับผู้กระทำความผิด จากมายาคติดังกล่าวสร้างความบอบช้ำให้เหยื่อมานักต่อนัก ดังเช่นกรณีผู้นำประเทศที่กล่าวถึงนักท่องเที่ยวสาวชาวอังกฤษที่ถูกฆาตกรรม ในทำนองว่า นักท่องเที่ยวใส่ชุดว่ายน้ำบิกินีไม่น่าจะปลอดภัยในประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายทั้งในและนอกประเทศ จนผู้พูดต้องออกมากล่าวขอโทษ
ข้อมูลจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ในปี 2556 พบว่าปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางเพศมาจาก การดื่มแอลกอฮอล์ 37.70 % มีปัญหาการควบคุมยับยั้งอารมณ์ทางเพศ 24.50 % และ ต้องการชิงทรัพย์ 20.80 % จากข้อมูลดังกล่าวจะพบว่า ผู้กระทำความผิดไม่ได้กล่าวถึงการแต่งตัวล่อแหลมหรือยั่วยวนจากเหยื่อ ดังนั้นการกล่าวโทษเหยื่อจึงเป็นเพียงมายาคติที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่ และหากจะกล่าวกันอย่างตรงไปตรงมาคือ ไม่ควรมีใคร ผู้ใด หรือเพศใด กระทำการล่วงละเมิดผู้อื่น ไม่ว่าจะด้วยภายใต้เหตุผลหรือเงื่อนไขใดก็ตาม
แท้จริงแล้วเราอยู่ในสังคมเดียวกับ 7 ทรชนที่รุมข่มขืนมธุสรและลูกสาว ในสังคมจริง ๆ ของเรายังมีเหยื่อที่ถูกกระทำซ้ำจนยอมแพ้และถอดใจเป็นพัน ๆ ราย หากดูละครแล้วย้อนดูตัวเรา คงต้องตั้งคำถามไปยังผู้ชมทุกท่าน ว่าเราจะเป็นใครในละครที่ซ้อนทับกับความจริง ผู้ดู และวิพากษ์วิจารณ์เพื่อความสะใจอย่างสนุกปาก หรือจะทำความเข้าใจกับปัญหาและหาทางออกร่วมกัน สอนลูกหลานให้เคารพและไม่ละเมิดผู้อื่น ไม่เพิกเฉยเมื่อเห็นหรืออยู่ในเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็มีสติเพียงพอที่จะไม่เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำซ้ำ หรือผลักดันให้เหยื่อตกเป็นจำเลยของสังคม ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้ผู้ที่ต้องตกอยู่ในสถานะ “เหยื่อ” ไม่มีความผิดใด
หมายเหตุ : สำหรับผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือพบเห็นการกระทำ สามารถติดต่อไปที่ มูลนิธิเพื่อนหญิง 02–513–1001 หรือ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0–2412–1196 0–2412–0739