ความหลงติดอยู่ในตัวตน เฉกเช่น “สัญชัยปริพาชก”

วันจันทร์ที่เป็นวันหยุดต่อเนื่องแบบนี้ ลองทำเข็มนาฬิกาของตนเองให้ช้าลง แล้วมานั่งอ่านเรื่องเล่าจากครั้งพุทธกาลกันค่ะ เป็นเรื่องของ สัญชัยปริพาชก เจ้าของประโยคท้าทายความเชื่อในครั้งที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนา โดยสัญชัยปริพาชกกล่าวว่า “ขอให้คนฉลาดจงไปหาพระสมณโคดม ส่วนคนโง่จงมาหาฉัน”

เรื่องเล่านี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงบรรลุธรรม และส่งพระอัสสชิเถระไปเผยแพร่พระธรรมในดินแดนชมพูทวีป ดินแดนที่มีลัทธิเกิดขึ้นมากมาย และผู้นำลัทธิทั้งหลายต่างอ้างว่าวิธีปฏิบัติของตนนั้นพาไปสู่ความหลุดพ้น เมื่อพระอัสสชิเถระเดินทางมาถึงยังดินแดนชมพูทวีป และได้พบกับพระสารีบุตร ซึ่งในเวลานั้นมีชื่อว่า อุปติสสะปริพาชก และเป็นศิษย์อยู่ในสำนักของ สัญชัยปริพาชก (คำว่า ปริพาชก หมายถึงนักบวช)

การได้พบกับพระอัสสชิเถระ ทำให้อุปติสสะปริพาชกเกิดความเลื่อมใสและได้สอบถามถึงศาสดาของพระอัสสชิ จนได้รับฟังคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่ว่า “เย ธมฺมา เหตุ ปัพฺพวา เตสํ เหตุงฺ ตถาคโต เตสญฺจะ โย นิโรโธ จะ เอวํ วาที มหาสมฺโณ” (ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติทรงสั่งสอนอย่างนี้)

เมื่ออุปติสสะปริพาชก (พระสารีบุตร) ได้รับฟังหัวใจของพระพุทธศาสนาเพียงเท่านั้นก็เกิดความเลื่อมใส และได้นำเอาความสำคัญไปบอกกับโกลิตะปริพาชก (พระโมคคัลลานะ) ผู้เป็นมิตรสนิท ทั้งสองท่านต่างเห็นว่านี่คือหนทางของการหลุดพ้นที่ค้นหาอยู่ จึงได้ไปแจ้งแก่ผู้เป็นอาจารย์และเป็นเจ้าสำนักอย่าง สัญชัยปริพาชก ซึ่งบทสนทนาดังกล่าว ภายหลังได้กลายเป็นเรื่องเล่าที่ทำให้เห็นว่าเมื่อคนเราหลงติดอยู่ในตัวตนของตนเองแล้ว จะมีวิธีคิดเช่นไร

สัญชัยปริพาชก กล่าวกับ อุปติสสะปริพาชกและโกลิตะปริพาชกว่า “ขอบคุณท่านทั้งสองที่หวังดี แต่ฉันไปไหนไม่ได้ และไม่คิดจะไป เพราะทุกวันนี้มีสภาพที่ไม่ต่างอะไรจากจระเข้ในตุ่มน้ำ จะกลับหัวกลับหางก็ลำบากเสียแล้ว” ความหมายของประโยคดังกล่าวเป็นการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง เพราะคำว่า จระเข้ในตุ่ม ก็เท่ากับว่า สัญชัยปริพาชก ตัดสินอย่างเด็ดขาดแล้วว่าจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น แม้ว่าลูกศิษย์ทั้งสองจะคะยั้นคะยอเพียงใด

หากแต่สัญชัยปริพาชกยังได้ตอบกลับมาด้วยการตั้งคำถามว่า “ในโลกนี้มีคนโง่มากหรือคนฉลาดมาก” อุปติสสะและโกลิตะ ตอบกลับมาว่า “คนโง่มีมาก คนฉลาดมีน้อย” สัญชัยปริพาชก จึงตอบกลับไปว่า “ถ้าอย่างนั้น ขอให้คนฉลาดจงไปหาพระสมณโคดม ส่วนคนโง่จงมาหาฉัน”

เมื่อโน้มน้าวไม่ได้ผล อุปติสสะปริพาชกและโกลิตะปริพาชก พร้อมกับสาวกในสำนักของสัญชัยปริพาชก จึงเดินทางไปเฝ้าและฟังการแสดงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนกระทั่งอุปติสสะปริพาชก กลายเป็นพระสารีบุตร และโกลิตะปริพาชก กลายเป็นพระโมคคัลลานะ เมื่อได้บรรลุธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ได้เล่าเรื่องของสัญชัยปริพาชก พร้อมกับประโยคที่นักบวชเจ้าลัทธิได้กล่าวก่อนจะแยกจากกันมา

ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสถึงวิธีคิดของสัญชัยปริพาชกเอาไว้ว่า “สัญชัยถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ ถือเอาสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ เพราะเป็นมิจฉาทิฏฐิ ส่วนพวกเธอรู้สิ่งที่เป็นสาระว่าเป็นสาระ รู้สิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ จึงนับว่าเป็นบัณฑิตที่แท้จริง”

คำกล่าวของพระพุทธองค์ต่อวาจาของสัญชัยปริพาชก เมื่อนำเอามาเทียบกับวิธีคิดของผู้คนในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าคนแบบสัญชัยปริพาชกยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมาก และพวกเขามักจะเก่งในการให้ค่าเรื่องไม่มีสาระให้มีสาระ และด้อยค่าเรื่องที่เป็นสาระให้เป็นเรื่องที่ไม่เป็นสาระ

ดังนั้น การมีสติรู้ตัวในสิ่งที่ทำ ไม่หลงไปตามกิเลสตัณหาและมิจฉาทิฏฐิของตนเอง น่าจะทำให้คุณผู้อ่านได้เดินตามทางขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนคนที่คิดว่าจะยังคงเดินตามสัญชัยปริพาชก ก็น่าจะเป็นดังที่นักบวชได้กล่าวไว้ ซึ่งเราท่านก็คงต้องปล่อยเขาไป เพราะแม้แต่พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร ยังไม่สามารถเปลี่ยนใจคนแบบสัญชัยปริพาชกได้

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ