คุณเป็นคนหนึ่งที่รู้ตัวว่าตัวเอง “ปฏิเสธใครไม่เป็น” หรือไม่? หรือจริง ๆ คุณอาจจะนิยามตัวเองว่าเป็นคนที่ขี้เกรงใจ เวลาที่มีคนมาขอความช่วยเหลือหรือไหว้วานให้ทำอะไรสักอย่าง คุณก็พร้อมที่จะ Say Yes! ตกปากรับคำอย่างง่ายดาย ไม่เคยมีเงื่อนไขในการให้ความช่วยเหลือ หรือดูเป็นคนที่ยินดีจะทำให้คนอื่น ๆ รอบข้างรู้สึกพึงพอใจอยู่เสมอ ทำให้หลายครั้งทีเดียวที่คุณมักจะติดกับอยู่กับคำชมเชยที่ว่า “ใจดีจัง” หรือ “มีน้ำใจจัง” เพราะคุณจะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าในสายตาและในความรู้สึกของคนอื่น การที่คนอื่นสามารถพึ่งพาคุณได้ไม่ว่าจะเรื่องใด ขอแค่บอกมาว่าต้องการอะไรจากคุณ พวกเขาเหล่านั้นก็มักจะได้เสมอ ๆ
ทว่าคุณเคยถามตัวเองบ้างหรือไม่ว่าสิ่งที่คุณกำลังทำเพื่อผู้อื่นอยู่ทุกครั้งนั้น มีสักกี่ครั้งที่คุณทำเพราะ “ยินดีจะทำ” และ “เต็มใจจะทำ” ไม่ได้ทำเพราะว่าคุณไม่กล้าที่จะขัดความพึงพอใจของคนอื่นด้วยคำว่า “ไม่” ทั้งที่ในใจลึก ๆ คุณรู้สึกไม่โอเค รู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกขัดแย้งในตัวเอง และรู้สึกเหนื่อยที่จะต้องแบกรับทุกความพึงพอใจของคนอื่น โดยที่แทบไม่มีอะไรที่ตัวคุณทำเพื่อใจของคุณเองบ้างเลย อีกทั้งคนอื่น ๆ ที่คุณเคยเสิร์ฟความพึงพอใจให้ก็ดูจะไม่ได้รับรู้ถึงความรู้สึกแย่ ๆ ในใจคุณด้วย
ถึงอย่างนั้น คุณเองก็ไม่เคยกล้าพอที่จะปฏิเสธสิ่งที่คนอื่นต้องการจากคุณ คุณรู้สึกว่าการที่ต้องพูดปฏิเสธคนอื่นเป็นเรื่องยาก คุณต้องการการยอมรับจากคนอื่น คุณต้องการคำยืนยันและคำชื่นชมว่าคุณเป็นคนดี และเหนือสิ่งอื่นใด คุณกลัว! คุณกลัวว่าถ้าคุณปฏิเสธเขาแล้วความสัมพันธ์จะจบ คุณกลัวว่าถ้าคุณปฏิเสธเขาแล้วเขาจะไม่พอใจ คุณกลัวว่าถ้าคุณปฏิเสธเขาแล้วเขาจะผิดหวังในตัวคุณ คุณกลัวว่าถ้าคุณปฏิเสธเขาแล้วเขาจะมองคุณในแง่ลบ และคุณกลัวว่าถ้าคุณปฏิเสธเขาแล้วคุณจะกลายเป็นคนไม่ดี คุณจึงรู้สึกผิดและโทษตัวเอง เมื่อคุณต้องปฏิเสธใครต่อใคร
เมื่อคุณเป็นคนที่ “ปฏิเสธใครไม่เป็น”
โดยทั่วไปแล้ว ลักษณะของคนที่ปฏิเสธใครไม่เป็น มักจะชอบทำอะไรเพื่อคนรอบตัวอยู่เสมอ เป็นคนที่อะไรก็ได้ ยังไงก็ได้แล้วแต่เลย จน “หลงลืมตัวเอง” ไว้ที่ตรงจุดไหนก็ไม่รู้ มารู้อีกทีก็คือ สภาพจิตใจของตัวเองพังไปหมด เพราะเอาแต่แบกรับความรู้สึกของคนอื่น รู้สึกไร้อำนาจในความสัมพันธ์ ไม่สามารถต่อรองใด ๆ นอกจากโอนอ่อนผ่อนตามความปรารถนาของคนอื่นเท่านั้น เริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าถ้าไม่ได้ทำอะไรเพื่อความปรารถนาของคนอื่น เริ่มสูญเสียความเป็นตัวเองจนไม่เห็นตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง หากคุณมีลักษณะเช่นนี้ เป็นไปได้ว่าคุณมีบุคลิกแบบ “People-Pleaser”
People-Pleaser คือคนที่ชอบเอาอกเอาใจผู้อื่นเพื่อเติมเต็มความปรารถนาของตนเอง ส่วนมากแล้วจะต้องการเป็นที่ยอมรับ การทำให้ผู้อื่นพึงพอใจได้ตัวเองก็เหมือนจะยินดีและมีความสุขไปด้วย ยอมทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อื่น เพราะกลัวถูกปฏิเสธจากผู้อื่นก็เลยไม่กล้าปฏิเสธใครเช่นกัน จึงละเลยความรู้สึกและความต้องการของตัวเองจริง ๆ เอาแต่คอยทำตามคำขอของคนอื่นเสมอ เพียงเพื่อจะได้คำชม คำขอบคุณ หรือการได้รับรู้ว่าตนเองมีความสำคัญ
แม้ว่าความรักและการยอมรับจากผู้อื่นจะเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ แต่ลักษณะของ People-Pleaser คือการละเลยจากความสุขและความต้องการของตนเอง ยอมอดทนต่อความยากลำบาก ยอมทำตามที่ใครต่อใครขอให้ทำ โดยคิดว่านั่นจะทำให้ตัวเองมีความสุขได้ เพราะเหตุผลลึก ๆ ที่คุณยอมสูญเสียตัวตนของตัวเองมาทำเพื่อผู้อื่นขนาดนี้ เพราะคุณต้องการให้คนรู้สึกว่าคุณเป็นคนดี ต้องการเป็นที่ชื่นชม แต่ในความเป็นจริงมันก็แค่การยอมรับแบบผิวเผิน แต่สิ่งที่หนักกว่าคือภาระอันหนักอึ้งจากคนอื่น ๆ ที่คุณต้องแบกรับไว้กับตัวตลอดเวลา
ถ้าคุณรู้สึกไม่มีความสุข คุณก็ต้องรู้ตัวเองได้แล้วว่าสิ่งที่คุณทำอยู่มันไม่เป็นผลดีกับตัวของคุณเลย หันมาดูแลความรู้สึกและจิตใจของตัวเองได้แล้ว และไม่ต้องรอการประเมินจากใคร หัดที่จะพูดว่า “ไม่” รู้จักที่จะ Say No! ให้เป็น เพราะเมื่อคุณปล่อยให้คนอื่นล่วงล้ำเข้ามาในขอบเขตของคุณมากขนาดนี้ ผลเสียมันจะตามคุณเป็นเงา ความเคารพและความเกรงใจที่เขามีต่อคุณจะหายไป เพราะเขาคิดว่ายังไงคุณก็ต้องยอมทำ และจะไม่มีใครเห็นหัวคุณเพราะคิดว่าสามารถหาประโยชน์จากคุณได้เสมอ คุณจึงต้องเริ่มรักษาสิทธิ์ของตัวเอง และปรับทัศนคติเรื่องการปฏิเสธเสียใหม่ การปฏิเสธไม่ได้แปลว่าคุณเป็นคนไม่ดีหรือไม่มีน้ำใจ คุณแค่ไม่สะดวกที่จะทำ
เลิกเป็นคนที่ยอมทุกอย่าง แค่ “ไม่” คำเดียว คุณจะเบาขึ้นเยอะ
คำว่า “ไม่” หลายคนอาจมองว่าแค่บอกว่าต้องรู้จักพูดให้เป็นนะ ใครก็พูดได้แหละ แต่พอถึงสถานการณ์จริง มันจะมีสักกี่คนที่ “กล้า” พอที่พูด กรณีนี้ปฏิเสธไม่ได้หรอกเพราะมันจำเป็น เรื่องนี้ก็พูดยากเกินเดี๋ยวจะผิดใจกันเปล่า ๆ เรื่องนี้ลำบากใจเกิน กลั้นใจทำไปเถอะมันแค่เล็กน้อยเอง หรือเรื่องนี้สถานการณ์มันบังคับว่าต้องทำ ถ้าทุกเรื่องที่พุ่งเข้ามาหาคุณมันมีความสำคัญและจำเป็นจนคุณปฏิเสธไม่ได้เลยสักอย่างจนทำให้คุณตกที่นั่งลำบากตลอด คุณก็คงไม่เห็นอยู่แล้วว่าเรื่องไหนที่มันง่ายมากที่จะพูดว่า “ไม่” ที่สำคัญ คุณก็จะไม่มีวันหลุดออกมาจากวงจรแห่งความเหนื่อยหน่ายใจนี้ได้ด้วย สุดท้ายแล้ว คุณจะต้องทนแบกรับอะไรต่อมิอะไรที่ไม่ใช่เรื่องของคุณไปเรื่อย ๆ แบบนี้นี่แหละ
“การปฏิเสธ” มันไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่าย ๆ อยู่แล้วทุกคนทราบดี แต่ต้องไม่ลืมว่าทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวคุณเอง หลาย ๆ เรื่องที่คุณเห็นว่ามันไม่จำเป็นที่คุณจะต้องเป็นฝ่ายยอม แค่คุณพูดว่า “ไม่” ออกไป ก็ไม่มีใครมาบังคับขู่เข็ญให้คุณทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการได้แล้ว และต่อให้คนเหล่านั้นจะไม่พอใจที่คุณปฏิเสธพวกเขา มันก็ไม่ใช่ปัญหาของคุณ ถ้าพวกเขาไม่พอใจที่คุณ “ไม่ยอมทำ” มันคือปัญหาของพวกเขา ทำไมคุณต้องยอมที่จะไม่โอเคเพื่อให้คนอื่นโอเคด้วยล่ะ คุณจะตามใจคนอื่นแต่ไม่ยอมตามใจตัวเองไปเพื่ออะไร เช่นเดียวกัน ถ้าคุณไม่เป็นฝ่ายปีนกำแพงข้ามความไม่โอเคเมื่อต้องเป็นฝ่ายปฏิเสธออกมาเอง คุณจะคาดหวังให้ใครช่วยอุ้มคุณโยนออกมาได้กันล่ะ!
สิ่งที่คุณต้องพยายามดูแลเอาใจใส่ให้มากคือ สภาพจิตใจของคุณเอง การดูแลและเอาใจใส่ผู้อื่นเป็นเรื่องที่ดี แต่มันจะต้องไม่ทำให้คุณสูญเสียตัวเอง และมันจะต้องไม่มากเกินไปจนคุณต้องเอาคุณค่าของตัวเองไปแขวนไว้กับกับดักความเป็นคนมีน้ำใจหรือใจดี การที่คุณต้องยอมทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เต็มใจ เพียงเพราะอยากให้คนอื่น ๆ พึงพอใจ มันจะทำให้ตัวคุณต้องแบกรับความรู้สึกของคนอื่นมากเกินจำเป็น คุณไม่จำเป็นต้องให้ใครมาประเมินว่าคุณดีหรือไม่ดี หรือฟังว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบตัวคุณ โดยคุณต้องพยายามเป็นคนในแบบที่เขาต้องการ สนองในสิ่งที่เขาพึงพอใจ อย่ายอมเป็นคนที่แบกรับความเดือดร้อนไว้เอง เพราะมัวแต่มอบความพอใจให้กับคนอื่น
ทุกอย่างมันมีขอบเขตที่จะทำได้ เพราะฉะนั้น อะไรที่มัน “ไม่ดี” ต่อตัวคุณเอง คุณก็ไม่จำเป็นที่จะพยักหน้าแล้ว say yes! ไปหมดทุกอย่าง กลับมาดูแลความรู้สึกตัวเองให้ดีเท่าที่ดูแลความรู้สึกคนอื่น อย่าโลกสวยว่าการที่คุณใจดีกับทุกคนแล้วทุกคนจะใจดีกับคุณ โลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ได้อุดมคติขนาดนั้น โลกนี้มันมีคนประเภทที่จ้องจะเอาเปรียบและใช้ประโยชน์คนที่ใจดีกับคนอื่นมาก ๆ และคนเหล่านั้นก็ไม่ได้สนใจความเป็นคนดีของคุณด้วย เขาไม่ได้รู้สึกเห็นใจคุณด้วยซ้ำ เขาก็แค่ต้องการประโยชน์เท่านั้น เป็นคนใจดีได้แต่ต้องใจดีให้ถูกคน และที่สำคัญ อย่าลืมใจดีกับตัวเอง อย่ามัวแต่เอาใจคนอื่นแล้วลืมดูแลตัวเอง มันจะบั่นทอนทั้งกายและใจของคุณไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ดังนั้น คุณจะต้อง Say No! เมื่อคุณคิดว่าการ Say Yes! จะไม่ดีต่อใจของคุณ อย่าให้ภาระทุกอย่างที่จะตามมาหลังจากคุณตกปากรับคำกลายเป็นสิ่งที่คุณต้องแบกรับไว้ตามลำพัง ปัญหาหรือความทุกข์ใจของคุณ ไม่มีใครอื่นมารับรู้ด้วยซ้ำ แล้วถ้าใครก็ตามจะไม่พอใจที่คุณปฏิเสธ ก็ช่างมันปะไร! กับบางเรื่องและบางคน คุณก็ไม่จำเป็นต้องแคร์ อย่ายอมทำเพื่อให้คนอื่นโอเคแต่ตัวคุณไม่โอเคเด็ดขาด และอย่าเสแสร้งทำเป็นรู้สึกโอเคเมื่อคนอื่นพึงพอใจในตัวคุณ ถ้าความจริงแล้วคุณไม่ได้โอเค “จงทำในสิ่งที่ใจคุณโอเคกับมันจริง ๆ ไม่ใช่หน้าที่คุณที่จะต้องทำให้คนอื่นโอเค” ดื้อเลย หัวแข็งบ้าง ปฏิเสธให้ได้ พูด “ไม่” ให้เป็น แล้วตัวคุณจะเบาขึ้นเยอะ และใจคุณก็จะไม่พังด้วย
ฝึกอย่างไรถึงจะ “ปฏิเสธ” คนอื่นเป็น
เริ่มต้นเลยคือคุณต้องแน่วแน่มากพอที่จะ “ปฏิเสธ” ให้เป็น กล้าที่จะ “ไม่” กับคนอื่น และยอม “ได้” กับตัวเอง แน่นอนว่าเริ่มต้นมันคงทำได้ยาก เพราะคนอื่น ๆ คงได้ใจและคาดหวังไว้เต็มแก่แล้ว ว่าคุณคือคนที่จะ “ยอม” คนที่จะ “อะไรก็ได้” แต่เมื่อคุณ “ไม่” ออกไป แม้ใครจะไม่พอใจ คุณก็ไม่ต้องรู้สึกผิดใด ๆ สุดท้ายแล้วคนอื่น ๆ ก็จะเรียนรู้ได้เองว่าคุณไม่ใช่คนที่พวกเขาจะมาทำแบบนี้ด้วยโดยไม่มีความเกรงอกเกรงใจ และคุณก็จะได้เรียนรู้ด้วยว่าการปฏิเสธในแต่ละครั้ง มันทำให้คุณเห็นคุณค่าและเวลาส่วนตัวของคุณเองด้วย ถึงอย่างนั้น การปฏิเสธจำเป็นต้องมีศิลปะสักหน่อย เพื่อที่ความสัมพันธ์จะได้ไม่เสียหาย เข้าใจกันมากขึ้น และกำหนดขอบเขตทั้งคุณและอีกฝ่ายให้ชัดเจน
การจะเลิกเป็นคนประเภท People-Pleaser นั้น อาจจะทำได้ไม่ง่ายนักถ้าคุณยังมีกำแพงบางอย่างที่ทำให้ตัวเองไม่กล้าที่จะพูดคำว่า “ไม่” ออกมา แต่มีคำแนะนำบางอย่างในการเลิกเป็นคนที่ใจดีจนใจพัง หรือมัวแต่เอ็นดูเขาจนเอ็นเราขาด เบื้องต้นคือคุณต้อง ปฏิเสธให้ได้ พูด “ไม่” ให้เป็น ดังนี้
1. อย่าเพิ่งรีบรับปาก
เมื่อคุณถูกขอความช่วยเหลือ อย่าเพิ่งตกปากรับคำ แต่ให้ตอบว่า “เดี๋ยวดูก่อน” ลักษณะการแบ่งรับแบ่งสู้เช่นนี้จะทำให้อีกฝ่ายเผื่อใจที่จะโดนปฏิเสธ และไม่คาดหวังกับคุณสูงจนเกินไปว่าจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากคุณแน่ ๆ ที่สำคัญ มันยังเป็นการประวิงเวลาให้คุณได้ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนว่า “ต้องการจะทำจริง ๆ ใช่ไหม?”
2. ไม่ทำก็คือไม่ทำ ไม่ใช่ทำไม่ได้
คนที่กำลังฝึกที่จะลองปฏิเสธผู้อื่นมักจะมาเจอทางตัน ที่สุดท้ายก็บีบให้ต้องยอมทำอยู่ดี เพราะพูดคำว่า “ทำไม่ได้” ออกไป อย่าลืมว่าที่ผ่านมาคุณทำได้มาโดยตลอด การปฏิเสธด้วยคำว่า ทำไม่ได้ จึงมักจะถูกถามกลับว่า ทำไม แล้วคุณก็จะคิดหาเหตุผลอย่างอื่นไม่ทัน ถ้าไม่อยากทำก็แสดงความจำนงไปเลยว่า “ไม่ทำ” ให้อีกฝ่ายรู้ว่าคุณตัดสินใจด้วยตัวเอง
3. ไม่ต้องรู้สึกผิด และหยุดขอโทษ
การที่คุณไม่ยอมทำตามความต้องการของคนอื่น มันไม่ใช่ความผิดของคุณ ไม่ต้องรู้สึกผิดที่ดูเหมือนเป็นคนแล้งน้ำใจ เห็นแก่ตัว หรือกลัวว่าอีกฝ่ายจะเกลียดคุณ คุณก็แค่แยกแยะและจัดลำดับความสำคัญให้กับตัวเอง เอาความโอเคของตัวเองมาก่อน และไม่ต้องขอโทษซ้ำ ๆ เพื่อตอกย้ำว่าตัวเองเป็นคนผิด ไม่อย่างนั้นมันจะทำให้คุณจม คิดว่าตัวเองเป็นคนผิด แล้วย้อนกลับไปตามใจคนอื่นเพื่อลดความรู้สึกผิดของตัวเอง
4. อย่าให้คุณค่าและความสุขของคุณไปแขวนอยู่กับคนอื่น
ส่วนหนึ่งมาจากการที่คุณเป็นคนที่ขาดความนับถือตัวเอง ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่ภูมิใจในตัวเอง ซึ่งมันจะทำให้คุณไม่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ตัวเองเป็นคนดีหากไม่ได้รับการยืนยันจากคนอื่น หรือคุณไม่สามารถมีความสุขได้เอง คุณจึงต้องพยายามไปทำความดีกับคนอื่นเพื่อที่จะเห็นคนอื่นมีความสุขแล้วคุณค่อยสุขตาม คุณต้องรู้จักการ Self-Esteem หรือการนับถือตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเองให้ได้ เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องคอยเอาอกเอาใจคนอื่น เพื่อที่จะได้รับคำชมเชยเล็ก ๆ น้อย ๆ มาเติมเต็มคุณค่าของตนเองไปเรื่อย ๆ แบบที่ผ่านมา
5. อย่ากลัวที่จะถูกมองว่าไม่น่าคบหา
คุณไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นที่รักของคนทุกคนบนโลกนี้ ข้อเท็จจริงก็คือคุณไม่สามารถจะทำคนทุกคนรักคุณ หรือไม่สามารถจะทำให้ทุกคนรู้สึกพึงพอใจกับตัวตนของคุณได้ เพราะฉะนั้นต้องเลิกโลกสวยว่าคนอื่น ๆ จะรักและเข้าใจคุณ หรือคาดหวังว่าการทำดีกับทุกคนแล้วคนอื่นจะดีกับคุณด้วย ไม่เช่นนั้นคุณก็จะเหนื่อยที่จะต้องคอยเอาใจและทำให้คนอื่นรู้สึกดีตลอดเวลา ถ้าเขาจะนินทาหรือเกลียดคุณเพียงเพราะคุณปฏิเสธแล้วล่ะก็ เขาก็ไม่ได้ควรค่าแก่การอยู่ในชีวิตคุณหรอก เพราะการปฏิเสธไม่ใช่การตัดสัมพันธ์ คุณรู้ดีว่าสิ่งคุณทำมันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เขานำไปนินทา
6. ปล่อยวางแล้วเดินหน้าต่อไป
แรก ๆ มันอาจจะรู้สึกคับข้องใจอยู่บ้างเวลาที่พูดปฏิเสธคนอื่นแล้ว (คิดไปเอง) เห็นว่าอีกฝ่ายไม่ค่อยจะพอใจที่คุณไม่ช่วยเหลือ หรือกลัวว่าอีกฝ่ายจะมองว่าคุณเป็นคนไม่น่าคบหา คำถามคือทำไมคุณจะต้องดูเป็นคนที่น่าคบหามากขนาดนั้นด้วย ถ้ามันต้องแลกกับความพยายามที่จะต้องคอยเอาใจและทำให้คนอื่นพึงพอใจตลอดเวลา ย้ำอีกครั้งว่าคุณไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นที่รักของคนทุกคนบนโลกนี้ คุณไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ และไม่ได้เกิดมาเป็นฮีโร่ของใครด้วย คุณให้ความช่วยเหลือทุกคนไม่ได้ เพราะฉะนั้น ปล่อยวางแล้วเดินหน้าต่อไป
7. พัฒนาบุคลิกภาพของตัวเอง
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณดูเป็นคนขี้เกรงใจและเป็นคนที่ดูหัวอ่อน จนทำให้ใครหลายคนชอบเข้ามาขอความช่วยเหลือ (แบบเอาเปรียบ) ก็เพราะคุณเป็นคนขาดความมั่นใจในตัวเอง กลัวการเข้าสังคม กลัวการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น คุณจึงต้องคล้อยตามคนอื่นแบบกล้า ๆ กลัว ๆ ที่สำคัญ คุณยังเข้าใจบุคลิกขี้เกรงใจของตัวเองผิดอีกต่างหาก “เกรงใจ” หมายถึง การที่ไม่อยากให้ผู้อื่นรู้สึกลำบาก เดือดร้อน หรือรำคาญใจ คือคุณต้องเป็นฝ่ายเข้าไปหาคนอื่น การปฏิเสธจึงไม่ใช่ความเกรงใจ คุณก็แค่ไม่สะดวกที่จะช่วยเหลือ เพราะฉะนั้น การพัฒนาบุคลิกภาพให้ดูเป็นคนมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เห็นคุณค่าในตัวเอง จะช่วยให้คนอื่น “เกรงใจ” ที่จะขอความช่วยเหลือจากคุณได้มากขึ้นต่างหาก