การท่องเที่ยวนับเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยวในเมืองไทยมักจะเน้นที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพ ทำให้ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คุณภาพของนักท่องเที่ยวในเมืองไทยมักจะเป็นการท่องเที่ยวราคาถูก รวมไปถึงปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญที่มาจากประเทศจีน อันกลายเป็นปัญหาที่กระทบกับธุรกิจในท้องถิ่น รวมไปถึงทรัพยากรในประเทศที่ถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลือง กับผู้ประกอบการต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาเปิดธุรกิจท่องเที่ยวอย่างผิดกฎหมาย
หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านพ้น ฉากทัศน์ของการท่องเที่ยวทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงในเมืองไทยที่ ททท. มองว่าการท่องเที่ยวในปี 2567 นับเป็นปีแห่งการเร่ง “ฟื้นฟู” (Resilience) พร้อมพลิกโฉมสู่ High Value and Sustainable Tourism ที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน ททท. จึงได้ยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและ ททท. แบบ Moving forward to Better เดินหน้าต่อเนื่องสู่ก้าวต่อไปของการท่องเที่ยวไทยที่ดียิ่งขึ้น
โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างระบบนิเวศทางการท่องเที่ยวใหม่ New Ecosystem ด้วยการลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวจำนวนมาก สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง พัฒนาห่วงโซ่อุปทานร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมฯ ให้พร้อมรับกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ รวมทั้งกระจายรายได้สู่ฐานรากอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งมิติความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ มิติสังคมอยู่ดีมีสุข มิติสิ่งแวดล้อมที่ดี และมิติภูมิปัญญา
อีกหนึ่งในความพยายามของ ททท. คือ การสร้าง “ความมั่นคงทางการท่องเที่ยว” หรือ Tourism Security เพื่อให้มั่นใจว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะเติบโตอย่างเข้มแข็ง “ล้มให้เป็น” “ลุกให้ไว” และ “ไปต่อ” อย่างมีภูมิคุ้มกันระยะยาว สามารถเผชิญวิกฤติเชิงซ้อน (Polycrisis) ที่เกิดขึ้นได้ จึงมุ่งมั่นเสริมทัพด้วย 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่
- เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานบนพื้นฐานของคุณภาพและความยั่งยืน สอดรับกับความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
- พัฒนาปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว เอื้อต่อการเดินทางอย่างสะดวก และปลอดภัย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี มีคุณค่าอย่างเท่าเทียม ทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ
- ใช้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนสู่โลกดิจิทัล เพิ่ม Digital Literacy ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล เน้นการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าและความยั่งยืน
- ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2567 ททท. จะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสานต่อการ “สร้างประสบการณ์ทรงคุณค่า” เพื่อส่งมอบให้กับกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีความต้องการแตกต่างกัน โดยคำนึงถึง Sub-culture Movement และ Partnership 360° ประสานความร่วมมือกับทุกพันธมิตรผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย “มุ่งสู่ความยั่งยืน”
เริ่มต้นกันที่ตลาดต่างประเทศ ททท. วางแผนกระตุ้นตลาดด้วย 5 ทิศทางหลัก ได้แก่ เสริมภาพลักษณ์แบรนด์ท่องเที่ยวไทยด้านความยั่งยืนและใช้เป็นจุดขายใหม่ของประเทศไทย เน้นไม่สร้างภาระ แต่สร้างสาระรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและชุมชน (Travel with Care) กระจายรายได้อย่างทั่วถึง (Fair Income) และเสนออัตลักษณ์ท้องถิ่นเป็นจุดขาย (Encourage Identity & Biodiversity) โดย ททท. มีแนวคิดดำเนินโครงการ Kinnaree Brand Refresh ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้รู้จักรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยหรือรางวัลกินรีในวงกว้าง เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวภายใต้มาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Responsible Tourism)
โดยจะเปิดตลาดคุณภาพใหม่ให้ท่องเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โฟกัสตลาดใหม่ในภูมิภาคยุโรปและตะวันออกกลาง และขยายสู่กลุ่มตลาดย่อย ซึ่งเป็นผู้มีรายได้สูง แสวงหาคู่ค้ารายใหม่ และขยายความร่วมมือกับคู่ค้ารายใหญ่ในเวทีโลก เช่น Tourism Cares ของสหรัฐอเมริกา OTA ชั้นนำ หรือ Platform การชำระเงินยอดนิยมต่าง ๆ ขยายการเดินทางเชื่อมโยงทางบกเข้าถึงประเทศไทย เช่น เส้นทางรถไฟความเร็วสูง จีน-เวียงจันทน์ (ลาว)-ไทย และใช้ Digital Content เสริมพลังทางการตลาด เช่น เกาหลีใต้ ใช้ Virtual influencer คือ น้อง Rozy นำเสนอประสบการณ์ท่องเที่ยวไทยชวนนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย Gen Y-Z มาเที่ยวไทย
สำหรับ “ไทยเที่ยวไทย” ตลาดในประเทศ ททท. ให้น้ำหนักไปที่การกระตุ้นให้เที่ยวไทยทันที เพิ่มความถี่และการกระจายตัวท่องเที่ยวหลากหลายพื้นที่มากขึ้น เป็น 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน ตลอดทั้งปี เพื่อสร้างรายได้ให้ทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม ควบคู่กับการนำเสนอจุดแข็งสู่จุดขายของ Soft Power (5F) และนำเสนอสินค้าเชิงประสบการณ์ผ่านอัตลักษณ์ของ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ เกิดเป็น Meaningful Travel
ทั้งนี้ ททท. ตั้งเป้าหมายอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ปี 2567 ผลักดันรายได้ในระดับใกล้เคียงกับรายได้ที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้รับในปี 2562 ก่อนสถานการณ์การเผยแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยบนพื้นฐานของสถานการณ์ท่องเที่ยวที่มีปัจจัยเอื้ออำนวยในทุกด้าน (Best Case Scenario) จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากต่างประเทศ 1.92 ล้านล้านบาท ดึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าไทยจำนวน 35 ล้านคน ขณะที่ตลาดในประเทศ สร้างรายได้หมุนเวียน 1.08 ล้านล้านบาท จากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย 200 ล้านคน
ที่มา: ททท.