ยุค AI Disruption บัณฑิตสายสังคมและบริหารธุรกิจว่างงาน 63%

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทางสภาพัฒน์ฯ หรือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานสภาวะสังคมช่วงไตรมาสสองที่ผ่านมาของปี 2567 (เม.ย. – มิ.ย.) เรียกว่าเป็นตัวเลขที่น่าจะทำให้คนที่กำลังเรียนอยู่ หรือ กำลังมองหางานทำรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ เพราะตัวเลขที่ถูกเปิดเผยในรายงานนั้นระบุว่าอัตราการจจ้างงานในช่วงไตรมาสที่สองนั้นลดลง และบัณฑิตจบใหม่ในสายสังคมและบริหารธุรกิจว่างงานถึง 63% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงมาก

เรื่องอัตราการว่างงานในไตรมาสที่สองนั้นพอเข้าใจได้จากสภาพเศรษฐกิจที่อยู่ในสภาวะแทบจะไร้ความเคลื่อนไหวเกือบจะทุกภาคอุตสาหกรรม โดยในรายงานของสภาพัฒน์ฯ ระบุว่าจากการสำรวจ พบว่ามีประชากรทำงานในระบบ 39.5 ล้านคน มีอัตราการจ้างงานที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยภาคสาขาการเกษตร ลดลงถึง 5% ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.5% การขนส่งโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น 0.5% ภัตตาคารและโรงแรมเพิ่มขึ้น 4.9% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนว่าช่วงไตรมาสสอง ซึ่งอยู่ในระยะเวลาของเทศกาลสงกรานต์นั้น ทำให้การเงินสะพัดอยู่ในแวดวงขนส่งและท่องเที่ยว

หากแต่ในระยะยาว ช่วงไตรมาสสาม (เดือนกันยายนจะเป็นเดือนสุดท้าย) และไตรมาสสี่นั้นจะมีความเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานเกิดขึ้นอีกไหม เนื่องจากเวลานี้มีสามปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับตลาดแรงงานไทย ปัจจัยแรกคือการเข้ามาของระบบอัตโนมัติ และ AI ซึ่งผลสำรวจของไมโครซอฟต์ประเทศไทยร่วมกับ LinkedIn พบว่า ผู้บริหารไทยกว่าร้อยละ 74 ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI

ปัจจัยต่อมาคือการขาดสภาพคล่องของ SMEs และปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นต่อการจ้างงาน ด้วย SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่รองรับแรงงานไว้เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันเกือบทั้งหมดของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กประสบปัญหาสภาพคล่องและต้นทุนที่สูงขึ้น หากยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมหรือความช่วยเหลือทางการเงินจากภาครัฐอย่างเต็มรูปแบบ มีโอกาสที่ SMEs จำนวนมากจะล้มหายตายจาก และไม่สามารถเป็นตลาดจ้างงานกลุ่มใหญ่เหมือนดังเช่นในอดีตได้อีกแล้ว

ส่วนปัจจัยสุดท้ายที่ต้องวัดกันในเดือนกันยายนนี้คือเรื่องของปัญหาน้ำท่วม ซึ่งส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร และยังกระทบไปยังความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกร หากพิจารณาทั้งสามปัจจัย และมองไปที่สภาพการเมืองในปัจจุบัน ช่วงสี่เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นปี 2567 ดูจะไม่มีตัวกระตุ้นเศรษฐกิจสักเท่าไรนัก

ขณะที่บัณฑิตจบใหม่ในภาคแรงงานก็ยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะบัณฑิตในสายสังคมและบริหารธุรกิจ ที่สภาพัฒน์ฯ รายงานว่า ผู้ว่างงานระดับอุดมศึกษาราว 63% จบการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ ธุรกิจ ขณะที่คนจบสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ คิดเป็นสัดส่วนราว 22% ของผู้จบใหม่มีงานรองรับมากกว่า ซึ่งดูจะสอดคล้องกับการรับพนักงานระดับปริญญาตรีที่ผู้ประกอบการต้องการคนทำงานที่มีความรู้ด้าน AI มากกว่าพนักงานที่จบตามหลักสูตรการศึกษาซึ่งพัฒนาไม่ทันการทำงานในปัจจุบัน

การหางานของบัณฑิตจบใหม่ในทุกวันนี้ หากดูจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ และความต้องการของตลาดแรงงานแล้ว สิ่งสำคัญคือการมีประสบการณ์ในการทำงานจริง ทัศนคติสำคัญสำหรับคนจบใหม่และรู้ว่าความต้องการของตลาดแรงงานมีน้อยกว่าจำนวนคนที่เรียนจบ คือการทำงานโดยให้คุณค่าของประสบการณ์เป็นสำคัญ เพื่อนำไปต่อยอดในอนาคต จะทำให้คุณได้เริ่มต้นชีวิตการทำงาน ไม่ต้องเป็นหนึ่งใน 63% ของบัณฑิตที่ว่างงาน

เหนืออื่นใดคุณต้องไม่ลืมว่าในปีนี้คุณเป็นบัณฑิตจบใหม่ ในปีต่อไปจะมีเด็กจบใหม่มาอีกระลอก ถึงเวลานั้นโอกาสของคุณในการเริ่มนับหนึ่งจะลดน้อยลงไปอีก พึงระลึกไว้เสมอว่าเมื่อ Supply มากกว่า Demand คุณไม่ใช่ผู้เลือก หากเป็นเพียงหนึ่งในตัวเลือก ที่มีคู่แข่งอีกนับพันนับหมื่นในสนามของชีวิตจริงค่ะ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า