คุณผู้หญิงต้องรู้ ตรวจฟรี “มะเร็งเต้านม” และ “มะเร็งปากมดลูก”

โรคมะเร็งเต้านมและโรคมะเร็งปากมดลูก เป็นโรคมะเร็งอันดับ 1 และ 2 ในผู้หญิงไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ความน่ากลัวก็คือ ผู้หญิงทุกคนต่างก็มีโอกาสเป็นโรคดังกล่าวได้ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ผู้หญิงที่มีบุตรแล้ว และผู้หญิงที่อายุตั้งเเต่ 30 ปีขึ้นไป โดยโรคมะเร็งเต้านม ถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัวอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตหญิงไทย อีกทั้งยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้หญิงทั่วโลก ในขณะเดียวกัน มะเร็งปากมดลูกก็เป็นหนึ่งในมะเร็งไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งทั้ง 2 เป็นประจำทุกปี ไม่ต้องอาย เพราะหากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถรักษาให้หายขาดได้

และนี่คือข่าวดีสำหรับผู้หญิง คลินิกตรวจมะเร็งปากมดลูก สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านมเบื้องต้น “ฟรี” ประจำปี 2566 โดยแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทั้งหมดเป็นผู้หญิง บริการตรวจทุกวันเสาร์ สัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สามของทุกเดือน (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) รับคิวตั้งแต่เวลา 08.30-12.00 น. (ไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า walk-in ได้เลย ปิดรับบัตรคิวเวลา 11.00 น.) รับบัตรคิวที่ชั้น 2 อาคารแพทย์โกศล 980/2 ตรงข้ามวัดธาตุทอง ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กทม. 10110 (BTS สถานีเอกมัย ทางออกประตู 4) ติดต่อสอบถาม โทร. 02 391 0400

เงื่อนไขการเข้ารับการตรวจ มะเร็งเต้านม-มะเร็งปากมดลูก

  1. เตรียมบัตรประชาชน
  2. เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิดครบ 2 เข็มขึ้นไป โดยแสดงหลักฐานการฉีดหรือแสดงแอปพลิเคชันหมอพร้อม
  3. รับจำนวน 100 คน/วัน
  4. รับบัตรคิวที่สมาคมแพทย์สตรีฯ (ไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า สามารถ walk-in ได้เลย)
  5. การเปิดรับการตรวจอาจมีการเปลี่ยนแปลง จะแจ้งให้ทราบผ่านทางเพจเฟซบุ๊กและหน้าเว็บไซต์
  6. การตรวจมะเร็งปากมดลูก ตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap smear) ส่วนมะเร็งเต้านม ตรวจเบื้องต้นด้วยวิธีคลำ
  7. หลังจากที่ตรวจแล้ว ทางคลินิกจะส่งผลไปตรวจที่ LAB รอประมาณ 15-30 วัน ผลตรวจจาก LAB เจ้าหน้าที่จะส่งไปรษณียบัตรแจ้งให้ทราบตามที่อยู่ที่แจ้งไว้

ความรู้เกี่ยวกับการตรวจมะเร็งปากมดลูก

  • ผู้หญิงทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป หรือ 3 ปีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ขึ้นกับว่าเวลาใดถึงก่อน ควรเริ่มทำการตรวจแปปสเมียร์ หลังจากนั้นทำการตรวจทุก 1-2 ปี
  • ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุกปี หากผลตรวจเป็นปกติติดต่อกัน 3 ปี สามารถตรวจทุก 3 ปีได้ ยกเว้นกลุ่มที่มีความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก เช่น มีการติดเชื้อ HIV ติดเชื้อ HPV (Human Papillomavirus) มีโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีมารดาที่ใช้ยา diethylstilbestrol ขณะตั้งครรภ์ ต้องทำการตรวจแปปสเมียร์ทุกปี
  • สตรีที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป หากมีผลการตรวจเป็นปกติ 3 ปีติดต่อกัน ไม่มีผลการตรวจที่ผิดปกติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และไม่มีปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก อาจยกเลิกการตรวจแปปสเมียร์ได้

วิธีการเตรียมตัวก่อนการตรวจแปปสเมียร์

  1. ตรวจแปปสเมียร์ในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน
  2. ห้ามสวนล้างช่องคลอดก่อนการตรวจ
  3. ห้ามใช้ยาเหน็บช่องคลอด ครีม หรือยาฆ่าเชื้ออสุจิในช่องคลอดก่อนการตรวจ 48 ชั่วโมง
  4. งดมีเพศสัมพันธ์ก่อนการตรวจ 24 ชั่วโมง
  5. ควรปัสสาวะออกให้หมดก่อนรับการตรวจภายใน เพราะแพทย์จะได้ตรวจขนาดของมดลูกและปีกมดลูกได้อย่างชัดเจน

ตารางวันที่/เดือน ที่สามารถเข้ารับบริการ

คลินิกตรวจมะเร็งปากมดลูก สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ให้บริการตรวจ “มะเร็งเต้านม” และ “มะเร็งปากมดลูก” ฟรี ทุกวันเสาร์ สัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สามของทุกเดือน สำหรับปี 2566 มีตารางที่สามารถเข้ารับบริการได้ ดังนี้

  • สิงหาคม วันเสาร์ที่ 5 ส.ค. และเสาร์ที่ 19 ส.ค. 66
  • กันยายน วันเสาร์ที่ 2 ก.ย. และเสาร์ที่ 16 ก.ย. 66
  • ตุลาคม วันเสาร์ที่ 7 ต.ค. และเสาร์ที่ 21 ต.ค. 66
  • พฤศจิกายน วันเสาร์ที่ 4 พ.ย. และเสาร์ที่ 18 พ.ย. 66
  • ธันวาคม วันเสาร์ที่ 2 ธ.ค. และเสาร์ที่ 16 ธ.ค. 66