ถาม-ตอบ เรื่องซ่อมตุ๊กตา เรื่องหลอนก็มี! (ตอนจบ)

บทสัมภาษณ์คนต้นคิดในสัปดาห์นี้ ยังคงอยู่กับเรื่องราวของการ “ซ่อมตุ๊กตา” ของ “พี่จิ๊บ อโณทัย สุขประเสริฐ” เจ้าของร้านและเพจ Anothai Art&Craft สืบเนื่องมาจากบทความที่แล้ว เราได้พูดคุยถึงเรื่องทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของการเป็นช่างซ่อมตุ๊กตาที่พยายามจะ “ไม่ปฏิเสธ” งานของลูกค้า ไม่ว่าตุ๊กตาตัวนั้นจะมีสภาพยับเยินแค่ไหน หรือต่อให้มาเป็นเศษผ้า มันก็เป็นเรื่องท้าทายความสามารถดี ในการที่จะชุบชีวิตตุ๊กตาตัวนั้นขึ้นมาใหม่อีกครั้ง เพื่อส่งคืนสู่อ้อมกอดของเจ้าของที่รักตุ๊กตาตัวนั้นมาก เพราะการจะดูว่าบรรดาเจ้าของรักตุ๊กตามากแค่ไหน บางทีก็บอกได้จากสภาพความเน่าเหมือนกัน ถ้าไม่รักคงไม่กอดไม่หอม แต่จะวางมันไว้เฉย ๆ

และจากที่เกริ่นไว้ในบทความที่แล้ว การซ่อมตุ๊กตาไม่ได้มีแค่เรื่องธรรมดา ๆ ทั่วไป บ่อยครั้งที่ตุ๊กตาถูกนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติ มีละครหรือภาพยนตร์มากมายที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “ตุ๊กตาผี” แน่นอนว่าการรับตุ๊กตาของลูกค้ามาซ่อม ช่างคงจะไม่ได้ซัก “ประวัติ” ของตุ๊กตาตัวนั้นได้ว่าเป็นมาอย่างไร ทำให้บางทีมันก็เกิดเป็นเรื่องราว “หลอน ๆ” ขึ้นมาได้เหมือนกัน บทสัมภาษณ์คนต้นคิดวันนี้ มาถามตอบเรื่องราวอีกด้านของตุ๊กตา รวมถึงคำแนะนำในส่วนของการทำธุรกิจส่วนตัว มีอะไรที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ

Q: ราคาในการซ่อมน้องตุ๊กตาเน่า ต้องจ่ายเท่าไร

A: ของพี่จะเริ่มที่ 350 บาท ก็จะเป็นงานที่เบา ๆ ซัก ซ่อม เปลี่ยนใย ตัวไม่ใหญ่ ตัวประมาณลูกฟุตบอลนี่ค่ะ พี่ก็จะคิดราคาประมาณนี้ 350 บาทขึ้นไป ถ้ามาแบบเน่าเลย พี่ก็ต้องดูขนาดด้วย แล้วก็ความยากของการที่เราจะทำ ระยะเวลาที่เราต้องเสียไปในการทำ ถ้ามันต้องใช้ขั้นตอนละเอียดมากพี่ก็จะคิดแพงขึ้น แต่ถ้าขนาดเล็กจิ๋ว มันก็ซ่อมยากอีกเหมือนกัน เพราว่าตัวมันเล็ก ก็จะคิดราคาอีกเรตหนึ่ง

ส่วนมากแล้วตุ๊กตาเน่าที่พี่ซ่อมนะคะ เรตมันก็อยู่ที่ 550 บาท ตอนนี้นะคะ เรตยังไม่เกิน 1,000 บาท นอกจากว่าตุ๊กตาตัวไหนที่เราต้องใช้อุปกรณ์ที่มันราคาค่อนข้างสูง อย่างพวกผ้าขนสัตว์ คือก็มีลูกค้าติดต่อมา คือเราต้องใช้ผ้าขนสัตว์หุ้มไปทั้งตัวเลย ข้างในเป็นพลาสติก ข้างนอกเป็นผ้าขนสัตว์ มันต้องใช้ผ้าขนสัตว์ในปริมาณที่เยอะ ก็คิดราคาที่ 1,500-2,000 บาท

Q: ซ่อมตุ๊กตารายได้ดีแค่ไหน

A: ถ้าพูดในเชิงของธุรกิจเรื่องต้นทุนกำไร น่าจะตอบยากนิดนึง มันอาจจะไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร แต่วิธีการคิดราคาของพี่ พี่จะดูว่าพี่จะต้องเสียเวลากับการซ่อมตุ๊กตาตัวนี้มากแค่ไหน พี่คิดว่ามันเป็นงานศิลปะ มันใช้ความรู้สึกในการคิดราคา แต่ว่าโดยรวมแล้วเราต้องอยู่ได้ เราต้องมีเงินเหลือที่จะเก็บ ที่จะใช้จ่ายในบ้าน

ด้วยความที่พี่ก็ไม่ได้เป็นคนขยัน จะบอกว่าขี้เกียจในระดับหนึ่งก็ได้ พี่ต้องหาวิธี ทางลัด หรือว่าวิธีที่จะซ่อมให้ได้เร็วที่สุด ในแง่ของธุรกิจที่ใหญ่ ๆ มันก็ไม่ถึงขนาดนั้น เราใช้ความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปร่วมด้วย การคิดราคาของพี่ ส่วนหนึ่งคือเราใช้เวลากับมันเท่าไร เพราะว่าวัสดุ-อุปกรณ์ ค่าแรง เราอยู่บ้าน เราก็เสียค่าน้ำค่าไฟ ไม่ต้องเสียค่าการเดินทาง ข้าวกินที่บ้าน ฉะนั้น ตุ๊กตาตัวหนึ่งพี่ก็คิดค่าแรงขั้นต่ำ พี่คิดในราคา 350 เป็นค่าแรงของพี่ ที่เหลือพี่ก็บวกค่าน้ำค่าไฟนู่นนี่นั่น พอหักลบแล้วจะเหลือเท่านี้เป็นกำไร โอเคพี่พอใจ ก็บอกลูกค้าไป ลูกค้าก็ไม่มีปัญหา รับได้ก็โอเค ดีล

แต่ส่วนมากนะคะ ลูกค้ามักจะให้เกินจากราคาที่เราบอกไป ให้มาเป็นทิป อย่างล่าสุดที่พี่เจอ พี่ซ่อมราคา 150 บาท เพราะตุ๊กตาตัวนี้พี่เคยซ่อมให้เขาแล้ว ทีนี้เขาก็ส่งมาซ่อมอีกรอบเพราะว่าขามันขาด ผ้าเปื่อย พี่ก็ดูว่าตัวนี้เราเคยซ่อมให้เขาแล้วกลับไปให้เหมือนเดิม เราก็คิดในราคา 150 บาท แต่ปรากฏว่าเขาโอนเงินมาให้ 1,000 บาท เขาบอกว่าที่เหลือทิป พี่ก็จะได้ทิปจากลูกค้าซะมากกว่า เคยมีลูกค้าบอกพี่ค่ะ ว่าแค่รับซ่อม ให้จ่ายเท่าไรก็ยอม ต่อให้ค่าซ่อมมันจะแพงกว่าซื้อใหม่ก็ยินดี เพราะตุ๊กตาที่เขาเอามาซ่อมมันเป็นตัวที่เขารัก ถ้าซื้อใหม่ได้ของใหม่มาก็จริง แต่มันเป็นคนละตัว คุณค่ามันไม่เหมือนกัน

Q: ออเดอร์ตอนนี้เป็นอย่างไร

A: ตอนนี้ออเดอร์มาเยอะมากค่ะ แต่ถ้าพวกอาการหนัก ๆ เนี่ย ตอนนี้พี่จะลงคิวเดือนตุลาคมให้ลูกค้า เพราะว่าในแต่ละเดือน พี่จะรับอาการหนักสุดขีด แบบที่สภาพแย่มาก ๆ แค่ 4 เคส/เดือน คิวค่อนข้างจะหนาแน่นมากเลย พฤษภาคมคือรับงานเต็มทุกวัน มิถุนายน กรกฎาคมก็เกือบเต็มแล้ว ยาวไปจนถึงกันยายน ตอนนี้ก็เลยเริ่มรับของตุลาคมแล้วค่ะ รับมา 5 คิวแล้ว

ปกติเดือนหนึ่งที่รับเต็มที่คือ 30 คิวค่ะ รับเต็มทุกวัน คือมันก็จะมีหนักบ้างเบาบ้างคละกันไป ก็มีซัก เปลี่ยนใย พวกนี้สามารถมาได้เลยไม่ต้องจองคิว เพราะมันไม่ต้องซ่อมอะไรมาก พี่ก็ซักตากไว้ทั้งวัน พอตอนกลางคืนเราก็มายัดใย ระหว่างวันเราก็ซ่อมงานอื่นไป หรือพี่ก็อาจจะมีเว้นไว้บ้างสักวันที่เอาไว้เคลียร์งานเก่า มันก็จะมีงานที่มันต้องใช้เวลาอยู่พอสมควรเหมือนกัน ด้วยความที่เกรงใจลูกค้า พี่ก็จะถามก่อนว่าลูกค้ารอไหวไหม เราก็ยังไม่ชัวร์ว่างานจะยาวไปถึงเดือนไหน พี่ก็รับไว้ก่อน อาจจะค่อย ๆ ทำให้เขาไป ก็พิจารณาไป

Q: บางคนติดตุ๊กตาเพราะ “กลิ่น” การส่งไปซ่อมมีผลต่อกลิ่นเฉพาะตุ๊กตาแค่ไหน

A: คือเราต้องคุยกับลูกค้าก่อนค่ะว่าเราจะต้องซักก่อน ทีนี้การซักเนี่ย กลิ่นก็อาจจะมีจางไปบ้างอยู่แล้ว แต่เวลาเปลี่ยนใย พี่จะเก็บใยเดิมในตุ๊กตาของเขาไว้ เพราะว่ากลิ่นส่วนหนึ่งมันก็จะอยู่ในใยค่ะ เก็บใยเดิมไว้เพื่อมาผสมกับใยใหม่ ตรงนี้เราก็ต้องคุยให้ลูกค้าเข้าใจก่อน

แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าไม่มีปัญหาเลยค่ะ เขาจะบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวกลิ่นมันก็กลับมา เพราะยังไงเดี๋ยวเขาก็ต้องกอดมันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องกลิ่นไม่มีปัญหาค่ะ ยังไงเดี๋ยวก็กลับมาเหมือนเดิม กลิ่นเก่าเนี่ย ต่อให้พี่ซักสะอาดขนาดไหนนะ กลิ่นมันก็ยังอยู่ ต้องอธิบายให้ลูกค้าฟังว่าพอซักแล้วกลิ่นมันก็จะจางไปบ้างแต่ก็ไม่ทั้งหมด ส่วนมากตุ๊กตาที่เอามาซ่อมสภาพมันจะเน่าอะค่ะ ข้างในจะดำหมดเลย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันไปกองอยู่ที่ใย ความสกปรก คราบไคลที่สะสมมาเป็นสิบปีมันไปกองอยู่ใย ต่อให้เราซักสะอาดมันก็ยังมีกลิ่นอยู่

แต่ว่ากรณีของใย ส่วนมากพี่จะแนะนำให้ลูกค้าเปลี่ยนใยดีกว่า เพราะว่ามันไม่ดีต่อสุขภาพ ใยเก่ามันเป็นฝุ่นค่ะ มันมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ถ้าจะให้ดีก็เปลี่ยนดีกว่า ถ้ากลัวว่ากลิ่นมันจะหาย พี่ก็จะผสมใยเก่าเข้าไปให้ด้วย แต่ว่าส่วนใหญ่ลูกค้าก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องกลิ่นเท่าไร ส่วนมากจะเน้นที่เรื่องเนื้อสัมผัสมากกว่าอย่างที่เคยบอกไป ทำให้น้อยครั้งมากที่พี่จะใช้วิธีปะ แบบเอาผ้าใหม่เข้าไปปะ นอกจากเป็นตุ๊กตาขน ที่มันเติมขนไม่ได้แล้ว ก็จะใช้วิธีเอาขนใหม่ปะเข้าไปทดแทนส่วนที่หายไป ถ้าเป็นพวกผ้าบาง ๆ พี่ต้องใช้วิธีอัดผ้ากาวไปข้างหลัง เพื่อให้ผ้าของเดิมอยู่ข้างหน้า ลูกค้าก็จะได้สัมผัสผ้าเดิม นอนกอดแล้วเป็นสัมผัสแบบเดิม

Q: เคยเจอตุ๊กตาที่มาพร้อม “เรื่องผี” หรือ “ความหลอน” บ้างไหม

A: มีค่ะ มีเคสหนึ่งที่พี่คิดมากเลย เป็นลูกค้าผู้ชาย เขาติดต่อพี่มาว่ามีตุ๊กตาจะให้ซ่อม พี่ก็เลยให้เขาส่งรูปมาให้ดูก่อน เดี๋ยวพี่ประเมินราคาให้ ตอนนั้นค่ำละประมาณ 3 ทุ่ม แล้วเวลาพี่ทำงาน พี่เปิดเดอะช็อกฟังไปด้วย พอพี่เห็นรูปที่เขาส่งมา พี่อึ้งไปนานมากเลย พี่ก็เลยถามเขาตรง ๆ ว่าตุ๊กตาตัวนี้ “ไม่ธรรมดา” ใช่ไหม

ทีแรกเขาก็อ้ำอึ้ง แต่ก็พยายามบอกตลอดว่าพี่เขาไม่มีอะไร พี่เขาใจดี พอพี่ฟังปุ๊บพี่ก็เอาละ มันต้องมีอะไรแน่ ๆ เลย เขาก็เลยขอโทรคุย พี่ก็คุย แต่ในใจตอนนั้นน่ะคือตัดสินใจแล้วว่าพี่ไม่รับ เขาก็โทรมาเล่าประวัติตุ๊กตาตัวนี้ บอกว่าเป็นเทพใจดี เขาไม่ดุหรอก พี่ก็ไม่มั่นใจ พี่เลยบอกเขาว่าขอปรึกษากับที่ปรึกษาของพี่ก่อนได้ไหม คือพี่ก็มีที่ปรึกษาด้านนี้เหมือนกัน แล้วเดี๋ยวจะให้คำตอบว่าจะรับซ่อมไหม แต่ในใจคือแบบไม่เอาหรอก พี่ก็บอกเขาไปตรง ๆ ว่าพี่กลัวผี

จากนั้นพี่ก็เลยส่งรูปตุ๊กตาตัวนี้ให้ที่ปรึกษาของพี่ดู น้องที่ปรึกษาเขาก็บอกให้พี่รับเลย ตุ๊กตาตัวนี้เขาเป็นเทพใจดี พี่ก็ยังหวั่น ๆ แหละว่าถ้ารับมาแล้วจะซ่อมยังไง จะซ่อมตอนไหน เพราะกลางคืนฉันไม่ทำแน่นอน ฉันไม่เอาขึ้นบ้านด้วย (หัวเราะ) ก็สักพักจนความกลัวมันค่อย ๆ คลายลงค่ะ ก็เลยรับมา แล้วตอนนั้นก็เกิดไปท้าทายเขาด้วย ว่าถ้ารับซ่อมให้แล้วเนี่ย ขอให้ถูกหวยได้ไหม ถ้าถูกหวยมาจะไม่คิดค่าซ่อมเลย อะไรแบบนี้ค่ะ

พอรับมาปุ๊บ มันก็ขนลุกนะ หนึ่งสัปดาห์ผ่านไปพี่ก็ยังไม่แกะเขาหรอก พี่ก็กลัวเหมือนกัน กว่าจะทำใจแกะแยกชิ้นส่วนเขาได้ ก็ต้องคอยบอกว่าขอแกะนะ ขออนุญาตทำให้สวย ๆ นะ เพราะว่าตุ๊กตาตัวนี้เขาเป็นตุ๊กตาฝีมือช่างอินเดีย ตุ๊กตาตัวนี้มาจากอินเดีย ถูกส่งมาเป็นของขวัญเปิดบริษัท เส้นทางก็คือโดนเอาไปเก็บในห้องเก็บของเพราะไม่มีใครสนใจ จนแฟนของลูกค้าพี่เขาไปเจอแล้วก็เอาออกมา สภาพคือสกปรกเลย ด้วยความหวังดีเขาก็พยายามเอาไปทำความสะอาด แต่ด้วยตุ๊กตาตัวนี้ไปอยู่ในห้องเก็บของที่มันชื้น ผ้าก็เลยเสื่อมสภาพ แล้วหน้าตาตุ๊กตาที่ทาหน้าทาปากไว้ พอโดนน้ำหน้าก็เลยเหวอะเลย ก็เลยกลายเป็นว่าน่ากลัวมาก น่ากลัวกว่าเดิมอีก แค่ที่มาที่ไปก็ขนลุกแล้ว

คือปกติเราก็เคยซ่อมแต่ตุ๊กตาสัตว์ หมา แมวน่ารัก ๆ ตุ๊กตาเด็กอ่อนอะไรอย่างนี้ พอมาเจอตุ๊กตาแบบนี้ก็นะ ขนลุกเหมือนกัน แต่ก็โอเค พี่ก็รับซ่อม พี่ใช้เวลาแค่อาทิตย์เดียว เพราะว่าอยากเห็นเขาสวยเร็ว ๆ พี่ก็ซ่อมให้จนสำเร็จเรียบร้อย แต่สำหรับพี่ปัญหามันอยู่ที่การแต่งหน้าตุ๊กตา ตัวพี่ไม่เคยแต่งหน้า พี่ก็จะมีปัญหาเรื่องเขียนคิ้ว ทาอายแชโดว์ ปัดแก้ม ทาลิปให้ตุ๊กตา แต่สุดท้ายก็ทำได้นะ ออกมาสวยเลย

พี่ซ่อมให้เขาเสร็จก่อนวันสงกรานต์ พี่รับงานมามีนาคม วันที่ 31 มีนาคมพี่ถึงซ่อมให้เขา พอซ่อมเสร็จเรียบร้อยสวยงาม ทำชุดทำเสื้อผ้าให้ใหม่หมดเลย หลังสงกรานต์เลยค่ะที่หวยออก พี่ก็เลยได้ค่าซ่อมมาจากการถูกหวย พี่เลยบอกลูกค้าว่าพี่ไม่เอาค่าซ่อมนะ พี่สาว (คำที่ใช้เรียกตุ๊กตาตัวนั้น) จ่ายมาให้แล้ว คือตอนแรกพี่ก็คิดว่าจะมีจริงไหม? ขนาดเรากลัว แต่ก็ยังจะไปท้าทายเขานิดนึงอีก แต่ตอนที่ปรึกษาน้องที่ปรึกษา เขาก็บอกว่าถ้าพี่รับทำพี่สาวนะ รับรองว่าเดี๋ยวมีงานเข้ามาตลอดแน่ ๆ

จริง ๆ พี่ก็ไม่ใช่คนมีเซนส์นะ มีอีกเคสตุ๊กตาที่ลูกค้าเอามาซ่อม บางตัวลูกค้ากลุ่มที่เขาสะสมเขาเอามาจากอเมริกา มันมีอยู่ตัวหนึ่ง ก็ไปซื้อมาได้เนอะ ตุ๊กตาคอหัก เป็นงานที่เอาไว้แต่งสวน ตุ๊กตาผ้า ใส่กระโปรงบาน ๆ มีผ้ากันเปื้อน มีหมวกระบายลูกไม้กลม ๆ แต่ทีนี้เนี่ยคอหัก แล้วตัวตุ๊กตาสูงเท่าเด็กประมาณ 7-8 ขวบ ตัวนั้นลูกค้าซื้อมา 6,000 บาท ส่งมาจากอเมริกาเลย พี่ก็เลยเอามารื้อให้ดู โอโห้! ขาก็หัก แล้วมันเหมือนเด็กมากเลยอะ พี่เอามาตั้งไว้ในบ้านเวลาเดินออกมากินน้ำเห็นแล้วหลอน ๆ ตลอด ตุ๊กตาตัวใหญ่ใส่เสื้อผ้าเด็ก รองเท้าที่เขาใส่ให้มาก็คือรองเท้าเด็กด้วย

Q: ตุ๊กตาที่ผ่านการซ่อมแล้ว อยู่ได้นานแค่ไหน

A: จริง ๆ มันอยู่ที่เจ้าของด้วยค่ะ ถ้าซ่อมแล้วเอาวางตั้งโชว์ไว้เฉย ๆ ไม่จับมาเล่น ก็จะอยู่ได้อีกนานจนกว่าผ้าจะเสื่อมสลายไปเอง แต่ถ้าเรายิ่งไปกอดไปหอม พี่ให้ประมาณ 5 ปีเท่านั้นค่ะ ตัวคนนี่แหละที่จะไปเร่งให้ผ้าตุ๊กตาเปื่อย จากทีแรกก็เปื่อยอยู่แล้ว การซ่อมมันก็เหมือนแค่ยืดอายุออกไป แทนที่จะสลายไปในวันนี้ ก็จะช่วยยืดให้อยู่ไปอีก 5 ปีประมาณนี้ค่ะ

คือผ้าที่ทำตุ๊กตามันจะมีส่วนผสมของโพลีเอสเทอร์ที่เป็นพลาสติก ตัวนี้มันไม่ได้สลายไปจากโลกหรอก แต่ว่ามันจะเป็นฝุ่นเป็นผง ในอายุของมันก็ประมาณ 20-30 ปี ถ้าลูกค้าเอาตั้งวางไว้เฉย ๆ หรือเก็บไว้ในตู้ หลังจากซ่อมไปแล้ว มันก็จะอยู่ได้อีกเป็นสิบปีที่มันจะกลายเป็นฝุ่นผง มันก็ตามกาลเวลาแหละค่ะ ของมันไม่มีอะไรที่มันจะยั่งยืนไปได้ขนาดนั้น ตุ๊กตาส่วนมากที่สภาพไปเร็วก็เพราะว่าเหงื่อไคล ทั้งกอดทั้งหอม น้ำลายเป็นตัวเร่งให้ผ้าเปื่อยเร็ว บางคนก็ต้องกอดทุกวัน ไม่งั้นนอนไม่หลับ พี่ก็จะแนะนำลูกค้าไปว่ากอดน้องน้อย ๆ ก็พอ เพราะยังไงของมันก็มีกาลเวลาของมันอยู่แล้ว ต่อให้เรารักษาดีแค่ไหน เราไม่สามารถที่จะไปหยุดความเสื่อมสภาพของวัตถุนั้นได้ค่ะ

Q: เคยมีความคิดจะเปิดสอนทำ/ซ่อมตุ๊กตาบ้างไหม

A: คือเคยมีลูกค้าอยากจะมาเรียนซ่อมกับพี่เหมือนกันนะ แต่ว่าพี่เป็นคนสอนอะไรไม่ค่อยเป็นน่ะ ขนาดคนในบ้าน น้อง ๆ พี่ก็ยังสอนไม่เป็น พี่ให้คำแนะนำเขาได้นะ แต่ให้พี่มาสอนเป็นขั้น ๆ พี่ก็สอนไม่เป็น

ฉะนั้น เรื่องเกี่ยวกับเปิดสอนซ่อมตุ๊กตามันไม่เคยมีอยู่ในหัวเลย เพราะพี่สอนไม่เป็นค่ะ เคยมีคนติดต่อมาขอให้พี่ไปสอนที่โรงเรียนพาณิชย์ วิชางานฝีมือเหมือนกัน แต่พี่ก็ปฏิเสธไปเพราะพี่สอนไม่เก่ง คือถ่ายทอดไม่เก่ง ไม่รู้จะสอนเขายังไง จะถ่ายทอดอะไร เพราะว่าทักษะที่พี่ได้มา อย่างที่เคยบอกไป พี่ก็ไม่ได้ได้จากการเรียนเพราะมันไม่มีสอน พี่ได้จากการลงมือทำเอง แล้วก็ประสบการณ์ การลองผิดลองถูก การได้ลงมือทำ พี่ก็จะได้จากตรงนั้นมากกว่า เพราะฉะนั้น ถ้าพี่จะสอน มีคนมาเรียน พี่ก็ยังนึกไม่ออกเลยว่าพี่จะสอนเขายังไง จะเริ่มต้นจากตรงไหนดี

Q: เคยเจอลูกค้าน่าปวดหัวบ้างไหม แล้วรับมืออย่างไร

A: เคยมีลักษณะหนึ่ง คือว่าตุ๊กตามันเป็นตุ๊กตาใหม่ ไม่ใช่ตุ๊กตาเน่า เป็นตุ๊กตาที่เขาไปเอฟจากในไลฟ์มา เป็นยี่ห้อ Jellycat อะค่ะ มันจะมีกระต่าย มียีราฟ มีหมี ซึ่ง Jellycat เนี่ย ลักษณะเฉพาะของเขาก็คือมันก็จะย้วย ๆ ใยไม่เต็ม มันเป็นลักษณะเฉพาะของเขาอย่างนั้น ทีนี้ลูกค้าเขาไปเจอรูปตุ๊กตา Jellycat ที่เป็นตัวยีราฟ ภาพที่แม่ค้าเอาลงโฆษณา คือมันสวยค่ะ หูได้องศาเท่านี้ เขาได้เท่านี้ แขนได้เท่านี้ ทีนี้พอลูกค้าได้ตุ๊กตามา ลูกค้าเลยอยากให้ตุ๊กตาของเขาเหมือนกับตุ๊กตาที่แม่ค้าลงรูป

ตอนแรกเขามาบอกพี่แค่ว่าให้เติมใย พี่ก็เติมให้แล้ว ส่งรูปให้เขาดู เขาก็คอมเมนต์มาว่าพี่คะ แขนมันใหญ่ไป พี่ก็ดึงใยออกให้ พอเอาใยตรงนี้ออก ก็แบบพี่คะ หูตรงนี้มันองศาไม่ได้ พี่ก็เย็บติดให้ เอาให้เหมือนในรูปที่เขาส่งมาเลยอะ แล้วแบบเอาใยเข้าเอาใยออกอยู่อย่างนั้น ตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย จนแบบพี่ต้องบอกว่าน้องคะ ตุ๊กตาที่เขาเอามาถ่ายลงโฆษณากับของที่น้องได้มา คือน้องเข้าใจเรื่องงานผ้าไหม งานผ้ามันควบคุมความเป๊ะยาก มันไม่เหมือนงานพลาสติกปั๊มที่หัวมันจะต้องเท่ากัน คือลูกค้าไม่เข้าใจธรรมชาติของผ้า จะให้เป๊ะเหมือนในรูปคือมันเป็นไปได้ยาก แต่พี่ช่วยได้เท่านี้ พี่ก็ทำเสร็จแล้วล่ะ แล้วเขาก็คงรู้ด้วยว่าพี่เริ่มรำคาญ

คือพี่เป็นร้านเดียวที่จะแก้กี่รอบก็ได้พี่ไม่คิดเงินเพิ่ม บอกให้แก้พี่แก้ได้ แต่ถ้าเป็นร้านอื่น ถ้าให้แก้ เขาคิดเพิ่มเป็นจุด ๆ เลย จากนั้นเขาก็ไม่ส่งมาอีก คือพี่ก็โล่งเลย เราก็มีวิธีที่จะจัดการกับลูกค้าแบบนี้ ก็จะมีแนว ๆ นี้ค่ะ แบบจุกจิก ๆ แล้วของพี่ไม่ได้แค่ซ่อมตุ๊กตาอย่างเดียวนะ ก็จะมีโมตุ๊กตาคัสตอม อย่างตัวโนรุ มันจะเป็นตุ๊กตาตัวกลม ๆ ตอนนี้วัยรุ่นเขานิยมเล่นกันแล้วราคาแรงมาก ตัวแค่เท่ากำปั้นเองค่ะ มันเหมือนพวกซูมซูม เป็นตุ๊กตากลม ๆ ทีนี้ลูกค้าเขาไปดูหนังอนิเมะเรื่องดาบพิฆาตอสูร มันก็จะมีตุ๊กตาที่สักหน้าเป็นลาย ๆ ลูกค้าก็มาแบบอยากให้สักหน้าตุ๊กตาเป็นลายแบบนี้ ก็ใช้วิธีการปักเอาค่ะ

ลูกค้าบางคนพี่ปักให้เขาก็โอเค แต่บางคนก็จะขอแบบพี่คะตรงนี้ขอเอียงนิดได้ไหม ตรงนั้นสั้นนิดได้ไหม ขอตรงนี้เข้มนิดนึงได้ไหม อะไรอย่างนี้ ก็มีแบบจุกจิกแบบนี้ แต่กับอีกแบบที่ไม่จู้จี้ก็ไม่จู้จี้เลย พี่ทำให้แบบไหนก็แบบนั้น แต่พี่ก็ต้องทำให้ดีอยู่แล้ว ก็จะเจอประมาณนี้ค่ะแบบจู้จี้จุกจิก พี่ก็ต้องทำให้เขารู้แบบที่ไม่ใช้อารมณ์หงุดหงิด ว่าช่างยินดีแก้นะ แต่ก็อธิบายไปว่าทำไมมันถึงทำไม่ได้ คือความรู้สึกในใจมันก็ประมาณนึงแหละค่ะ แค่ลูกค้าไม่รู้

Q: การทำธุรกิจในยุคนี้ สิ่งที่เราต้องโฟกัสคืออะไร

A: ตุ๊กตาไม่มีวันหายไปจากโลกนี้หรอกค่ะ ทำธุรกิจได้อีกเยอะ บางทีเราก็ต้องไหลไปตามโอกาส ลองจับสิ่งใหม่ ๆ ดูบ้าง อย่าเพิ่งคิดว่าทำไม่ได้ พี่ทำเพราะอยากทำ อยากลองดู แล้วคู่แข่งเราก็มี เลยต้องสร้างจุดเด่น หาเทคนิคใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เราต้องโฟกัส คือเราต้องสร้างความแตกต่าง ไม่ให้เราเหมือนคนอื่นเขา เราทำอะไรได้มากกว่าคนอื่นเขาบ้าง จริง ๆ พี่อยากทำครบวงจร ตั้งแต่รับทำตุ๊กตา ตัดชุด ซ่อม แรก ๆ งานไม่เยอะก็ยังรับคนเดียวไหว หลัง ๆ มาลูกค้าเยอะทุกงานเลยต้องตัดทิ้ง ตอนนี้อะไรรุ่งก็ทำให้ดีที่สุดก่อนค่ะ

ถ้าเรารู้จักปรับตัว เราก็รอดค่ะ มีธุรกิจใหม่เกิดขึ้น หลายธุรกิจก็ปิดตัวลง ตัวพี่จบนิเทศศาสตร์ แต่ด้วยชีวิตพี่มันก็จะวนเวียนอยู่กับงานศิลปะตลอด ก็เลยคิดว่ามันก็น่าสนุกดี ครั้งแรกที่พี่ไปถนนคนเดินเนี่ย พี่ก็ไปในฐานะศิลปินรับเชิญ ไปนั่งเพนต์ผ้าถุง ตอนนั้นที่ถนนคนเดินเชียงใหม่เปิดครั้งแรกยังไม่มีขายของ เขาก็จะเชิญพวกศิลปินไปนั่งริมถนน โชว์วาดรูปบ้าง เล่นดนตรีบ้าง อะไรแบบนี้ค่ะ พี่ก็ไปกับอา อาพี่เขาเพนต์อยู่แล้ว ส่วนพี่ก็เพนต์ผ้าถุง พอต่อมาเราเพนต์นู่นเพนต์นี่ ประดิษฐ์นั่นนี่ขาย ก็มาเรื่อย ๆ ต่อให้ไปทำงานประจำ พี่ก็ยังวนเวียนอยู่กับการใช้ฝีมือในการสร้างสรรค์อะไรที่เกี่ยวกับศิลปะ ต่อมา ตอนที่พี่ทำตุ๊กตาขายเอง ก็มีต่างชาติมาออเดอร์บ่อย ๆ เกาหลี มาเล นิวแคลิโดเนียก็มี

คือตอนนี้เทคโนโลยีมันค่อนข้างสะดวกสบาย เรามีไลฟ์สด เรามีโทรศัพท์มือถือ เรามีอินเทอร์เน็ต ด้วยความที่เรามีเทคโนโลยี เราก็ต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ แล้วเราก็มีคู่แข่งด้วย การที่เราจะทำอะไรสักอย่าง ก็อย่าลืมว่าเรามีคู่แข่ง พี่ว่าทุกคนก็คงใช้เทคโนโลยีเป็นหมด เมื่อก่อนนี้พี่จะถ่ายรูปสินค้าพี่ลงเว็บไซต์ สมัยนั้นกล้องดิจิทัลยังไม่มีเลย โทรศัพท์ก็ไม่มี เราก็ต้องใช้กล้องป๊อกแป๊กเรานี่แหละถ่ายเป็นฟิล์ม มันก็ยุ่งยากไม่ทันใจ แต่สมัยนี้ ถ้าเราใช้กล้องโทรศัพท์เราถ่ายรูป แป๊บเดียวเราอัปขึ้นเพจขายของได้ แต่เพราะใคร ๆ ก็ทำได้นี่แหละ เราก็จะยิ่งมีคู่แข่งเยอะตาม

อย่างของพี่ จริง ๆ แล้วร้านรับซ่อมตุ๊กตาเนี่ยมันก็มีหลายเจ้า เยอะเลยแหละ เพียงแต่ว่าเขาอาจยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าไร อย่างร้านที่กำลังเป็นไวรัลอยู่ เขาก็เป็นคู่แข่งพี่ เราก็เลยต้องไปโฟกัสตรงที่ว่าเราทำอะไรได้ไม่เหมือนเขาบ้าง เราต้องทำให้พิเศษกว่าเขา นั่นก็คือถ้าลูกค้ามา ลูกค้าจะต้องมาจบที่เรา! แล้วไม่ไปร้านอื่น เขาอุตส่าห์มาหาเราอะ เราก็ต้องแก้ปัญหาให้เขาให้ได้ เราต้องสร้างความแตกต่าง เราจะไม่ปฏิเสธลูกค้า ตอนนี้ลูกค้าที่โดนปฏิเสธมาจากร้านอื่น เขาก็บอกต่อ ๆ กันไปว่ามาร้านนี้สิ ร้านนี้ไม่ปฏิเสธนะ ร้านนี้ทำได้ ร้านนี้ซ่อมได้ ลองมาคุยกับร้านนี้ก่อน เพราะฉะนั้น พี่ก็จะเป็นร้านแรก ๆ หรือร้านหนึ่งที่ลูกค้าจะต้องนึกถึง มาร้านนี้แล้วจะต้องไม่ผิดหวังกลับไป

แต่ว่าเราลูกค้าเยอะ งานเยอะ ก็จะเจอลูกค้าที่ค่อนข้างจะคุณหนูบ้าง พี่เพิ่งเจอล่าสุดคือเอาตุ๊กตามาซ่อม แต่ว่าเขาอยากให้เหมือนเดิม คือเหมือนเดิมก่อนมาซ่อมอะ คือเอามาซ่อมแบบไหนก็อยากได้แบบนั้นกลับไป ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ คือซ่อมมันก็ต้องดีกว่าเดิมใช่ไหม มันจะต้องสะอาดกว่าเดิม ขนมันหายก็จะต้องมีขนเข้ามาแทน พี่ก็ต้องคืนเขาไปแล้วก็ไม่คิดเงิน อันไหนที่ทำไปแล้วพี่ก็ต้องเอาออก เราก็คิดซะว่าเรายังไม่ได้ทำอะไรเขาแล้วกัน แล้วเขามาส่งถึงบ้านเลยนะ จริง ๆ พี่ไม่ค่อยชอบให้ลูกค้ามาส่งเท่าไร เพราะว่าพี่ชอบคุยแบบเป็นลายลักษณ์อักษรมากกว่า

ลูกค้าเราไม่ได้มีคนเดียว เวลาเราจะดูรายละเอียดตอนซ่อม เราจะได้กลับไปดูได้ว่าเราคุยอะไรกับลูกค้าบ้าง ลูกค้าอยากให้ซ่อมตรงไหน อยากให้เป็นแบบไหน เราจะได้เลื่อนกลับไปดูข้อความที่คุยกันไว้ แต่ถ้ามาหาที่บ้าน บางทีเราคุยกันปากเปล่า เราก็จำได้แค่ตอนนั้นแหละ พอลูกค้าไปแล้วเราก็ลืม เพราะเรามีลูกค้าเข้ามาอีก เพราะฉะนั้น ถ้าเจอลูกค้าที่อารมณ์ประมาณนี้ พี่ก็จะพยายามปล่อย ๆ ไป ช่างมันเถอะ ยกผลประโยชน์ให้เขาไป อะไรที่มันจะทำให้เราเสียเวลา ก็ไม่ต้องไปคิดมันหรอกค่ะ พี่ว่าคนทำธุรกิจเนี่ย เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เขาไม่เอามาคิด ไปคิดเรื่องใหญ่ ๆ ดีกว่า

เมื่อปีที่แล้ว รายการ “ปัญญา ตลาดแตก” เขาติดต่อมาทางพี่ เขาก็บอกเหมือนกันว่าเขาติดต่อร้านซ่อมตุ๊กตาไปหลายร้านมากเลย แต่ละร้านก็ปฏิเสธ เขาบอกว่างานเขาเยอะข้ามปีเลย ก็เลยปฏิเสธไม่มาออกรายการ พี่ก็ว่างานเยอะแล้วมันเกี่ยวอะไรกัน พี่เลยรับกับโปรดิวเซอร์ว่าพี่ออกรายการให้ได้ แต่ว่าพี่ไม่สะดวกลงไป เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยววิดีโอคอลกัน ก็โอเคได้ มันก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร พี่ก็เลยได้ไปออกรายการ ปัญญา ตลาดแตก

บางทีบางร้านนะคะ ร้านที่เขาปฏิเสธ ที่ไปติดต่อหน้าเพจเนี่ย เพราะร้านเขาก็ไม่ได้ทำเอง คือเขารับงานมาแล้วส่งให้ช่าง เพราะฉะนั้น ถ้าคุยเรื่องรายละเอียดการซ่อมหรืออะไรที่มันเป็นรายละเอียดยิบย่อยเขาอาจจะตอบไม่ได้ เขาก็เลยปฏิเสธไป ก็มีเหมือนกัน อาจจะเป็นในกรณีนั้นก็ได้ แต่ว่าของพี่เนี่ยพี่ซ่อมเองทุกขั้นตอน ลงมือเองทุกขั้นตอน ไม่มีผู้ช่วย ไม่มีอะไรเลย พี่ก็เลยไม่ปฏิเสธเวลาที่มีคนมาขอสัมภาษณ์ พี่รู้รายละเอียดอยู่แล้ว

Q: ถ้าอยากส่งตุ๊กตาไปซ่อม ต้องทำอย่างไรบ้าง

A: ก็ติดต่อเข้ามาในเพจเลยค่ะ เพจเฟซบุ๊ก Anothai Art&Craft ค่ะ ส่งรูปมาให้พี่ดูว่าอาการมันหนักมากไหม จากนั้นก็มาคุยกันก่อนว่าอยากจะซ่อมมากซ่อมน้อย หรือจะทำตัวใหม่ไปเลย

มาคุยกันก่อนว่าพี่จะใช้วิธีอะไรซ่อม ต้องใช้วิธีไหนบ้างที่จะซ่อม คือเราต้องคุยกับลูกค้าก่อน ลูกค้าบางคนก็แบบตะเข็บตรงนี้คุณแม่เย็บไว้ให้ เอาเก็บไว้ได้ไหม พี่ก็จะไม่รื้อตะเข็บตรงนี้ ตรงนี้เปลี่ยนได้ ตรงนี้ขอเก็บไว้ หรือว่าจะไม่เปลี่ยนเลย พี่ก็จะมีวิธีซ่อมให้ นอกจากนี้พี่ก็จะมีตัดชุดตุ๊กตา ชุดตุ๊กตาแบบแฟนตาซีลูกค้าชอบส่งมาให้ทำค่ะ เพราะไม่มีร้านไหนรับทำอีกเหมือนกัน แต่ว่าตอนนี้งานตัดชุดพี่ต้องหยุดเอาไว้ก่อน งานตุ๊กตามันเข้ามาเยอะมาก งานชุดนี่ก็เยอะเหมือนกัน ต้องเลือกงานใดงานหนึ่งไว้ แต่ว่าถ้าลูกค้าส่งตุ๊กตามาซ่อม แล้วตุ๊กตาตัวนั้นไม่มีเสื้อผ้า อย่างตุ๊กตากล้วยหอมอะค่ะ ส่วนมากเสื้อผ้าก็จะหายไปไหนก็ไม่รู้ ลูกค้าขอให้ตัด พี่ก็จะตัด ตัดพ่วงกับซ่อมไปด้วยเลย

พอได้มาคลุกคลีอยู่กับตุ๊กตาก็ได้ความรู้ดีนะคะ สนุกดีด้วย บางทีตุ๊กตาที่เราแกะออกมา เห็นข้างในก็ amazing เหมือนกันนะ แบบว่า อุ๊ย! เราเจออะไรเนี่ย เราขุดค้นเจออะไร มีตุ๊กตาที่มีวิธีทำแบบโบราณ ข้างในเขาก็จะถ่วงด้วยถุงทราย ถ้าเป็นสมัยใหม่ เดี๋ยวนี้เขาก็ใช้เม็ดพลาสติก เม็ดบีดส์ค่ะ ก็คือตุ๊กตาก้นถ่วงให้มันตั้งได้ แล้วถ้าอย่างงานของอเมริกาที่พี่เคยรื้อดู เอาเมล็ดพืช พวกถั่วเขียว ข้าวสารอะไรอย่างนี้มาถ่วง เราก็ไม่รู้อะเนอะ เราก็เอาไปซัก มันก็งอกแล้วมันก็เน่าไง มันก็เหม็น พี่ก็เลยต้องรื้อแล้วก็เปลี่ยนเป็นเม็ดบีดส์หรือเปลี่ยนเป็นทรายให้

หรือบางตัวที่เป็นวินเทจจริง ๆ รุ่น 60-70 ข้างในก็จะเป็นกระดาษ ยัดกระดาษมาเหมือนกระดาษรีไซเคิล ในแต่ละยุค วัสดุที่ยัดมามันก็จะแตกต่างกัน มียุคหนึ่งที่จะเป็นนุ่น ยังไม่มีใยโพลี ตอนนี้มันเป็นใยโพลีหมดแล้ว มันก็ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น มันยัดง่าย ไม่ฟุ้ง ก็จะเป็นที่นิยมมากกว่า บางทีก็จะมีพวกเศษผ้าห่ม เศษฟองน้ำ มันเหมือนการขุดค้นเลยค่ะ แกะตุ๊กตามาเราไม่รู้ว่าจะเจออะไรบ้าง แต่หลาย ๆ ครั้งมันก็ทำให้ทึ่งดีเหมือนกัน กลายเป็นความสนุกในการทำงานไป