เมื่อครั้งที่ผู้เขียนยังเป็นนักข่าวให้กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง บรรณาธิการฉบับสุดสัปดาห์สั่งงานมาว่า “เฮ้ยโอ๋ ไปสัมภาษณ์…คนนี้หน่อย เห็นว่าเป็นนักธุรกิจที่ทำตัว Low Profile แต่คนเขาลือกันว่าเก่งมาก” ในช่องว่างจุดไข่ปลานั้นคือชื่อของนักธุรกิจท่านหนึ่ง ที่กว่าจะนัดได้ผู้เขียนต้องใช้ความเพียรพยามไม่น้อย เพราะนักธุรกิจท่านนั้น ทำตัว Low Profile สมกับที่บรรณาธิการอาวุโสผู้สั่งงานผู้เขียนให้คำจำกัดความไว้จริง ๆ
ในยุคที่ผู้เขียนเติบโตและทำงานอยู่ในสายสื่อนั้น นักธุรกิจที่มีความสามารถและพาให้องค์กรเจริญรุ่งเรืองส่วนใหญ่จะทำตัว Low Profile อันเป็นคำจำกัดความที่หมายถึงบุคคลที่ไม่ชอบแสดงตัว หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเป็นจุดสนใจ ไม่คุยโม้โอ้อวด ไม่แสดงถึงอำนาจหรือสถานะของตนเองอย่างเด่นชัด เป็นการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่พยายามเปิดเผยเรื่องส่วนตัวหรือความสำเร็จของตนให้ผู้อื่นรับรู้
จนกระทั่งการเดินทางของสังคมเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย อันมีสื่อสังคมออนไลน์หลายแพลตฟอร์มเป็นกระบอกเสียงให้กับบุคคลและองค์กร คำว่า Low Profile กลายเป็น Old Fashion ที่ไม่ค่อยมีใครอยากทำกัน แปรเปลี่ยนให้ยุคสมัยดิจิทัล เป็นยุคที่ต้อง “ประกาศให้โลกรู้” ถึงความสำเร็จ (ที่ไม่รู้ว่าจริงหรือปลอม) เรื่องราวของเขาและเธอ กลายเป็นคอนเทนต์ ที่สามารถสร้างกระแสความสนใจจากผู้คนได้ และทำให้ผู้คนเสพติดยอด Engagement ในคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียของตนเอง
ในปี 2019 เว็บไซต์อย่าง The Economist ได้รายงานตัวเลขที่น่าตกใจ ว่าคนอเมริกันที่มีอายุระหว่าง 18-22 ปี กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ เสพติดโซเชียลมีเดีย โดยในจำนวนนั้นให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ตนเองบนโลกคู่ขนานมากจนส่งผลต่อสุขภาพจิต ซึ่งรายงานดังกล่าวคือสิ่งที่เกิดขึ้นไปทั่วโลก ผู้คนเสพติดยอดกดไลก์ กดแชร์ จากคอนเทนต์ อวดความสำเร็จ แต่ถ้าถูกใครตั้งขอสังเกต พวกเขาจะรู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาทันที
การทำตัวให้เป็นจุดสนใจเพื่อสร้างกระแสอยู่ตลอดเวลาไม่สนุกนะคะ เพราะคนกำลังแสดงตนอยู่ในที่สว่างให้คนที่อยู่ในที่มืดได้เห็นอย่างชัดเจน และต้องไม่ลืมว่า “ความหมั่นไส้” คือความอิจฉาประเภทหนึ่งที่พัฒนาต่อให้กลายเป็นความเกลียดชังที่ซ่อนอยู่ในใจคน เมื่อวันหนึ่งที่ “คุณล้ม” พลังด้านลบจากผู้คนในที่มืด พร้อมจะพุ่งเข้าหาคุณได้อย่างรวดเร็ว
มาถึงบรรทัดนี้อยากให้ลองพิจารณาเปรียบเทียบ คนที่ประสบความสำเร็จในอดีต และมักทำตัว Low Profile กับคนที่ประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัลชอบอยู่ท่ามกลางสปอตไลต์ของสื่อ คุณจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าคนกลุ่มไหนที่อยู่ได้อย่างยั่งยืนกว่ากัน ก่อนจากกันมีสำนวนไทยมาฝากไว้ทิ้งท้ายค่ะ “กลองดีต้องมีคนตีถึงจะดัง แต่กลองอัปรีย์ดังได้โดยไม่มีใครตี”
แล้วพบกับใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ