
สัปดาห์ที่แล้วผมเขียนถึงการส่งเสริมการออมในระดับครัวเรือน ไม่นานมีข่าวคลังเตรียมเสนอ ครม. แจกเงินคนจนเข้าให้อีกซะแล้ว เที่ยวนี้เลยต้องมาเขียนในภาพใหญ่บ้าง
ไอ้คำว่า “แจก” นี่ ดูเหมือนใครๆก็ชอบนะครับ มันมีอานุภาพที่จะทำให้ทุกคนหูผึ่งได้ทั้งนั้น แต่แจกไปแล้วจะเป็นผลดีต่อทั้งผู้แจกและผู้ที่ได้รับแจกหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยแยกย่อยอื่นๆอีกมากมายเลยทีเดียว
ของขวัญคนจนครั้งนี้ กระทรวงการคลังท่านเรียกว่า “บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย” โดยจะเริ่มใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2560 สำหรับคนที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 3 หมื่นบาท ประมาณ 4 ล้านคน รายละเอียดก็ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ เหมือนเป็นการรีแพ็คเกจสิ่งที่เคยแจกอยู่เดิมให้ดูเป็นเนื้อเป็นหนังมากขึ้น
โดยมีการรวมมาตรการช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน เช่น ค่ารถเมล์ ค่าน้ำ ค่าไฟฟรี แถมด้วยวงเงินซื้อของในร้านธงฟ้า รวมแล้วเป็นวงเงินอยู่ใน “บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย” มีมูลค่า 2,750 บาท โอนวงเงินในบัตรให้ทุกเดือน ก็สะดวกสบายดีแฮะ
ถึงแม้จะไม่มากไม่มายจนถึงขนาดจะทำให้เรากลายเป็น “รัฐสวัสดิการ” หรือ Welfare State แต่ถ้ารวมกับบัญชีคนจนที่ให้เงินสดมาก่อนหน้านี้ก็ชักจะหวาดเสียวว่า จะเป็นภาระผูกพันที่หนักอึ้งต่อไปยังรัฐบาลถัดๆไปหรือไม่ เพราะของพวกนี้ให้แล้วเลิกยากเสียด้วย
ว่ากันตามจริงของแบบนี้รัฐบาลสมัยก่อนๆเขาไม่ทำกัน พึ่งจะมานิยมเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ คนที่หัวโบราณคร่ำครึอย่างผมยังชอบสไตล์การคลังแบบมีวินัยสูง ให้เฉพาะที่ควรให้ แจกเฉพาะสิ่งที่ควรแจก
ถ้าให้ทุนแก่เด็กเรียนดีแต่ฐานะไม่ดี ให้ค่ารถแก่แรงงานยากไร้ หรือให้ทุนแก่เกษตรกรดีเด่น อันนี้ขอชูรักแร้สนับสนุน เพราะมีการคัดกรองการให้สำหรับผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ หรือผู้ที่มีความพยายามแต่ขาดโอกาส
แต่ถ้าเอาเงินภาษีประชาชนไปแจกแก่คนฐานะไม่ดีเพราะขี้เกียจทำงาน ขี้เหล้าเมายา หรือแจกแบบยกเข่งบ่อยๆเข้า ก็เท่ากับเป็นการไปส่งเสริมให้คนขาดความพยายาม ไม่มีวินัย ไม่มีความยั่งยืน
คงต้องยกสุภาษิตจีนบทเก่าบทหนึ่งมาเขียนให้อ่านกันอีกครั้ง
“ถ้าท่านให้ปลาแก่คนจน เขาจะมีปลากินเพียงแค่วันเดียว แต่ถ้าท่านสอนวิธีจับปลาให้เขา เขาจะมีปลากินตลอดชีวิต”
น่าเสียดายที่ทุกวันนี้เราขาดคนสอนวิธีจับปลา ขาดทั้งคนที่พร้อมจะเรียนรู้การจับปลา อันที่จริงแล้วเราอาจไม่สนใจกระบวนการนี้เลยเสียด้วยซ้ำ
ทุกอย่างมันก็เลยต้องออกมาสำเร็จรูปแบบนี้.