ภาพที่คนไทยซึ่งเกิดและโตในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คุ้นตากันนั้นคือภาพที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นต่าง ๆ ทุกภูมิภาคของประเทศ อย่างสม่ำเสมอ นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อพุทธศักราช 2498 พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทราบดีถึงความทุกข์ยากของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ และทรงได้แนะนำแนวทางแก้ไขในทุกปัญหามาตลอดพระชนม์ชีพ
แต่ภาพที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระเกษมสำราญนั้น เป็นภาพที่คนไทยไม่ได้เห็นกันบ่อยนัก แต่ในทุกครั้งที่มีภาพที่พระองค์ทรงพระเกษมสำราญ เราต่างก็รับรู้ได้ว่า พระเกษมสำราญ หรือ ความสุขของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้นเป็นความสุขที่เรียบง่าย และ สามารถหาได้จากสิ่งที่อยู่รอบตัว และบรรทัดต่อจากนี้คือ 5 พระเกษมสำราญของในหลวงรัชกาลที่ 9
กีฬาเรือใบ
เรือใบ นับเป็นกีฬาที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดปราน แม้จะดูเป็นกีฬาที่ต้องใช้ต้นทุนค่อนข้างสูง แต่พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่า กีฬาเรือใบในรูปแบบของพระองค์นั้นไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เงินลงทุนมากมาย เมื่อพระองค์โปรดต่อเรือใบพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง เรือใบฝีพระหัตถ์ลำแรกที่ทรงต่อด้วยพระองค์เองเป็นเรือใบพระที่นั่งเอ็นเตอร์ไพรส์ โดยพระราชทานชื่อเรือว่า “ราชปะแตน” และต่อมาทรงต่อเรือใบประเภท โอ เค ขึ้นอีก พระราชทานชื่อว่า “นวฤกษ์”
ซึ่งเรือนวฤกษ์นี้เอง ทรงนำมาใช้ในการแข่งขันกีฬาเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 นอกจากนี้พระองค์ท่านยังทรงคิดค้น ออกแบบ และสร้างเรือใบขึ้นมาด้วยพระองค์เองอีก พระราชทานชื่อว่า “เรือใบแบบมด” ทรงมีรับสั่งว่า “ที่ชื่อมดนั้นเพราะมันกัดเจ็บ ๆ คัน ๆ ดี” ต่อมาทรงพัฒนาเรือแบบมดขึ้นมาใหม่โดยได้พระราชทานชื่อว่า เรือใบ “แบบซูเปอร์มด” และเรือใบในตระกูลมดนี้ลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบคือเรือใบ “แบบไมโครมด” ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักแล่นเรือใบทั้งหลาย
สำหรับกีฬาเรือใบกับในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้นมีเรื่องเล่าอยู่มากมาย แต่ที่แสดงให้เห็นว่าทรงพระเกษมสำราญชัดที่สุดน่าจะเป็นประโยคหลังจากพระองค์ทรงต่อเรือเสร็จพอดีกับที่ทรงได้ยินเสียงพลุที่เขาดิน จึงพระราชทานชื่อเรือว่า ‘นวฤกษ์’ พร้อมกับรับสั่งกับหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี หรือท่านภีว่า “ปีใหม่คนอื่นๆ เขาไปฉลองกัน เสียเงินมาก แต่เราเสีย ๑๔๗ บาทเท่านั้น (ค่าไม้ และค่าเบียร์ฉลองปีใหม่) เราก็ยังอาจสนุกกว่าเขาอีก แล้วเป็นประโยชน์ด้วย”
ดนตรี
บทเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้นนับเป็นบทเพลงที่ไม่ว่าจะนำมาร้องหรือบรรเลงในยุคสมัยไหนก็ไม่เคยล้าสมัย ทั้งนี้การทรงเครื่องดนตรี และทรงประพันธ์บทเพลง นั้นได้ทำให้พระองค์ทรงพระเกษมสำราญทุกครั้ง
ทั้งนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเครื่องดนตรีได้ดีหลายชนิดและพระองค์ก็ยังได้ทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีส่วนพระองค์ ซึ่งวงที่เป็นรู้จักกันดีคือ วง อ.ส.วันศุกร์ โดยบทเพลงที่ของวงดนตรีของวง อ.ส. วันศุกร์ที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ร่วมบรรเลงด้วยนั้นออกอากาศกระจายเสียงทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์เป็นประจำทุกวันศุกร์ และยังทรงจัดรายการเพลง รวมทั้งทรงเลือกแผ่นเสียงเองในระยะแรก บางครั้งก็โปรดเกล้าฯ เปิดโอกาสให้พสกนิกรได้ติดต่อสื่อสารกับ ในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างไม่ทรงถือพระองค์ บางครั้งก็โปรดเกล้าฯ ให้มีการขอเพลง และจะทรงรับโทรศัพท์ด้วยพระองค์เอง นอกจากนั้น วง อ.ส. วันศุกร์นี้ยังเป็นวงดนตรีที่โปรดเกล้าฯ ให้ไปบรรเลงในงาน “วันทรงดนตรี” ตามที่มหาวิทยาลัยต่างๆ กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ เพื่อทรงสังสรรค์ร่วมกับนิสิต นักศึกษา เป็นการส่วนพระองค์ ก่อนที่จะยกเลิกไป เพราะทรงมีพระราชกรณียกิจเพิ่มมากขึ้น
จิตรกรรมฝีพระหัตถ์
อีกหนึ่งเรื่องที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระเกษมสำราญเป็นอย่างยิ่งคืองานศิลปะ โดยลักษณะจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ ของพระองค์จะเป็นแนวจิตรกรรมร่วมสมัยหลายรูปแบบ ทั้งแบบเหมือนจริง (Realistic) ภาพเหมือนบุคคล (Portrait) ภาพทิวทัศน์ (Landscape) หรือแม้แต่แนวแบบเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ (Expressionism) ที่แสดงอารมณ์ความรู้สึก หรือแบบนามธรรม (Abstract) พระองค์ก็ยังทรงแสดงการวาดภาพที่มีเอกลักษณ์เฉพาะพระองค์ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจิตรกรรมฝีพระหัตถ์โดยส่วนใหญ่นั้นจะเป็นภาพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระอิริยาบถที่แตกต่างกันไป
ทั้งนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังได้ทรงพระราชพระบรมราชานุญาตให้นำจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ไปแสดงที่ โตเกียว ฟูจิ อาร์ต มิวเซียม และ โอเอ็มเอ็ม เอ็กซิบิชั่นฮอลล์ ประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์
ในหนังสือ “งานช่างของในหลวง” มหาวิทยาลัยศิลปากร (2539) ในหลายๆ บทเกี่ยวกับงานช่างของพระองค์ บทหนึ่งว่าด้วยเรื่อง “ภาพถ่าย: ความสนพระราชหฤทัยการถ่ายภาพ” ว่า “งานอดิเรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดมากอย่างหนึ่งคือการถ่ายภาพ ทรงสนพระราชหฤทัยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เป็นนักถ่ายภาพฝีพระหัตถ์เยี่ยมพระองค์หนึ่ง สะสมตำราเกี่ยวกับการถ่ายภาพไว้จำนวนมาก และศึกษาตำราต่างๆ ด้วยพระองค์เอง”
และทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการที่ทรงเป็นช่างภาพสมัครเล่น ในหนังสือพิมพ์ สยามนิกร, 27 ก.พ. 2493 ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าทรงโปรดการถ่ายภาพขนาดไหน ว่า
“คนบางคนคิดว่า สมัยนี้รถยนต์ที่วิ่งเรียบและเปิดหลังคาโล่ง ได้เข้ามาแทนที่การนั่งช้างอันโขยกเขยกในราชพิธีเป็นส่วนมากแล้วในเมืองไทย การถ่ายรูปจึงเป็นของง่ายสำหรับพระเจ้าอยู่หัว ฉันคิดว่านี่ก็จริงอยู่อย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่มันยังไม่ใช่แก่นแท้ของปัญหาทีเดียว แก่นแท้ของปัญหานั้นคือว่า ในราชพิธีท่านไม่อาจเปิดกล้องลงมือถ่ายรูปคนอื่นๆ ทุกคน บรรดาที่เขาเองก็พากันกำลังจ้องถ่ายรูปตัวท่านอยู่ได้อย่างสบายนักหรอก นอกจากนั้นแล้วรูปถ่ายพระเจ้าอยู่หัวก็จะไม่มีภาพพระเจ้าอยู่หัวติดอยู่ บางคนเคยแนะนำให้ฉันเอากล้องคอนแทกซ์ สวมติดไว้กับผิวหนังแล้วให้เจาะรูเล็กๆ ที่เครื่องแต่งกาย พอให้เลนซ์โผล่ออกมาข้างนอกได้เพื่อให้ดูคล้ายๆ เครื่องปราศรัยอีกอย่างหนึ่ง แต่นี่ฉันคิดว่าคงไม่ได้ผล ฉันพยายามแก้ปัญหาสองวิธี วิธีแรก ฉันก็มองรูปที่ฉันต้องการถ่ายไว้ก่อนลงมือ จากนั้นก็ตั้งกล้องแล้วขอให้เพื่อนคนหนึ่งชี้ล่อประชาชนไปทางอื่น แล้วฉันก็กดปุ่มให้ทันที แต่อย่างไรก็ตาม วิธีนี้มีเพื่อนๆ น้อยคนนักจะทำได้ถูกต้อง อีกวิธีหนึ่งก็คือ ฉันเอากล้องคอนแทกซ์ใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกง พอมโหรีเริ่มบรรเลงหรือมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ที่จะทำให้ฝูงชนหันจากฉันไปเสียทางอื่นฉันก็รีบควักกล้องออกมาถ่ายแล้วเก็บลงกระเป๋ากางเกงอีก แต่ไม่สนุกเลยจริงๆ”
คุณทองแดงสุนัขทรงเลี้ยง
เมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปเปิดคลินิกศูนย์แพทย์พระราม 9 ได้มีนายแพทย์ท่านหนึ่ง นำ ‘ทองแดง’ ซึ่งเป็นสุนัขจรจัดแถวบริเวณถนนพระรามที่ 9 มาทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อทรงทอดพระเนตร‘ทองแดง’ ก็มีรับสั่งว่าให้นำเข้ามาเลี้ยงที่พระราชวังสวนจิตรลดา โดยให้สุนัขทรงเลี้ยงที่ชื่อ ‘คุณมะลิ’ คอยดูแล หลังจากที่ ‘คุณทองแดง’ เข้ามาอยู่ในวังได้ไม่นาน ก็กลายเป็นที่โปรดปรานและสร้างความพอพระราชหฤทัยให้กับพระองค์ท่านเป็นอย่างมาก ภาพที่พระองค์ทรงพระสำราญกับ “คุณทองแดง” หรือเรื่องเล่าที่คุณทองแดง มีความจงรักภักดีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้นมีให้ได้เห็นและได้ยินอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในเวลาต่อมา สุนัขจรจัดจากถนนพระราม 9 ก็ได้รับการตั้งว่าเป็น ‘สุนัขประจำรัชกาล’ เนื่องจากความชาญฉลาดของ “คุณทองแดง” และได้ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระเกษมสำราญอยู่ตลอดเวลา