“นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร”

“นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร” วรรคทองจากคำสอนของ อ.ศิลป์ พีระศรี ประติมากรชาวอิตาลี จากเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ที่เข้ามารับราชการในเมืองไทยจนกระทั่งเป็นปูชนียบุคคลแห่งวงการศิลปะไทย

วรรคทองดังกล่าวของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี นั้น แสดงให้เห็นความสำคัญของการอ่านที่มิใช่เพียงแค่ตำราเรียนแต่เพียงอย่างเดียว หากการหาความรู้ใส่ตัวจากหนังสือจะทำให้เราเปิดโลกกว้างผ่านตัวอักษร นอกจากนี้การอ่านยังทำให้รู้จักคิดวิเคราะห์ และเข้าใจนัยยะสำคัญที่แฝงอยู่ในตัวอักษร อันส่งผลให้เราสามารถมองเห็นทัศนคติของคนรอบข้างผ่านสิ่งที่เขาพูดหรือเขียนได้ของพวกเขาได้

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายของปี 2565 ผู้เขียนขอใช้พื้นที่ตรงนี้ในการแนะนำหนังสือสำหรับคุณผู้อ่านกับช่วงเวลาที่คุณจะได้อยู่กับครอบครัวและตัวเองมากที่สุดในรอบหนึ่งปี หลังจากช่วงเวลาเกือบสามปีที่ผ่านมา คนทั้งโลกรวมถึงในเมืองไทยต้องเผชิญกับวิกฤติของโรคระบาด

และไม่ใช่แค่ความร้ายแรงของโรคเท่านั้นที่กัดกินใจคนในช่วงสามปีที่ผ่านมา หากโลกยุคใหม่ที่ผู้คนไม่เห็นความสำคัญของการอ่าน ให้ค่ากับข่าวสารและเรื่องราวผ่านทางโซเชียลมีเดีย อันเปรียบเสมือนมหาสมุทรของข่าวลือและข่าวลวง ช่วงเวลาที่ผ่านมาความวุ่นวายของโรคระบาดวุ่นวายมากไปกว่าเดิม ด้วยความตื่นตระหนกและปริวิตกของคนในสังคมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ด้วยสังคมแต่เดิมของเราไม่ได้ให้คุณค่าการอ่าน หากแต่ให้คุณค่ากับดราม่าและความบันเทิงเสียมากกว่า

ดังเช่นที่ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยมีคนรู้จักมาเยี่ยมที่บ้าน พอผู้มาเยือนได้เห็นตู้หนังสือของผู้เขียน เขาก็เบือนหน้ามาพูดกับผู้เขียนว่า “เป็นหนอนหนังสือเหรอ เราไม่อ่านหรอกนะ ไม่เห็นความจำเป็นต้องอ่าน อ่านแล้วปวดหัว” ผู้เขียนได้แต่ยิ้มตอบ พอจะเข้าใจความไปเป็นของคนรู้จักท่านนั้นผ่านทางทัศนคติที่เขาแสดงออกผ่านโซเชียลมีเดียของตนเอง ไปจนถึงการใช้ชีวิต พอจะมองออกว่าบั้นปลายจะเป็นเช่นไร

อย่างที่เขียนไปในข้างต้นค่ะว่าการอ่านไม่ได้แค่ช่วยให้เราได้เปิดโลกกว้างผ่านตัวหนังสือ หากแต่การอ่านยังทำให้เราได้เห็นว่าทัศนคติของคนรอบข้างเป็นอย่างไรด้วย จึงขอแนะนำหนังสือให้ลองไปหาอ่านกันในช่วงหยุดยาวรับปีใหม่ เป็นหนังสือสี่เล่มที่ช่วยเยียวยาหัวใจ และทำให้คุณมองโลกนี้ได้กลมมากขึ้

เล่มแรกเป็นหนังสือที่จากนักเขียนเกาหลี “คิม รันโด” กับ พันครั้งที่หวั่นไหวกว่าจะเป็นผู้ใหญ่ หนังสือเล่มนี้เหมาะกับหนุ่มสาวที่เพิ่งเริ่มทำงานหรือทำงานไปสักพักแล้ว เพราะนี่คือหนังสือที่จะช่วยให้คุณเข้าใจชีวิตของการทำงานและความรับผิดชอบในฐานะผู้ใหญ่ ดังเช่นบางช่วงบางตอนจากในหนังสือเล่มเขียนเอาไว้ว่า ถ้าไม่มีอุปสรรคก็ไม่ใช่ผู้ใหญ่ ต้องเจ็บปวดพันครั้งจึงจะเป็นเป็นผู้ใหญ่” (เป็นความจริงที่ยากจะปฏิเสธค่ะ)

สำหรับเล่มที่สองเรียกว่าพิมพ์กันมาหลายครั้งและเป็นแนวทางในการเปลี่ยนแปลงชีวิตและนิสัยของใครหลายคน กับ ชีวิตดีขึ้นทุก ๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านเพียงครั้งเดียว จากนักเขียนญี่ปุ่น คนโดะ มาริเอะ ปีใหม่นี้ ใครที่อยากจะหาคำแนะนำดี ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและปรับปรุงชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้นขอแนะนำเล่มนี้ค่ะ และต้องจำไว้อย่างหนึ่งว่า คนเราไม่มีทางเปลี่ยนนิสัยได้ ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิดเสียก่อน”

อีกเล่มเป็นหนังสือที่เขียนโดยนักจิตวิทยาบำบัดและนักเขียนชาวอาร์เจนตินา “ฆอร์เฆ่ บูกาย” กับ จะเล่าให้คุณฟัง หนังสือที่ใช้แนวทางการเล่านิทาน มาเป็นตัวอย่างในสถานการณ์ของการแสวงหาหรือความพยายามที่จะหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิตของ “เดเมียน” ตัวเอกของเรื่อง “นิทาน” ของฆอร์เฆ่ เหมือนเป็นการเตือนสติคนอ่านว่า

“เราไม่ได้มีช่วงเวลาสว่างไสวไปตลอด และเราต่างต้องเผชิญกับความมืดมัวในชีวิตเหมือนกันหมด แต่สิ่งสำคัญเราต้องไม่หลงอยู่ในความสำเร็จในอดีต เพราะการก้าวเดินต่อไปข้างหน้าเพื่อเริ่มต้นหาความสำเร็จครั้งใหม่ คือการดำรงชีวิตอยู่อย่างแท้จริง”

เล่มสุดท้ายกับ ชายชื่ออูเว่ เขียนโดย เฟรดริก บัคมัน เรื่องราวของชายวัยเกษียณขี้หงุดหงิดชาวสวีเดนคนนี้ การดำเนินชีวิตของ อูเว่ น่าจะทำให้หลายคนได้ทบทวนถึงสิ่งที่ผ่านมา สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในแต่ละช่วงชีวิตได้เป็นอย่างดี  เหมือนดังที่ อูเว่ คิดถึง รูน เพื่อนรักของเขาแล้วกล่าวว่เรามักเห็นเวลาเป็นของตาย เราคิดว่าเรามีเวลาเหลือเฟือที่จะทำอะไรให้กับคนอื่น มีเวลาเหลือเฟือที่จะพูดอะไรกับพวกเขา” แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น

ลองหาอ่านกันดูนะคะ สำหรับหนังสือทั้ง 4 เล่มที่แนะนำไป และรับรองว่าเป็นหนังสือที่อ่านแล้วได้คุณประโยชน์กับตัวคนอ่าน ที่น่าจะได้เริ่มต้นปี 2566 ด้วยความหวังและกำลังใจค่ะ

แล้วพบกันใหม่ในปี 2566 ค่ะ