“โรคหัวใจ” มีด้วยกันหลายชนิด โดยอาการของโรคหัวใจแต่ละชนิดก็จะแตกต่างกันไป สถิติสาธารณสุขของประเทศไทยปี 2564 พบว่าโรคหัวใจขาดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 4 รองจากโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดในสมอง และปอดบวม โดยคร่าชีวิตคนไทยปีละประมาณ 20,000 คน ส่วนในปี 2565 พบว่าคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 70,000 ราย เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
ส่วนภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ก็เป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญสุดประเด็นหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยประชากรกว่า 16 ล้านคนทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ และมีผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 1.4 ล้านคนต่อปี โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2593 จะมีผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในเอเชียแปซิฟิกมากถึง 72 ล้านคน มากเป็น 2 เท่าของจำนวนผู้ป่วยในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือรวมกัน
หน้าที่สำคัญของหัวใจ ก็คือ การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดตลอดชีวิตของเรา หากหัวใจต้องทำงานหนักมาก ๆ จะนำไปสู่ภาวะหัวใจวายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยอาการหัวใจวาย คืออาการที่สามารถเกิดขึ้นได้แบบไม่เลือกเวลา ไม่เลือกสถานที่ และหากได้รับการช่วยเหลือที่ไม่ทันท่วงที อาจทำให้อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย
เนื่องจากสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิดและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และในชีวิตจริง เราอาจจะไปพบเข้ากับคนที่ประสบสถานการณ์ฉุกเฉินต่อชีวิตเมื่อไรก็ได้ การให้ความช่วยเหลือต่อผู้ประสบสถานการณ์ฉุกเฉินถือเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และอีกสิ่งที่จำเป็นต่อการช่วยเหลือผู้ประสบสถานการณ์ฉุกเฉินที่หมดสติหรือหัวใจวาย คือเครื่อง AED ซึ่งเครื่องที่ว่านี่สำคัญและจำเป็นมากต่อการช่วยชีวิต
เครื่อง AED คืออะไร จำเป็นแค่ไหน
เครื่อง AED หรือเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาชนิดหนึ่ง มีประโยชน์มากในการเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยที่หมดสติจากอาการทางหัวใจ เป็นเครื่องที่สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้โดยอัตโนมัติ อ่านและวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำ และสามารถให้การรักษาด้วยการปล่อยคลื่นไฟฟ้าไปกระตุ้นหัวใจที่เต้นผิดจังหวะให้กลับมาทำงานปกติอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับผู้ที่ทำการช่วยชีวิต ว่าสามารถใช้เครื่อง AED ร่วมกับทำการปฐมพยาบาลพื้นฐานได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพเพียงใด
เนื่องจากเครื่อง AED ถือเป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยชีวิตฉุกเฉิน โดยเราจะใช้เครื่อง AED นี้กับผู้ป่วยที่มีอาการที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจกำเริบ หรือภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ในกรณีฉุกเฉิน อย่างผู้ป่วยที่มีอาการแน่นหน้าอก ไม่รู้สึกตัว หมดสติ เพื่อช่วยกู้ชีวิตเบื้องต้นระหว่างที่รอหน่วยแพทย์มาถึง ยิ่งช่วยได้เร็วเท่าไร ผู้ป่วยก็จะยิ่งมีโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้นเท่านั้น หรือในอีกทางหนึ่ง การช่วยเหลือผู้ป่วยช้าลงทุก ๆ 1 นาที จะทำให้โอกาสรอดชีวิตลดลงถึง 10 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ ในทางการแพทย์จึงแนะนำให้ใช้เครื่อง AED กับผู้ป่วยทันที และให้ใช้ภายใน 4 นาทีหลังจากที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น เพราะหากช้ากว่านี้ จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตเพียงแค่ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นตายเท่ากัน และจะแย่ลงไปจนถึงขั้นที่ไม่สามารถประเมินโอกาสรอดชีวิตได้
เครื่อง AED กับการติดตั้งในพื้นที่สาธารณะ
ทุกวินาทีของผู้ประสบสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลต่อชีวิต ซึ่งเราเองก็ไม่อาจจะทราบได้เลยว่าชีวิตของเราหรือคนที่เรารักจะตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้เมื่อใด เนื่องจากอาการหัวใจวายสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งมันน่าจะดีไม่น้อยถ้าในพื้นที่สาธารณะทั่วไปหรือสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านมีเครื่อง AED ติดตั้งไว้ เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสีย และเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้แก่ผู้ป่วย ที่สำคัญ เครื่อง AED ก็เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก ด้วยออกแบบมาให้ใช้งานง่าย และบุคคลทั่วไปสามารถใช้งานได้ตามคำแนะนำของเครื่อง AED
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขเองก็ได้เล็งเห็นความสำคัญของการช่วยชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉิน ก่อนหน้านี้จึงมีการติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) ไว้ตามพื้นที่สาธารณะสำคัญต่าง ๆ อาทิ สนามบิน ห้างสรรพสินค้า แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม ส่วนราชการ รถไฟฟ้าใต้ดิน อาคารสำนักงาน พื้นที่ชุมชน หรือแม้แต่ในบ้านและที่พักอาศัย เผื่อที่เวลาเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน พบเห็นผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันขึ้นมา ก็จะสามารถใช้สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ทันที
นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องการติดตั้งเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะ ถือเป็น “กฎหมาย” คือ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ส. 2522 กำหนดให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสาธารณะ ต้องจัดให้มีพื้นที่หรือตำแหน่งในการติดตั้งเครื่อง AED เนื่องจากเป็นอุปกรณ์สำคัญในการกู้ชีพ ณ ที่เกิดเหตุ โดยผู้ที่ช่วยเหลือไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการใช้งาน AED มาก่อน เนื่องจากคนทั่วไปก็สามารถใช้งานได้ง่าย เพียงทำตามคำแนะนำของเครื่อง AED ซึ่งสามารถประเมินสถานการณ์ของผู้ป่วยได้อัตโนมัติและช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจได้อย่างทันท่วง แต่ก็จะดีกว่าถ้าผู้ที่ช่วยเหลือมีความรู้ในการปฐมพยาบาล
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ประกาศจากราชกิจจานุเบกษา ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 69 เพิ่มข้อ 29/2 ซึ่งเป็นการควบคุมอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่เป็นอาคารสาธารณะ ต้องจัดให้มีพื้นที่ หรือตำแหน่งเพื่อติดตั้งเครื่อง AED ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดของเครื่อง AED ทั้งจำนวน ตำแหน่ง และระบบการติดตั้ง ให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) ประกาศกำหนด
ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง มาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานนอกสถานพยาบาล พ.ศ. 2564 ได้กำหนดรายการละเอียดของเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) เอาไว้ดังนี้
- ตัวเครื่องมีลักษณะการทำงานแบบอัตโนมัติ หรือกึ่งอัตโนมัติ และมีปุ่มสำหรับปล่อยพลังงานไฟฟ้า
- ตัวเครื่องสามารถให้พลังงานไฟฟ้าได้เองอัตโนมัติ โดยมีพลังงานไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับเด็ก 50 จูล และสำหรับผู้ใหญ่ไม่น้อยกว่า 120 จูล
- ตัวเครื่องพร้อมทำการปล่อยพลังงานไฟฟ้า ภายหลังการเริ่มวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจในระยะเวลาไม่เกิน 10 วินาที
- ตัวเครื่องสามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ
- ตัวเครื่องสามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
- ตัวเครื่องมีมาตรฐานเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์
อย่างไรก็ตาม หากประเมินด้วยสายตา เราอาจจะเห็นว่าตามที่สาธารณะต่าง ๆ ในเมืองไทยนั้นยังติดตั้งเครื่อง AED ไว้อยู่ค่อนข้างน้อยมาก ทั้งยังไม่สามารถเห็นได้ทั่วไปอีกด้วย (เพราะเครื่อง AED จำเป็นต้องเข้าถึงได้ง่าย หยิบฉวยมาใช้ได้ทันที) ที่สำคัญ การติดตั้งเครื่อง AED ยังไม่ทั่วถึงครอบคลุมทั้งประเทศด้วย ต้องไม่ลืมว่าผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ไม่ได้ประสบกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้เฉพาะในเมืองหลวงเท่านั้น จึงน่าจะเพิ่มพื้นที่การติดตั้งเครื่อง AED ให้มากกว่านี้ นอกจากนี้ ยังเคยเกิดกรณีที่มีมือดีขโมยเครื่อง AED เพื่อนำไปขายต่อด้วย จึงจำเป็นต้องมีการป้องกันในเรื่องนี้อย่างรัดกุม เพื่อที่จะได้มีเครื่อง AED ใช้ในสถานการณ์ที่จำเป็นจริง ๆ