บทสัมภาษณ์คนต้นคิดในสัปดาห์นี้ ยังคงอยู่ที่เรื่องราวของ การอ่านหนังสือของคนตาบอด ที่แม้ว่าพวกเขาจะมองไม่เห็น แต่พวกเขาก็ยังจำเป็นต้องได้รับความรู้จากการอ่าน (ฟัง) หนังสือ เพื่อต่อยอดทางการศึกษาและนำไปประกอบอาชีพ ซึ่งในปัจจุบันคนตาบอดสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายและกว้างขวางมากขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่กับภาพจำเดิม ๆ อีกต่อไป พวกเขาสามารถประกอบอาชีพได้แทบจะทุกอาชีพที่คนตาดีทำได้ ตราบเท่าที่พวกเขามีความรู้และความสามารถ ซึ่งความรู้ทั้งหลายมันก็มาจาก “เสียง” ที่คนตาดีอ่านตั้งใจอ่านให้พวกเขาฟัง
นอกจากนี้ คนตาบอดจำนวนไม่น้อยที่รักการอ่านหนังสือเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่ให้ความรู้หรือความบันเทิงก็ตาม คลังความรู้จากการอ่าน (ฟัง) มาก ๆ ถูกนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพได้หลากหลาย โดยเฉพาะ การเป็นนักเขียน ใช่แล้ว! คนตาบอดเป็นนักเขียน ด้วยความพยายามประมวลผลความรู้ทั้งหมดที่ได้มากจากการอ่านมากฟังมาก พวกเขาจึงอยากที่จะถ่ายทอดมันออกมาเป็นผลงานของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดที่พวกเขาไม่สามารถอ่านหนังสือได้เอง พวกเขาจึงจำเป็นต้องพึ่งพาคนตาดี “อ่าน” หนังสือให้พวกเขาฟัง
เมื่อคนตาบอดต้องการคนตาดีอ่านหนังสือให้ฟัง จึงเกิดเป็นกิจกรรมอาสาสมัครที่เปิดโอกาสให้คนตาดีได้ใช้ “เสียง” ของตัวเอง เปลี่ยนเป็น “แสงสว่าง” “มวลความรู้” และ “ความสุข” สำหรับคนตาบอด ตอนจบของบทสัมภาษณ์ในวันนี้ จึงเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือให้คนตาบอดฟัง ว่าถ้าอยากจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการมอบแสงสว่างจากเสียงให้แก่คนตาบอดจะต้องทำอย่างไรบ้าง รวมไปถึงขั้นตอนในการทำหนังสือเดซี่สำหรับคนตาบอดด้วย โดย “คุณอิ๊ก ชลทิพย์ ยิ้มย่อง” ผู้ดูแลระบบบริการข้อมูลข่าวสารสำหรับคนตาบอด ณ ห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ มูลนิธิคนตาบอดไทย ยังคงเป็นผู้ให้ข้อมูล
จุดเริ่มต้นของการพัฒนาแอปฯ RFB ที่คนทั่วไปสามารถดาวน์โหลดมาใช้ แล้วเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือให้คนตาบอด
ขอย้อนไปนิดนึงนะคะ ในส่วนของห้องสมุดเรา มันจะมีส่วนที่เป็นฝ่ายผลิต ฝ่ายบริการ แล้วก็ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับไอทีค่ะ ในฝ่ายผลิตเราเอง เราจะมีโปรแกรมที่ใช้ในการผลิต ตัวที่มาก่อนเลยก็คือเป็นโปรแกรมที่อัดกับคอมพิวเตอร์ แล้วก็พัฒนามาเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้ใช้โปรแกรม OBI สำหรับผลิตหนังสือเดซี่ (DAISY) ซึ่งหนังสือเดซี่เนี่ยมันเป็นเหมือนหนังสือรูปเล่มจริงแบบที่คนตาดีอ่านเลย จะมีหน้าปก ปกใน สารบัญหัวข้อต่าง ๆ มีย่อหน้า มีการเว้นวรรค หรือมีเลขหน้า เวลาคนตาดีอ่านถึงหน้าที่ 20 แล้ว ก็หาอะไรมาคั่นหน้ากระดาษไว้ ครั้งหน้าก็กลับมาเปิดอ่านได้เลย คนตาบอดก็สามารถที่จะใช้งานหนังสือตัวนี้ได้แบบเดียวกับคนตาดีเลยค่ะ
ที่เราเรียกว่าหนังสือเดซี่ คือมันเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลแบบหนึ่งที่คนตาบอดสามารถเข้าถึงได้เหมือนหนังสือเล่มจริง ๆ ที่คนตาดีใช้ เริ่มต้นมันก็จะมาจากโปรแกรมที่ใช้ในการผลิต ก็คือเป็นโปรแกรมที่ใช้อ่านหนังสือเดซี่นี่แหละค่ะ อาสาจะต้องทำหัวข้อ แล้วก็กดบันทึกแบ่งประโยค การใส่เลขหน้าเข้าไปตั้งแต่ตอนที่อ่าน พอเสร็จแล้วเราก็จะเอาหนังสือเหล่านี้ออกมาสร้าง แล้วก็เอามาให้บริการ อันนี้จะเป็นการบันทึกกับคอมพิวเตอร์ค่ะ
ทีนี้พอผ่านมาระยะหนึ่ง มันเริ่มมีเทคโนโลยี คือคนใช้สมาร์ตโฟนกันเยอะขึ้น ก็มีอาสาสมัครท่านหนึ่ง ชื่อ “คุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์” ค่ะ เขาเป็นคนที่ Walk-in เข้ามาเป็นอาสาสมัคร แล้วเขาเห็นว่าการเรียนรู้โปรแกรมต้องมาถึงที่นี่ ซึ่งมันก็ต้องใช้เวลา แล้วในฐานะที่เขาก็เป็นนักพัฒนานวัตกรรมอยู่แล้ว เขาก็น่าจะเอาเทคโนโลยีอะไรที่เข้ามาช่วยได้ พอได้เข้ามาคุยกันมันก็ตรงกับที่ทางนี้ต้องการ คืออยากได้อยู่แล้ว ถ้ามันมีแอปฯ ก็จะดี ก็เลยได้คุยกัน เขาก็กลับไปหาแนวร่วมพวกองค์กรอะไรต่าง ๆ ก็คิดกันหลายอย่างจนทำออกมาได้ ก็ประมาณ 6-7 ปีมาแล้วค่ะ
ตอนนั้นที่ทำออกมาในช่วงแรก ๆ มันยังไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไร ยังเข้าถึงไม่ได้ ด้วยความที่มุมมองของคนตาดี บางทีคนทั่วไปยังไม่รู้ว่าคนตาบอดใช้เทคโนโลยีได้ ใช้สมาร์ตโฟนได้ ใช้คอมพิวเตอร์ได้ แล้วหลักการที่เขาใช้เขียนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ เนี่ย คนตาดีมักจะมองข้ามในเรื่องของการเข้าถึงของคนตาบอด พวกปุ่มพวกภาพต่าง ๆ ที่เขาเขียน เขาจะต้องแทรกคำศัพท์ซ่อนเอาไว้ในโค้ดที่เขาเขียนด้วย ตรงนี้มันจะทำให้คนตาบอดเข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงหลักการเขียนโปรแกรมจริง ๆ พวกนี้มันมีระบบอยู่แล้ว คนที่เป็นโปรแกรมเมอร์ส่วนใหญ่เขาจะมองข้ามตรงนี้ไป มันก็เลยใช้งานไม่ได้ค่ะ ตัวแอปฯ เวอร์ชันแรกเนี่ยมันไม่ประสบความสำเร็จเลย เขาคิดถึงแค่ว่าก็แอปฯ นี้มันเอาไว้อาสาเข้ามาอ่าน แล้วคนตาบอดจะต้องพยายามเข้าถึงเพื่ออะไร
แต่คือเจ้าหน้าที่ที่ดูแลทั้งหมดเนี่ยค่ะเป็นคนตาบอดหมด หมายถึงเจ้าหน้าที่ที่ดูแลหลังระบบ หรือคนที่จะคอยตอบคำถามอาสาสมัครหรือแม้กระทั่งแอปพลิเคชันเอง คือถ้าคนตาบอดที่เป็นเจ้าหน้าที่เข้าถึงไม่ได้ แล้วจะไปตอบอาสาได้ยังไง มันก็ติดปัญหา ก็พยายามปรับความเข้าใจกันมาจนมาเป็นเวอร์ชัน 2 เวอร์ชัน 3 ซึ่งมันถูกปรับมาเรื่อย ๆ แล้วอย่างฟีดแบ็ก ตอนที่เป็นเวอร์ชันแรก อะไรที่มันใหม่ ก็มีองค์กรเอกชนมาสนับสนุนเยอะ มันโปรโมตแรง เลยค่อนข้างจะมีอาสาเยอะ พอปรับเป็นเวอร์ชัน 2 มันจะมีฝั่งที่คนตาบอดฟังได้เลย ก็คือสมาชิกคนตาบอดที่เขาสามารถใช้สมาร์ตโฟนได้ ใช้แอปพลิเคชันได้ก็เข้ามาฟังได้เลยทันที แอปฯ จะเป็นด่านหน้าที่ทำให้อาสารู้จักแล้วก็เข้ามาอ่านค่ะ
กระบวนการผลิตหนังสือเดซี่สำหรับคนตาบอด มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ อัดเสียงด้วยโปรแกรม OBI อาสาก็ต้องเรียนรู้โปรแกรมก่อนค่ะ อ่านเสร็จแล้วอาสาบันทึก แล้วก็ส่งตัวอย่างก่อนเลย ทั้งอัดแอปฯ และอัดคอมพิวเตอร์ อันดับแรก ส่งรายชื่อหนังสือที่สนใจจะอ่านมาก่อน ป้องกันการอ่านซ้ำ พอไม่ซ้ำก็จองอ่านให้เรียบร้อย ไปเลือกว่าจะอ่านลงคอมพิวเตอร์หรือว่าจะอ่านผ่านแอปฯ คือทั้งสองอย่างเรามีคู่มือ มีคลิปสอนอยู่ที่เพจอยู่แล้ว พอบันทึกลงคอมพิวเตอร์หรือแอปฯ ประมาณ 3-4 หน้าแล้วให้ส่งตัวอย่างมาให้เจ้าหน้าที่ฟังก่อน ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ก็เอาใส่ Google Drive แล้วส่งไปที่เพจห้องสมุดคนตาบอด ถ้าเป็นแอปฯ Read for the Blind ตัวข้อความที่ทักแชตน่ะค่ะ ที่ส่งรายชื่อ แค่ไปคัดลอกลิงก์หนังสือเล่มที่อ่านตัวอย่างในแอปฯ แล้วเอาไปวางไว้ในข้อความ เจ้าหน้าที่ก็จะเช็กให้
หลังจากที่ประเมินเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ฟังแล้วว่ามันมีการที่จะต้องปรับเสียงตรงนั้นตรงนี้ ไมค์เบาไป มีเสียงรบกวน หรือว่าให้อ่านหัวข้อไม่ครบ พอฟีดแบ็กกลับไปเสร็จเรียบร้อยแล้วอาสาก็ไปอ่านตามที่คอมเมนต์ ส่วนใหญ่ก็ส่งกลับมาค่ะ ประมาณรอบหรือสองรอบ จนเราบอกว่าอ่านต่อได้เลย อาสาก็จะไปอ่านต่อจนจบ แล้วระหว่างอ่าน ติดตรงไหนถามได้เลยทางแชต มันก็จะมีกฎกติกาเพิ่มเติมที่เราจะส่งให้ อย่างเกณฑ์การอ่านปกหน้าต้องทำยังไง หรือว่าระหว่างการอ่านเจอเครื่องหมายต้องอ่านยังไง เจ้าหน้าที่ก็จะแนะนำให้ค่ะ
พอเสร็จเรียบร้อย ถ้าเป็นลงคอมพิวเตอร์เขาก็จะ zip ไฟล์แล้วก็แชร์ใส่ Google Drive มา ถ้าเป็น Read for the Blind ที่เคยส่งลิงก์มาให้แล้ว ก็แค่แจ้งมาว่าอ่านจบแล้ว แล้วเดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะจัดการเอง พอเสียงจากทางคอมพิวเตอร์ส่งมาปุ๊บ เจ้าหน้าที่เขาก็จะเอามาตรวจสอบ ตรวจสอบทั้งเรื่องของการทำโครงสร้างหนังสือ เรื่องของการตัดไฟล์เสียง เรื่องของเทคนิคน่ะค่ะ แล้วก็เรื่องของการอ่านโดยรวม เสร็จแล้วก็จะส่งไปที่ QC ของเรา 2 คนที่เป็นตาบอดทั้งคู่
ส่วนแอปพลิเคชันก็เหมือนกัน พออ่าน เราจะไปดึงมาจากหลังบ้านของแอปฯ แล้วนำมา import เข้าโปรแกรม OBI ที่เราต้องนำมา import เพราะว่าเราต้องนำมาตรวจเหมือนกันค่ะ ในขั้นตอนเดียวกันกับ OBI เลย เรื่องของโครงสร้าง เรื่องของการอ่าน เรื่องการตัดเศษ เรื่องอะไรทั้งหลาย แล้วก็ส่งไปให้ QC เหมือนกัน สุดท้ายพอ QC เรียบร้อย เขาก็จะ export ออกมาให้อยู่ในรูปแบบที่เราสามารถเอาไปให้บริการได้ ก็คือเอาไปเข้า 1414 กับเข้าแอปฯ Tab2Read อันนี้ก็จะเป็นปลายทางที่คนตาบอดทั่วประเทศเขาจะเข้าไปฟังหนังสือได้
จะเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือให้คนตาบอดต้องทำอย่างไรบ้าง และควรมีความสม่ำเสมอในการอ่านแค่ไหน
ความสม่ำเสมอ อยากให้อ่านต่อเนื่องค่ะ คือหลังจากจองแล้วเราจะให้เวลา 3 เดือน ถ้าสมมติว่ายังอ่านต่อก็แจ้งเข้ามาได้ค่ะว่ายังอ่านต่อ แต่บางคนเขาก็ขอยกเลิกเพราะอ่านต่อไม่ไหวก็มีเหมือนกัน ที่อยากได้ความสม่ำเสมอ คือถ้าสมมติว่าอาสารับผิดชอบหนังสือเล่มนี้แล้วเนี่ย อ่านที่บ้าน อาสาไม่จำเป็นต้องอ่านทีเดียวให้จบทั้งเล่ม บางทีอาสาอาจจะแบ่งเวลาเองว่าวันนี้อาจจะอ่าน 1 บท หรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์จะอ่านอีกสักบทสองบท ก็แล้วแต่ค่ะ
ข้อดีของความสม่ำเสมอ มันเหมือนแรงฮึดของคนค่ะ เหมือนการออกกำลังกาย มันก็จะทำเป็นประจำ แล้วอย่างพวกน้ำเสียงหรือลักษณะการอ่านเนี่ย บางทีถ้ามันทิ้งช่วงไปนานมันจะลืมค่ะ ลืมที่ตัวเองเคยอ่านไว้ ข้อควรระวัง หรืออะไรก็ตามที่อยู่ในหนังสือ คำเฉพาะอะไรแบบนี้ ก็อาจจะหลงลืม แล้วก็พออ่านในแอปฯ จริง ๆ เนี่ย อาสาสามารถอ่าน 1 บทแล้วอัปโหลดเข้ามา เวลาคนตาบอดไปตามฟัง บางทีเขาก็จะรอค่ะว่าเมื่อไรบทที่ 2 จะมา บทที่ 3 เมื่อไรจะมี อย่างตอนนี้ ที่ติดกันอยู่เรื่องนึง มันเป็นนิยายจีนชุด อาสาเพิ่งอ่านจบเล่ม 2 แล้วแบบเขาเริ่มอารมณ์ค้างกันแล้วว่าเล่ม 3 เมื่อไรจะมา เล่มนี้เพิ่งขึ้นไม่กี่เปอร์เซ็นต์เอง ยังไม่จบเลย เมื่อไรจะจบ คือเขาก็รอค่ะ แล้วถ้าเกิดอาสาอ่านแล้วเว้นช่วงหายไปหลายเดือน ไม่รู้สิคะ ลองนึกถึงคนที่เขาชอบอ่านแล้วต้องรอคอยตอนต่อไปอะค่ะ อันนี้คืออ่านแอปฯ นะคะ
แต่ถ้าเป็น OBI ที่อ่านลงคอม คือคนเขาก็รอเหมือนกัน แต่อันนี้อาสาต้องอ่านให้จบทั้งเล่มแล้วถึงจะส่งมา แล้วกว่าแต่ละเล่มจะออกให้บริการได้ บางทีมันใช้เวลาเป็นปีค่ะ สองปียังมีเลย คือคนเขาก็รอแล้วรอเล่าว่าเมื่อไรเขาจะได้อ่านหนังสือที่เขาอยากอ่านสักทีนะ ก็เลยอยากให้อาสาพยายามอ่านต่อเนื่องค่ะ คือข้อดีเนี่ยได้ทั้งกับตัวอาสาด้วยแล้วก็กับคนตาบอดด้วย อาสาเองเหมือนได้ทำอะไรเป็นประจำก็จะรู้สึกดีนะ อย่างการอ่านเราคล่องขึ้น หรือคำควบกล้ำเราดีขึ้นนะ แต่ก่อนเราพูดไม่ชัดเลย พอได้มาอ่านบ่อย ๆ มันดีขึ้น ซึ่งมันได้เห็น ๆ เลยค่ะ ทั้งผู้ให้แล้วก็ผู้รับเลย
ส่วนถ้าอยากเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือต้องทำอย่างไรบ้าง เรามี 2 เพจค่ะที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องการอ่าน มี Read for the Blind อ่านหนังสือให้คนตาบอด อันนี้จะเป็นเรื่องของแอปพลิเคชันล้วน ๆ เลย และเพจห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ ที่มันขึ้นต้นว่า DAISY Thailand Project ค่ะ อันนี้ดูแลเรื่องของคอมพิวเตอร์ อ่านลงคอมและอื่น ๆ เช่น ทำกิจกรรม ทำ CSR ในนามองค์กร จัดฝึกอบรมการเป็นวิทยากร อะไรทั้งหลาย ทุกอย่างติดต่อที่เพจห้องสมุดหมดเลย แต่ Read for the Blind เราจะมุ่งเรื่องแอปฯ อย่างเดียว ก็คือเลือกเอาว่าอาสาสนใจจะอ่านลักษณะไหนค่ะ
แต่ถ้าสับสนว่าจะเข้าอันไหนดี จริง ๆ ก็คือทักที่เพจไหนก็ได้ค่ะ เดี๋ยวเจ้าหน้าที่จะแนะนำเอง ก็คืออย่างเพจ Read for the Blind จริง ๆ ก็เจอง่ายอยู่แล้ว อย่างเพจ DAISY Thailand Project จะเป็นเพจที่ดูแลเกี่ยวกับภาพรวมของการอ่านหนังสือ ก็ติดต่อทางนี้ได้ หรือว่าจะเป็นเบอร์โทรศัพท์ของทางห้องสมุดเอง จริง ๆ เราจะใช้เบอร์เดียวกับของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยก็คือ 02 246 3835 แล้วก็ต่อ 202 ตรงนี้จะเป็นส่วนงานของห้องสมุดคนตาบอดโดยตรง ก็ติดต่อที่นี่ได้ค่ะ ในเวลาทำการนะคะ จันทร์-ศุกร์ 9.00-17.00 น. ค่ะ
การอ่านหนังสือให้คนตาบอด มีกฎหยุมหยิมที่ต้องปฏิบัติหลายข้อ ทำไมต้องกำหนดกฎในการอ่านที่เข้มงวดขนาดนั้น
หนึ่งเลยคือเราผลิตหนังสือแค่ครั้งเดียวค่ะ ครั้งเดียวเก็บนานตราบเท่าที่ระบบเซิร์ฟเวอร์มันจะมีให้เราจัดเก็บ คือผ่านไป 10 ปี 20 ปี หรือถ้าให้พูดจริง ๆ ก็คือจนอาสาเสียชีวิตไปแล้ว เสียงของอาสาก็ยังอยู่ แล้วถ้าในเล่มนั้นมันมีเสียงหมาเห่า เสียงนกร้อง เสียงอะไรต่อมิอะไร มันจะกลายเป็นอะไรที่ไม่ดีเลย คือคนตาบอดอะค่ะ เขามองไม่เห็น คนตาดีลองหลับตาก็ได้ค่ะ ฟังอะไรสักอย่าง แล้วมันก็มีเสียงไม่พึงประสงค์แทรกเข้ามาอยู่ตลอดเวลา เสียงตะกุกตะกัก เสียงขลุกขลัก แล้วเขาไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ เพราะฉะนั้น การฟังเป็นทางเดียวเท่านั้นที่เขาจะรับรู้ได้ ถ้ามันมีเสียงอื่นแทรก เสียงรบกวนเยอะ เขาจะไม่สามารถรับสิ่งที่อาสาสมัครอ่านได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์
แม้กระทั่งว่าอาสาอ่านติด อ่านตะกุกตะกัก อ่านสะดุดแล้วไม่ลบให้ ในหัวที่เขาจำเป็นภาพอย่างเดียว เขาก็จะไปติดตรงนั้นอะค่ะ ว่าแล้วตกลงคำที่ถูกมันคืออะไร เพราะเขาไม่มีโอกาสที่จะไปเปิดหนังสือทวนว่าในหนังสือเล่มคนตาดีมันเขียนไว้ว่ายังไง คนตาดียังกลับไปเปิดดูได้ แต่คนตาบอดไม่รู้ ยิ่งถ้าอ่านมาผิด เขาก็จะจำไปผิด ๆ อย่างหนังสือกฎหมายนี่ มาตราเท่านั้นเท่านี้ ห้ามรถบรรทุกเกินเท่านั้นเท่านี้ ในหนังสืออาจจะเขียน 14 แต่อ่านมา 10 เขาก็จำ 10 แล้วเขาไปคุยกับคนอื่น นำไปใช้ในวิชาชีพ หรือเอาไปสอบ ตกเลยนะคะแบบนี้ มันผิดพลาดมาก แล้วที่เจอปัญหาบ่อย อย่างในแอปฯ เสียงลมพัดเข้ามา เสียงหายใจ เสียงน้ำลายเยอะมาก เอาง่าย ๆ ถ้าเป็นคนตาดีฟังใครสักคนอ่านอะไรแบบนี้ยังรู้สึกหงุดหงิดเลยว่าไหมคะ แล้วบางทีเขาฟังเนื้อหาแล้วก็ใช้สมาธิฟังอย่างอื่นประกอบด้วย
อย่างที่บอกค่ะว่าเราเก็บนาน แล้วเวลาที่มันมีเสียงแทรก เสียงซ่า เสียงอะไรมาก ๆ อ่านเบาจนเกินไป หรืออ่านดังจนเสียงแตก มันมีผลต่อการนำไปให้บริการด้วย ก็คือถ้าอ่านมาคุณภาพแบบไหน เอาไปฟังในแอปพลิเคชันที่คนตาบอดฟังน่ะค่ะ มันไปหมดเลย กับอีกที่ สายด่วน 1414 ก็คือโทรศัพท์ คุณภาพแบบนั้นอะค่ะ มันจะดรอปลงไปอีก ถ้าเราอ่านมาได้ความชัดเจนหรือว่าความสมบูรณ์ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เวลาเรานำไปเข้าในสายด่วน 1414 มันจะดรอปลงมาครึ่งหนึ่ง มันจะเหลือแค่ 40 เปอร์เซ็นต์เอง แล้วยิ่งถ้าอ่านไม่ชัดหรือมีเสียงแทรกเสียงรบกวนเยอะ คนตาบอดฟังไม่ได้เลยนะคะ มันจะยิ่งดรอปคุณภาพเข้าไปอีก มันฟังค่อนข้างลำบาก
ตรงนี้จริง ๆ มันเป็นฟีดแบ็กมาจากคนตาบอดหลายท่านค่ะ ที่ส่งเข้ามาถามว่าทำไมหนังสือ RFB อ่านมาคุณภาพไม่ดีเลย คือเขาฟังไม่รู้เรื่อง หรือฟังแล้วเสียงแทรกเยอะ หรือแม้กระทั่งอาสาบางคนเป็นมือใหม่ อย่างการพากย์เสียงมันเป็นความรู้เฉพาะทาง มันต้องเป็นคนที่เขาเรียนหรือฝึกมาแบบจริง ๆ จัง ๆ แต่ถ้าเป็นคนทั่วไปที่ไม่ได้มีประสบการณ์ในการพากย์แล้วมาพากย์ทำเสียงเล็กเสียงน้อย เสียงเด็กเสียงคนแก่ ซึ่งเสียงเล็กเสียงน้อยเนี่ยเขาฟังไม่รู้เรื่องค่ะ เขาฟังแล้วก็จะเอ๊ะ! ว่าเมื่อกี๊พูดอะไร พอฟังแล้วมันไม่โอเค เขาก็จะคอมเมนต์มาว่าทำไมอาสาคนนี้อ่านแบบนี้ ไม่น่าฟังเลย คือมันไม่ชัด หรือร้องไห้ไปด้วยอ่านไปด้วยก็เคยมีนะคะ คืออินอะค่ะ แล้วคนตาบอดก็ฟังได้เนื้อหาไม่ชัดเจน
แล้วที่สำคัญ คนตาบอดเขาบอกว่าบางทีเขามีความสุขกับการที่ได้ฟังหนังสือแล้วจินตนาการเอาเอง โดยคนที่ถ่ายทอดให้ฟังก็ถ่ายทอดตามธรรมชาติได้เลย เหมือนที่เราพูดคุยกันนี่แหละ จะใส่ acting บ้างก็ได้แต่นิดหน่อยพอ แต่ว่าที่เหลือก็เว้นช่องว่างให้เขาได้ไปจินตนาการเองบ้าง อันนี้เป็นสิ่งที่เขาต้องการค่ะ
ตรงนี้เชื่อว่าหลายท่านจะรู้สึกว่าทำไมมันยุ่งยากจัง รวมไปถึงขั้นตอนด้วยเหมือนกันที่ต้องมาตั้งเงื่อนไขแบบนั้นแบบนี้ ก็เพราะด้วยเหตุผลแบบนี้แหละค่ะ คือเราก็อยากจะดูแลอาสาสมัครให้ดีที่สุด แล้วทำมาแล้วทั้งที เราก็อยากให้มันไม่ได้ทำมาทิ้ง ทำแล้วมันได้ผลงานที่ใช้ได้ ลองมองไปที่รอยยิ้มของคนตาบอดดูก็ได้ค่ะว่าเขารออยู่นะ เขาอยากอ่านนะแต่เขาขาดโอกาสค่ะ อยากอ่านเองให้ตายแค่ไหน มีปัญญาซื้อหนังสือเองแค่ไหน เขาก็ไม่สามารถที่จะอ่านได้ แล้วเขารอเสียงของทุกคนอยู่ค่ะ
คนตาบอดอยากได้หนังสือเป็นเล่ม เพราะก็อยากมีโอกาสที่จะเข้าถึงหนังสือได้เหมือนคนตาดี ไม่ใช่ว่าเราไปซื้อหนังสือมาแล้วทำได้แค่ลูบ ๆ คลำ ๆ คือเราก็อยากรู้ว่ากระดาษข้างในมันเขียนว่าอะไร เพื่อไปคุยกับคนตาดีที่นั่งคุยกัน คนตาบอด ต่อให้ซื้อเองได้ แต่เอามาแล้วเราจะอ่านได้ยังไง เราจะรู้ได้อย่างไร เราก็ต้องรอคนตาดีอ่านให้ค่ะ เขาก็อยากเม้าท์อยากคุยกับเพื่อน ๆ ของเขาที่อยู่ร่วมกันในสังคมกับคนตาดี ถ้าสนิทกันแล้ว บางทีคนตาดียังลืมด้วยซ้ำว่าเพื่อนเราตาบอดนะ เพราะว่าเราก็สามารถที่จะบอกได้เหมือนกันว่าเราอ่านมาแล้วเรื่องนี้ มันก็สามารถทำให้เขาได้สนุกไปกับชีวิตประจำวันเหมือนกับคนทั่ว ๆ ไปได้
เสียงของคนทุกคน เป็นแสงสว่างให้กับคนตาบอดได้
ทุกคนอาจจะไม่มั่นใจในตัวเองว่าเสียงเราจะอ่านได้ไหม หรืออีกอย่างก็จะเจอบ่อย เทคโนโลยีไม่เป็นเลย จะเริ่มต้นทำได้ยังไง ถ้าเป็นในแอปฯ แล้วยังไม่มั่นใจในเสียง เทคโนโลยีก็ยังไม่คล่อง ก็จะแนะนำให้บทความ เพราะมันจะสั้น หาจากที่ไหนก็ได้ที่มันมีแหล่งที่มา มีผู้เขียน มีเนื้อหาที่เชื่อถือได้ ก็เอามาอ่าน ง่าย ๆ ก็แค่เอามาสร้างบทความใหม่ กดบันทึก กดหยุด ลบ อ่านผิดก็ลบ เราสามารถอ่านใหม่ได้ค่ะ แล้วก็ค่อยกดอัปโหลดเข้ามา พอเราทำบ่อย ๆ มันก็จะออกเสียงเริ่มคล่องแล้ว แอปฯ ก็เริ่มใช้คล่องแล้ว ต่อไปเราก็เขยิบไปเป็นหนังสือเป็นเล่มก็ได้ มันก็จะค่อย ๆ ไปทีละขั้น ใจเย็น ๆ ค่ะ
แล้วที่สำคัญ อาสาทำด้วยใจอะค่ะ ก็เลยไม่อยากให้อาสารู้สึกว่ามันต้องฝืนทำหรือว่ามันอึดอัด มันจะออกมาได้ไม่ดี ถึงได้แนะนำว่าให้เลือกแนวที่ตัวเองชอบดีกว่า แล้วก็อย่างขั้นตอน พอเข้าสู่กระบวนการที่จะอ่านหนังสือเป็นเล่มแล้ว ที่ว่าจะต้องส่งรายชื่อมาเช็กก่อน ลองอ่านก่อนแล้วส่งมา คือมันอาจจะยุ่งยากจัง แต่ก็อย่างที่บอก เราไม่อยากให้อ่านจบทั้งเล่ม เคยนะคะ มีคนที่อ่านมาจบทั้งเล่มโดยไม่ส่งมาให้เราฟังเลย แล้วไมค์มีเสียงแทรกเต็มไปหมด เสียบไมค์แล้วมันหอนตลอดเวลา มีเสียงแอร์ด้วย แล้วก็อ่านเบามาก สรุปคือใช้ไม่ได้ ทิ้งเลยนะคะ คือมันเสียดายมาก เสียดายทั้งเวลาอาสาสมัครเอง แล้วก็หลาย ๆ อย่าง ก็เสียดายแทนอาสาด้วย
แล้วก็อีกเรื่องที่อาสาไม่ค่อยมั่นใจว่าเสียงของอาสาอ่านได้ไหม ก็อยากจะบอกว่าเสียงของทุกคนอ่านได้หมดค่ะ เพราะว่าทุกคนมีเสียงที่มีความเป็นธรรมชาติของตัวเองอยู่แล้ว ทุกคนมองเห็นอะค่ะ แล้วทุกคนมีเสียงเป็นของตัวเอง เพียงแต่ว่าบางท่านอาจจะยังไม่เคยชินกับการอ่านออกเสียง ตรงนี้ก็จะได้มาฝึก แล้วก็สามารถใช้สิ่งที่ตัวเองมีทั้ง 2 อย่างโดยไม่ต้องซื้อหาเลย ทั้งเสียงตัวเองและตาตัวเอง เอามาแบ่งปันสิ่งที่เราชื่นชอบให้กับคนตาบอดที่เขารอฟังอยู่ มันก็ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้ที่ให้และคนตาบอด
สำหรับประโยชน์ที่คนตาดีได้รับ มันทำให้เราเป็นคนละเอียดขึ้นด้วยค่ะ อันนี้เคยได้คุยกับอาสา เขาบอกว่าพอได้อ่านแบบออกเสียง เขาได้มอง แล้วเขาก็ได้ฟังทวนสิ่งที่เขาอ่าน เขาได้เห็นจุดบกพร่องของตัวเอง มันทำให้เราเป็นคนละเอียดมากขึ้น บางคำเราอ่านข้ามไปได้ยังไง บางคำอ่านผิดไปได้ยังไง หรือมีอาสาแชตมาบอกเหมือนกัน รู้สึกว่าเขาได้ฝึกสมาธิตัวเองให้รอบคอบมากขึ้น แล้วก็ฝึกการพูดของตัวเองให้ชัดเจนมากขึ้น มีหลายคนกลัวประมาณว่าจะอ่านได้ยังไง แค่คุยกับคนอื่นฉันเองยังคุยแทบไม่รู้เรื่อง คนอื่นยังไม่เข้าใจฉันเลย เนี่ยค่ะ การอ่านหนังสือเสียงให้คนตาบอดเนี่ยมันช่วยได้ มีหลายคนแล้วนะคะที่ไปสอบใบผู้ประกาศ
การที่คนตาบอดได้อ่าน (ฟัง) หนังสือมาก ๆ พวกเขาเอาไปต่อยอดอย่างไรบ้าง
พอได้อ่านเยอะ ๆ ก็เหมือนคนตาดีนี่แหละค่ะ ได้มีความรู้ บางทีเราไม่รู้หรอกว่ามันจะนำออกมาในรูปแบบไหน เพียงแต่ว่าเมื่อสะสมไปเรื่อย ๆ มันจะเริ่มได้ใช้ตั้งแต่การพูด การอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม เขาจะมีข้อมูลในหัวที่จะไปแลกเปลี่ยนกับใครต่อใครก็ตามในชีวิตประจำวัน ทำให้เขารู้สึกว่าเขาสามารถที่จะมีส่วนร่วมกับคนทั่วไปในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน แล้วก็ความรู้ต่าง ๆ อะค่ะ ไม่ว่าจะความรู้หรือความบันเทิงเนี่ยมันช่วยเขาหมด แล้วก็เป็นเรื่องของการต่อยอด ที่พอเวลามันมีมากแล้ว เขาเริ่มอยากเขียน มันออกมาเอง
สมมติเขาอ่านหนังสือ 100 เล่ม มันจะไปประมวลผลอยู่ในสมองของเขา พวกสำนวนมันจะมาจากการเล่าเรื่องในชีวิตประจำวันของเขานี่แหละ บางคนเขาก็จะมีไปเขียน ไปโพสต์เฟซบุ๊กบ้าง บางคนก็เขียนเป็นบันทึกเป็น diary ส่วนตัวบ้าง สำนวนเขาก็จะดีขึ้น เขาเริ่มมีคำ วลีต่าง ๆ ที่เขาได้จากการฟัง เริ่มมาเติม ดัดแปลง มาแต่งในการเขียนของเขาให้มันดีขึ้น ก็เลยทำให้มีคนตาบอดหลายคนเป็นนักเขียน แล้วก็บางคนเป็นครูบาอาจารย์ที่ต้องไปสอนระดับมหาวิทยาลัยเนี่ยค่ะ เขาก็ต้องเอาจากสิ่งที่เขาอ่านนี่แหละค่ะ อ่านสะสมมาตั้งแต่เด็ก บางทีก็เอาไปสอนลูกศิษย์บ้าง ไปให้กำลังใจคนอื่น มันก็จะมีประโยคเด็ดจากการอ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ เอาไปถ่ายทอดพลังให้คนอื่นได้
หรือว่าข้อมูลหนังสือวิชาการที่เขาจะต้องเอาไปสอน เขาก็จะได้มาจากการที่คนตาดีอ่านให้เขาฟัง หยิบยกมาจากเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่บางทีก็ไม่ได้รู้ตัวหรอกว่ามาจากเรื่องไหน หรือแม้กระทั่งการเป็นผู้นำ อาชีพที่คนตาบอดเป็น อย่างเป็นนักการเมือง เป็นนักกฎหมาย ต้องไปว่าความ การเป็นผู้นำเขาก็ต้องปลูกฝังมาจากการอ่านเยอะอยู่ดี ไม่งั้นเขาจะเอาความรู้มาจากไหนที่จะก้าวไปถึงจุดนั้นได้ จริงไหมคะ ทุกอย่างมันต้องใช้ความรู้หมดเลย ที่มาจากการอ่านน่ะค่ะ
แล้วก็เทคโนโลยี คนตาบอดที่ไปเป็นโปรแกรมเมอร์ ไปเขียนโปรแกรม ไปพัฒนาระบบ หรืออะไรต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี เขาก็ต้องหาความรู้จากการเสพหนังสือเสียงประเภทนี้ให้มันเยอะ มันส่งผลหมด อย่างทุกวันนี้ คนตาบอดที่มีอาชีพก็จะหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้ยึดติดอยู่แค่ว่าเขาจะต้องขายหวย เขาจะต้องเป็นหมอนวด เขาจะต้องเป็นโอเปอร์เรเตอร์ แต่จริง ๆ อย่างโอเปอร์เรเตอร์ ก็ต้องใช้ทักษะค่อนข้างสูงนะคะ มีเรื่องภาษาด้วย ทุกวันนี้ก็จะมีครูบาอาจารย์ นักการเมือง ไปทำงานต่างประเทศก็มี เป็นโปรแกรมเมอร์ดูแลระบบบริการต่าง ๆ มันมีหลากหลาย อยู่ในกระทรวงก็มี อยู่ในหน่วยงานภาครัฐ ที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาทางด้านการศึกษาให้กับคน มันมีหลากหลายค่ะ กว้างมากขึ้น คนตาบอดเป็นช่างไม้ยังมีเลยค่ะ พวกที่ประกอบ ประดิษฐ์ อะไรแบบนี้ก็มี อาชีพมันกว้างมากขึ้นน่ะค่ะ ประโยชน์มันมาจากการสะสมจากการอ่านนี่แหละค่ะ
อย่างในออฟฟิศเองก็มีคนตาบอด คนที่เป็น QC ตรวจงานให้อาสาในเชิงเทคนิคก็เป็นคนตาบอด หรือว่าเจ้าหน้าที่ไอทีที่ดูแลพวกระบบเซิร์ฟเวอร์ ระบบบริการ ก็เป็นคนตาบอดหมดเลย ที่เขียนโปรแกรม ที่เป็นหัวหน้าไอซีที ก็เป็นคนตาบอด แล้วก็แอดมินที่เป็นคนตอบคำถามในเพจ Read for the Blind ก็เป็นคนตาบอด ทั้งหมดนี่ก็เป็นอีกหลาย ๆ อาชีพที่คนตาบอดก็ทำได้ คนทุกคนอาจจะไม่ได้ทำทุกอย่างได้ แต่มันจะอาศัยว่าอะไรที่เราทำได้หรืออะไรที่คนอื่นทำได้ อะไรที่คนอื่นมาเติมเต็มเราได้ มันเป็นหลักการทำงานเลยค่ะ วางงานให้มันเหมาะ ตรงไหนที่เราทำไม่ได้ ถ้ามาเป็นภาพ เราก็จะส่งให้คนตาดีช่วยดูหน่อย มันอาจจะเสียเวลา มันจะช้านิดนึง แต่ว่าเราก็สามารถที่จะทำได้ มันก็ทำให้งานชิ้นหนึ่งหรือองค์กรมันไปได้ เพราะว่าทุกคนอยู่ร่วมกันได้ค่ะ
คนตาบอดก็ต้องการที่จะใช้ชีวิตของตัวเองให้เป็นปกติที่สุด เขาไม่ได้อยากที่จะใครมามองว่าเขาเป็นภาระ เขาไม่ชอบมาก ๆ เวลาคนตาดีชมว่าเก่งนะเดินเองได้ด้วย อะไรแบบนี้ คือมันมีนะ คนที่สงสัยว่าก็ตาบอดแล้วจะออกมาข้างนอกทำไม จะเดินทางทำไม จะไปเที่ยวทำไม ขึ้นรถโดยสารเดินทางไปเองก็มี ไปเที่ยวต่างจังหวัดเองก็มี คนตาบอดเขาก็ต้องการที่จะมีชีวิตเหมือนคนทั่วไป ให้มันเท่าเทียมกันน่ะค่ะ