จากกรณีที่มีคนจีนเป็นจำนวนมากเข้ามาเปิดธุรกิจร้านอาหารในย่ายห้วยขวางและอาร์ซีเอ จนทำให้แถวห้วยขวางถูกขนานนามว่าเป็นไชน่าทาวน์แห่งที่สองในกรุงเทพฯ หากแต่ไชน่าทาวน์แห่งนี้ไม่เหมือนกับเยาวราช เพราะเป็นคนจีนรุ่นใหม่ที่เข้ามาด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว วีซ่านักศึกษาที่มีบัตรนักศึกษาแต่ไม่ได้เข้าเรียนจริง ซึ่งวีซ่าดังกล่าวไม่มีสิทธิทำงานในเมืองไทย
เช่นเดียวกับการเปิดกิจการร้านอาหารในเมืองไทยนั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีข้อกำหนดเอาไว้แล้วว่า คนต่างชาติถือวีซ่านักท่องเที่ยวแต่เข้ามาประกอบธุรกิจร้านอาหารในไทยไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ห้ามคนต่างชาติทำ
หากต้องการประกอบธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่มในไทย ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อนจึงจะประกอบธุรกิจได้ หากฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน
โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 นั้นมีรายละเอียดระบุเอาไว้ว่า
“คนต่างด้าวจะประกอบธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่มจะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อนจึงจะประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจในบัญชีสาม (19) ท้ายพระราชบัญญัติฯ อย่างไรก็ตาม กรมฯ มีมาตรการป้องปรามและตรวจการกระทำในลักษณะนอมินี ดังนี้”
- ขั้นตอนการจดทะเบียน กำหนดให้คนไทยที่ร่วมลงทุนในนิติบุคคลต้องแสดงหลักฐานที่ธนาคารออกให้ เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงินที่แสดงว่ามีทรัพย์สินเพียงพอที่จะลงทุนในนิติบุคคลได้
- เมื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จะตรวจสอบว่ามีการใช้คนไทยถือหุ้นแทนหรือกระทำการในลักษณะนอมินีเพื่อหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนประกอบธุรกิจควบคุมตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบว่าบุคคลหรือนิติบุคคลใดกระทำความผิดตามกฎหมาย หรือการตรวจสอบว่าคนไทยให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อให้คนต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมายที่เข้าข่ายความผิดนอมินีนั้น ต้องปรากฏพฤติการณ์ที่ชัดเจนหรือหลักฐานเอกสารที่แสดงว่าคนไทยมีพฤติกรรมตั้งใจ ปกปิด อำพราง หรือมีการจัดทำเอกสารหลักฐานในลักษณะอำพรางในการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว โดยเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงรวมทั้งพยานเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาพิจารณาประกอบการตรวจสอบ ปัจจุบันกรมฯ ได้จัดทำเป็นแผนงานตรวจสอบประจำปีซึ่งธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่มเป็นหนึ่งในธุรกิจที่อยู่ในแผนงานตรวจสอบด้วย
- กรณีที่มีการจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อประกอบธุรกิจ (จดทะเบียนพาณิชย์ที่สำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร เทศบาล หรือ อบต. ที่ร้านค้าตั้งอยู่) เป็นการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจคนเดียว ซึ่งคนต่างชาติไม่สามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้ ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงานในการลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนี้ ซึ่งหากพบว่ามีคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะมีความผิดตามกฎหมายของกระทรวงแรงงานและของกระทรวงพาณิชย์ อีกทั้งหากพบคนไทยมีการจดทะเบียนพาณิชย์แทนคนต่างด้าวก็จะมีความผิดในลักษณะนอมินีด้วย